สร้างสุขด้วยสติ นำองค์กรก้าวหน้า ที่ เจ.เอช. อุตสาหกรรม

สร้างสุขด้วยสติ นำองค์กรก้าวหน้า ที่ เจ.เอช. อุตสาหกรรม

ฉบับก่อนเล่าถึง จุดเริ่มต้นในการนำแนวคิด Happy Workplace เข้าสู่องค์กร ของบริษัท เจ เอชอุตสาหกรรม

ผู้ผลิตกระสอบพลาสติกสานสำหรับบรรจุข้าวสาร อาหารสัตว์ แป้ง ฯลฯ ซึ่ง ดร. วิภาภรณ์ เกียรติอำนวย รองกรรมการผู้จัดการ ได้พิสูจน์ให้ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารทุกส่วนเห็นว่า นอกจากจะสลายความขัดแย้งระหว่างฝ่ายตลาดและฝ่ายผลิตได้แล้ว ยังเกิดผลลัพธ์เป็นความเจริญเติบโตของธุรกิจด้วย ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่ได้มีการผลักดันและทำมาอย่างต่อเนื่องคือ การสร้างสุขด้วยสติในองค์กร หรือ Mindfulness In Organization ตามแนวทางของกรมสุขภาพจิต ที่มุ่งเน้นให้ พนักงานมีการฝึกทำสมาธิและฝึกสติ

และเพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลง สิ่งแรกที่ทาง บริษัท เจ เอช อุตสาหกรรม ทำคือ การเก็บข้อมูล ด้วยการให้พนักงานตอบแบบสอบถาม คลอบคลุมทั้งเรื่องหนี้สิน และพฤติกรรม เช่น สูบบุหรี่ วันละกี่มวน ดื่มสุราวันละกี่ครั้ง

สำหรับกิจกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง นั้น ดร. วิภาภรณ์ เล่าว่ามีหลากหลายรูปแบบทั้งอบรมสัมมนา การเข้าค่าย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีการถอดบทเรียน ขณะที่กิจกรรมการทำสมาธิก็มีการปรับให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ ให้พนักงานรู้สึกตื่นเต้น มัน และสนุก ที่จะทำสมาธิ และมีการวางโปรแกรมเพื่อสร้างการปรับเปลี่ยนและมีการกำหนดตัวชี้วัดทั้งระดับบุคคล ระดับทีม และระดับองค์กร

ในทุกวันท พนักงานในส่วนออฟฟิคของ เจ เอช อุตสาหกรรม จะมีการทำสมาธิทุกวันก่อนเข้างานและหลังเลิกงาน ขณะที่ ในสายการผลิตก่อนการประชุมก็จะมีการทำสมาธิ 5 นาที ซึ่งพบว่าการทำสมาธิทำให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลาย ทำให้จิตตั้งมั่น จากตั้งใจว่าจะไปต่อว่าลูกค้า พอได้ทำสมาธิก็เปลี่ยนคำพูดไปเลย ขณะที่ คนที่ขี้หงุดหงิด โมโห โกรธง่ายหายช้า ก็ เปลี่ยนเป็นโกรธยาก หายเร็ว

“การที่พนักงานฝึกสติแล้ว จะทำให้เขามีการกรองความคิด เช่น คนที่จะสูบบุหรี่ ก็จะเริ่มคิดว่าสูบแล้วได้อะไร เมื่อเขาจะคีบบุหรี่ขึ้นมาสูบ เขาก็เปลี่ยนใจเก็บลงส่วนเหล้าก็มีการฝึกให้คิดว่า เวลาออกไปดื่มเหล้ากับเพื่อนต้องมีการแชร์ค่าใช้จ่ายกับเพื่อนเท่าไหร่ เขาบอกว่าประมาณ 100 บาท จึงให้เขาเริ่มจดบันทึกว่า เมื่อใดที่เพื่อนชวนไปแล้วไม่ไป ให้บันทึกลงไปว่าประหยัดไป 100 บาทส่วนการลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ก็มีการตั้งเป้าหมายว่าลดลงเดือนละ 200 บาท และเขียนเป้าหมายว่าจะนำเงินที่ลดได้ไปทำอะไรเช่นซื้อจักรยานให้ลูก โดยพนักงานที่ลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยได้เช่น ไม่ซื้อกาแฟดื่ม ซึ่งมีราคาแก้วละ 12บาท ในวันนั้นๆ ได้ก็ให้นำเงิน ไปฝาก HRปรากฏว่าเมื่อรวมเงินที่ลดได้มารวมกัน ก็ได้มากถึงกว่า แปดแสนบาท ส่วนบุหรี่สามารถลดการสูบลงได้ 5,700 มวน ลดการดื่มเหล้าไปได้ 972ครั้งคิดเป็นเงินประมาณ 97,200บาท และลดน้ำหนักได้รวม 70 กิโลกรัม”

ปัจจัยที่ทำให้การสร้างสุขด้วยสติในองค์กร สำเร็จ ดร. วิภาภรณ์ กล่าวว่า หัวใจสำคัญคือ การสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน รวมถึงการสร้างแกนนำเพื่อไปสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้เพื่อนพนักงานบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ การทำสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ทุกส่วนมีส่วนร่วม และกิจกรรมที่ทำต้องไม่ยาก สนุก น่ารัก ใช้คำโดนๆ ง่ายๆ เช่น รู้อร่อยปากลำบากพุง คิดสักนิดก่อนบริโภค

สำหรับคุณค่าที่เกิดขึ้น คำบอกเล่าของ ดร. วิภาภรณ์ถึงผลสำเร็จหลังทำโครงการ น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด “ยอดขายของเราเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ถึง 11% ความพึงพอใจของลูกค้าเพิ่มขึ้น 10 % เนื่องจากพนักงานสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้24 ชั่วโมง พนักงานทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือกันทำงาน พนักงานออฟฟิคอาสาไปช่วยงานฝ่ายผลิต เพื่อให้ฝ่ายผลิตสามารถผลิตได้ตามยอดที่ลูกค้าต้องการขณะที่พนักงานตื่นเช้ามาแล้วอยากทำงาน อยากทำงานให้ดีกว่าเมื่อวาน รู้สึกว่า ทำงานที่นี่แล้วสนุก มันส์มาก เท่านี้ก็สุดยอดแล้ว”