เรียนรู้จากผู้นำ: สื่ออย่างไรให้โดนใจ (1)

เรียนรู้จากผู้นำ: สื่ออย่างไรให้โดนใจ (1)

ดิฉันมั่นใจว่ามืออาชีพทุกคนตระหนักดีถึงความสำคัญของการสื่อสารในการทำงาน

“ปาก” เป็น “เอก”

“เลข” (หรือความรู้ “เทคนิค”เฉพาะด้านต่างๆ) ยังถือเป็น “โท”

รู้ลึก รู้จริง แต่สื่อสารไม่ได้ อธิบายไม่เป็น สามารถสาธยายงานง่ายๆให้เข้าใจได้ยากยิ่ง ไม่ต้องพูดถึงสิ่งที่ซับซ้อน ที่คนอยากเอาหมอนมานอนฟังอย่างมึนงง

ยิ่งผู้บริหารที่ต้องสื่อสารกับทีมงานเพื่อสร้างความเข้าใจ เพื่อให้ฮึกเหิม เพื่อเติมพลัง หรือเพื่อให้พร้อมก้าวไปกับการเปลี่ยนแปลง

ยิ่งต้องใช้ทักษะสื่อสารขั้นเทพ สื่ออย่างได้ประเด็น สื่ออย่างเห็นภาพ สื่ออย่าง “โดน”!

วันนี้ ลองมาดูรูปแบบต่างๆ ที่ผู้บริหารใช้สื่อสาร โดยแยกแยะเป็น 2 มิติหลัก คือ

ได้ประเด็นตามวัตถุประสงค์ ที่ต้องการสื่อสาร ชัดเจนหรือไม่ (Purpose)

โดนใจ ดึงให้คนติดตามฟังอย่างจรดจ่อหรือไม่ (Engagement)

เมื่อมองจาก 2 มุมนี้ เราจะมีรูปแบบการสื่อสาร 4 ประเภทหลัก ซึ่งดิฉันประยุกต์จาก Model การสื่อสารของ Dolan Naidu ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารของผู้นำ ดังในตารางข้างล่าง

มาเข้าใจวิธีสื่อของพี่ 4 แบบกันค่ะ

1.วิธีสื่อสารแบบ ได้ฮา น่าสนุก น่าสนใจ แต่..ไม่ได้ “เรื่อง”

หัวหน้างาน และผู้นำที่สื่อสารออกแนวนี้ มีสไตล์ในการสื่อที่ไม่ทื่อ ไม่น่าเบื่อ พี่เฮฮา สนุกสนาน มีมุขเด็ดมาปล่อย

แต่เมื่อฟังบ่อยๆ นานๆ คนทำงานที่มีเวลาแสนน้อยนัก มักอยากถามพี่ว่า..

พี่ครับพี่เล่าเรื่องนี้..เพื่อ!?!

ความจริงพี่คงมีประเด็นที่ต้องการสื่อ แต่มักกลั้วด้วยเรื่องราวจริงบ้างโม้บ้าง เน้นสดใสมากเกินไป ใครๆเลยฟังไป พยายามหัวเราะไป แบบเกรงใจ..

แต่ไม่ใส่ใจจริงจัง

2. วิธีสื่อสารแบบ ได้พูด ไม่แรงทั้งวิธี ลีลา ตลอดจนเนื้อหาที่ต้องการสื่อ

ลูกน้องฟังพี่แบบนี้ทีไร ได้อารมณ์ฟังสุนทรพจน์ ที่พี่ตั้งใจอ่านให้ฟัง ทั้งประณีตกับรายละเอียด เน้นคำ กับ - แก่ - แต่ - ต่อ ละเอียดลออ เป๊ะตามที่ใครๆเขียนให้แกอ่าน

แต่คนทำงานวันนี้ มีเรื่องวนเวียนอยู่ในสมองสองสามร้อยเรื่องในเวลาหนึ่งๆ

หากพี่ไม่มีทักษะในการดึงให้เขาสนใจ และตั้งใจฟัง

พี่อาจจะเห็นเขานั่ง “ทำท่า” คล้ายฟังอย่างเนียนๆ

น้องที่ไม่เนียน มีหลับ แถมหยิบจับมือถือขึ้นมาเช็ค line อย่างไม่เกรงใจก็มีให้เห็น

พี่ที่สื่อสไตล์นี้ นอกจากขาดทักษะในการโน้นน้าวจูงใจให้จดจ่อกับสิ่งที่พี่อยากจะสื่อ

พี่ยังตัดใจไม่ลง ปลงใจไม่ได้ ว่าจะเน้นประเด็นใดในการสื่อสาร

ผลคือ บอกทุกอย่างที่ขวางหน้า

แต่..

All information is no information! การให้ข้อมูลมากมาย กลับกลายเป็นคล้ายๆไม่ให้อะไรมากนัก เพราะคนฟังจับประเด็นหลักไม่ได้

3.วิธีสื่อสารแบบ ได้เรื่อง รูปแบบนี้พบบ่อยในองค์กร พี่มีประเด็นเน้นได้ชัด แต่จัดไปอย่างแห้งๆ เน้นเนื้อๆ เบื่อก็ต้องฟัง

รูปแบบนี้มักพบได้เป็นปกติในที่ทำงานและห้องประชุมทั่วไป ที่มืออาชีพส่วนใหญ่ถนัดให้ข้อมูล เนื้อหา สถิติ ตัวเลข ฯลฯ

หากคนส่วนใหญ่ตั้งใจฟัง อาจเข้าใจประเด็น

แต่อัตราการจดจำต่ำเตี้ย

“เข้าใจ” แต่ไม่ “โดนใจ” ส่งผลให้ไม่ “ติด”ในความคิด และความทรงจำ

นั่งฟังตรงไหน ฝากเก็บไว้ตรงนั้น

ประชุมครั้งหน้าค่อยว่าซ้ำกันใหม่

4. วิธีสื่อสารแบบ โดนใจ ได้ประเด็น

กลุ่มสุดท้าย คล้ายๆเป็นพระเอกนางเอกค่ะ

เราเรียกเขาว่า “ผู้สร้างแรงบันดาลใจ” Inspirer

การสื่อสารแบบนี้ พี่รู้ดีว่าอยากสร้างความเข้าใจในประเด็นใด ไม่หลง ไม่เลอะ ไม่เยอะเกินความจำเป็น

เจาะเฉพาะเรื่องหลัก เพราะตระหนักว่า ถ้ากระหน่ำสื่อทุกประเด็นเรื่อยเปื่อย คนฟังก็จะฟังแบบเรื่อยเปื่อยเช่นกัน

ที่สำคัญ มีวิธีสื่อสารที่โดดเด่นโดนใจ

ผลลัพธ์ คือ ได้ทั้งเนื้อหา ความเข้าใจ ทั้งได้ใจคนฟัง

ต่อมฮึกเหิมกระตุก พร้อมลุกออกไปทำตามที่พี่ชี้นำ

เคล็ดลับหนึ่งของการสื่อสารแบบสร้างแรงบันดาลใจ คือ การใช้ “เรื่องราว” ในการสื่อสารเพื่อตอกย้ำประเด็น หรือ Business Storytelling

สัปดาห์หน้า มาคุยกันต่อว่า เทคนิคนี้ คืออะไร

แรงบันดาลใจ สร้างได้ค่ะ