อินเดีย ตลาดหุ้นที่ตั้งแต่ต้นปี วิ่งแรงที่สุดในเอเชีย

อินเดีย ตลาดหุ้นที่ตั้งแต่ต้นปี วิ่งแรงที่สุดในเอเชีย

อินเดีย ตลาดหุ้นที่ตั้งแต่ต้นปี วิ่งแรงที่สุดในเอเชีย

ดัชนี BSE SENSEX ของอินเดีย วิ่งตั้งแต่ต้นปีไปแล้ว 16.69% (ข้อมูลถึงวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา) อะไรเป็นปัจจัยให้ตลาดหุ้นอินเดียวิ่งได้ร้อนแรงเช่นนี้ วันนี้ผมขออนุญาตพาไปดูแง่มุมที่น่าสนใจของตลาดหุ้นอินเดียกันครับ

หนึ่งในปัจจัยสำคัญ และเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจของประเทศอินเดียก็คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเทศอินเดีย พยายามที่จะปรับปรุงโครงสร้างภาษีสินค้าและบริการ (Goods and Services Tax (GST) ซึ่งกำลังจะมาถึงขั้นตอนสุดท้าย และบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ในวันที่ 1 ก.ค. นี้ โดยก่อนหน้านี้ รัฐแต่ละรัฐในอินเดียมีการเก็บภาษีที่แตกต่างและยิบย่อยเกินไป การคลอดกฎหมาย GST Bill นี้ จะส่งผลให้อินเดียมีระบบจัดเก็บภาษีที่เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ ลดต้นทุนของประเทศได้อย่างมหาศาลทีเดียว

จากกฎหมายใหม่ ยกตัวอย่างนะครับ สมมติ บริษัท ABC ตั้งบริษัทที่รัฐพิหาร แต่ขายสินค้าให้กับบริษัท XYZ ซึ่งอยู่ในรัฐหริยาณา ภาษีที่ต้องเสีย จะมี State Goods and Services Tax (SGST) ซึ่งเก็บโดยรัฐบาลท้องถิ่น ก็คือรัฐหริยาณา และ าษี Central Goods and Services Tax (CGST) ซึ่งจัดเก็บโดยรัฐบาลกลาง

คราวนี้ ถ้าบริษัท XYZ ขายสินค้าให้บริษัท 123 ที่รัฐมหาราษฎระ บริษัท XYZ จะได้รับเครดิตภาษีคืน เพราะรัฐบาลท้องถิ่นได้เคยรับภาษีในระบบในสินค้าตัวดังกล่าวไปแล้ว จะเห็นว่า ลดต้นทุนทางภาษี และทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการข้ามรัฐมากขึ้นในอนาคตได้แน่นอน

ซึ่งในช่วงเดือน ม.ค. - เม.ย. ที่ผ่านมา เท่าที่ผมตามข่าวดู ก็เข้าใจว่า มีการทดลองใช้ระบบจัดเก็บภาษี GST มาระดับหนึ่ง และดูเหมือนจะไม่สะดุดหรือมีปัญหาอะไร นี่จึงทำให้นักลงทุนเชื่อมั่น และตั้งความหวังกับ กฎหมาย GST พอสมควรว่า เป็นการลดต้นทุนการทำธุรกิจโดยรวมของบริษัทในอินเดีย และน่าจะกระตุ้นการลงทุน และการบริโภคในระยะยาวตามไปด้วย

ถ้าใครตามข่าว หรือมีการลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย จะพบว่า นายกรัฐมนตรีโมดี ของอินเดีย มีส่วนผลักดันนโยบายหลายอย่าง โดยมองที่ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจเป็นหลัก กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจก่อนหน้านี้ก็คือ การประกาศนโยบายยกเลิกธนบัตร (Demonetization) ใบละ 500 รูปี และ 1,000 รูปี โดยนายโมดี ย้ำว่า นโยบายนี้ เจตนาก็เพื่อการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของอินเดียให้มีความโปร่งใสมากขึ้น เพราะพวกเงินผิดกฏหมาย (Black money) ที่อยู่นอกระบบ ส่วนใหญ่มันคือเงินสด หรือธนบัตรใบละ 500 และ 1,000 รูปีพวกนี้ละ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเลี่ยงภาษี, ทุจริตคอรัปชั่น และต้องการปราบปรามพวกที่ให้เงินสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้าย และนายโมดี ย้ำกล่าวด้วยว่า นี่คือการวางรากฐานประเทศอินเดียเข้าสู่เศรษฐกิจแบบดิจิทัล (Digital Economy) ในอนาคต

พอผมมาดูข้อมูลจากสำนักข่าว Bloomberg ก็พบรายงานว่า การใช้ E-Payment ในอินเดียภายหลังจากนโยบาย Demonetization ได้เพิ่มขึ้นถึงกว่า 300% ภายใน 3 เดือนทีเดียว

นอกจาก 2 นโยบายที่ผมยกตัวอย่างข้างต้นแล้ว นายโมดี ยังมีนโยบายอีกหลายตัวเช่น นโยบาย Make in India นโยบาย Skill India นโยบาย Start up นโยบาย Smart Cities ซึ่งถือว่า เป็นการวางแผนระยะยาวที่น่าสนใจ และน่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง จึงไม่ต้องสงสัยกันเลยครับว่า ทุกๆสำนักโพลสำรวจความเห็นประชาชน จะบอกว่า เลือกตั้งใหญ่ในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปี 2019) ทุกฝ่ายคาดกันว่า นายโมดี น่าจะได้รับคะแนนเสียงล้มหลามและเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ค่อนข้างแน่นอน

มาดูฝั่งเศรษฐกิจปัจจุบันของอินเดียบ้าง ในมุมมองของ IMF ก็คาดการณ์ว่ามี 2017 เศรษฐกิจอินเดียน่าจะขยายตัวได้ 7.1%ต่อปี สูงที่สุดในกลุ่ม G20 และแซงหน้าจีนได้แล้ว โดยหลักๆก็มาการจากการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศเช่นกัน โดยการบริโภคภายในประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงเกือบๆ 55% ของ GDP ในปี 2016 ส่วนภาคการลงทุนมีสัดส่วนอยู่ที่ 29% ของ GDP

ด้านตลาดหุ้น ปัจจุบัน BSE SENSEX เทรดที่ P/E 22.97 เท่า Forward P/E 19 เท่า P/BV อยู่ที่ 2.93 เท่า เทียบกับตอนต้นปี P/E อยู่ที่ 20 เท่า และ P/BV อยู่ที่ 2.63 เท่า ถ้าเทียบกับในอดีตแล้ว ตอนนี้ดัชนี BSE SENSEX ก็ถือว่า วิ่งรับข่าวดีมาค่อนข้างเยอะทีเดียว ดังนั้นในแง่ของการลงทุน ก็คงต้องคิดดีๆ

แต่ถ้าในแง่ของการดำเนินโยบาย จะเห็นว่า นายโมดี และพรรครัฐบาล สามารถเห็นจุดอ่อน และจุดแข็งของประเทศตัวเอง ได้แบบชัดเจน ทำจริงในสิ่งที่เชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้อย่างต่อเนื่องครับ