พลังงานจากลม... ที่ไม่ใช่เรื่องลมๆ แล้งๆ

พลังงานจากลม...  ที่ไม่ใช่เรื่องลมๆ แล้งๆ

คำว่า “เศรษฐกิจสีเขียว” และ “พลังงานสะอาด” ในนโยบายของรัฐบาล

 สปป.ลาวไม่ใช่เพียงคำสวยหรูบนแผ่นกระดาษ ผมได้พบนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนใน “พลังลม” ที่ประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ที่น่าสนใจยิ่ง

แรกพบกับเขา ผมแซวว่านี่เป็นโครงการ ลมๆ แล้งหรือไม่

เขายิ้มแล้วย้อนฉับพลันว่า ลาวลมแรงครับ”!

โครงการนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แน่ เพราะลงทุนรวมประมาณ 50,000 ล้าน ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลลาว ธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชียที่ต้องการเห็น “พลังงานสะอาด” เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

ผมเจอคุณ เป๊กวรมน ขำขนิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท Impact Electrons Siam (IES) ที่เวียงจันทน์เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับรู้ข้อมูลของโครงการพลังลมที่ สปป. ลาวที่น่าสนใจยิ่ง

คุณเป๊กเล่าถึงเหตุผลที่มาลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ สปป.ลาว ว่าลาวยังเป็นประเทศที่มีประชากรน้อย จึงน่าจะมีพื้นที่มากพอในการหาทำเลที่มีศักยภาพในการตั้งโครงการ

สภาพภูมิประเทศที่เป็นที่ราบสูง มีแนวลมมรสุมพาดผ่าน

ขั้นตอนกระบวนการในการ “หาลม” มี 4 ขั้นตอน

  1. ศักยภาพลมมีตรงไหน
  2. เมื่อตั้งโรงไฟฟ้าจากพลังงานลมแล้ว ต้องมีระบบสายส่งที่เชื่อมต่อได้
  3. ต้องมีถนนที่จะขนส่งสิ่งของอุปกรณ์ไปติดตั้งได้ และ
  4. ต้องไม่อยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวน

การจะได้องค์ประกอบครบถ้วนต้องอาศัยความอดทนมุ่งมั่นพอสมควร สำรวจหลายแห่งหลายประเทศจนมาพบพื้นที่ที่มีศักยภาพใน 3 จุด อยู่ที่เซกอง ทางตอนใต้ของลาว และทำการติดตั้งเสาวัดความแรงลม มีการเก็บสถิติลมทุก 10 นาที ที่เริ่มมาได้ 4 ปีแล้ว

คุณวรมนเล่าว่าหลังจากที่พบพื้นที่ที่มีศักยภาพแล้ว ก็เริ่มต้นพัฒนาด้วยการให้ผู้เชี่ยวชาญ ศึกษาให้ตรงกับหลักการของบริษัทคือต้องทำพลังงานทดแทนที่มีความยั่งยืน

“ยั่งยืน” แปลว่าจะต้องสามารถแข่งขันราคากับพลังงานหลักดั้งเดิมได้ (conventional fuel) และที่สำคัญคือจะต้องไม่อาศัยเงินอุดหนุนจากรัฐ เพราะอะไรที่ต้องอาศัยรัฐก็ย่อมไม่ยั่งยืน

“บางคนอาจจะบอกว่าพลังงานลมอาจจะทำได้ถูก แต่ถูกอย่างเดียวมันไม่ยั่งยืน ลมๆ แล้งๆ อย่างที่คุณสุทธิชัยว่า เทคโนโลยีมันพัฒนาไปมากแล้ว เราเลือกบริษัท Vestas (ผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานลมของเดนมาร์ก ที่มีการติดตั้งเสากังหันลมมากที่สุดในโลก) มาออกแบบให้ ใช้เทอร์ไบน์และติดตั้งแบบเทิร์นคีย์ เราคุยกับการไฟฟ้าเดนมาร์ก เขาสามารถคาดการณ์ปริมาณลม on an hourly basis (เป็นรายชั่วโมง) ได้ 99% โดยมีข้อผิดพลาดแค่ 0.5% และเมื่อเดือน มิถุนายน ปีที่แล้วเรามีการจัดงาน Global Wind Day ที่โรงแรมปาร์คนายเลิศ ก็มีผู้เชี่ยวชาญจากเดนมาร์กมาพรีเซ็นต์ให้เราฟัง ทำให้เราได้ความรู้เพิ่ม ซึ่งมันสุดยอดมาก นอกจากพลังงานลมนั้นจะสามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำแล้ว ยังสามารถนำไปผสมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำได้อย่างกลมกลืนมาก เป็น hybrid ที่แท้จริง โดยลมจะมาช่วงหน้าแล้งประมาณ 80% ดังนั้นช่วงหน้าแล้งที่ไม่มีน้ำ เราก็ผลิตไฟฟ้าจากน้ำแค่ 10-20% ที่เหลือเอาไฟฟ้าจากพลังงานลมเติม มันก็ synergy กันได้ดี” คุณเป๊กเล่าอย่างกระตือรือร้น

โครงการพลังลมเช่นนี้จะเกิดได้ต้องมีการลงทุน...เงินมาจากไหน? ทำไมไม่เริ่มที่เมืองไทย? เรื่องพลังงานจากลมเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย พรุ่งนี้มาเล่าต่อครับ