เบื้องหลัง'โชว์เหนือ' รวบมือบึ้มพระมงกุฎฯ

เบื้องหลัง'โชว์เหนือ' รวบมือบึ้มพระมงกุฎฯ

การจับกุมชายวัย 62 ปี ในฐานะผู้ต้องสงสัย เป็นมือระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ

 เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา กำลังถูกตั้งคำถามว่าเป็นความสำเร็จจริงหรือไม่

อ่านทางจากข่าวที่ปล่อยออกมาของผู้มีอำนาจในรัฐบาล และหน่วยงานความมั่นคง ส่อเค้าว่าเตรียมสรุปเรื่องนี้เป็นประเด็นการเมืองสีเสื้อ และเชื่อว่าจะมีการโหมประโคมข่าวนี้ตามมาแบบใหญ่โต รวมทั้งเชื่อมโยงกับเหตุระเบิดป่วนเมืองที่เหลือ ทั้งระเบิดหน้ากองสลากเก่า ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 5 เม.ย. และระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.

แต่ปัญหาก็คือ พยานหลักฐานที่รวบรวมได้มีความหนักแน่นแค่ไหนที่จะสรุปเช่นนั้น

เพราะข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคง (ทีมที่ไม่ได้ให้ข่าว) รวบรวมได้ สรุปว่า เหตุระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ เชื่อมโยงกับเหตุระเบิดป่วนเมืองอีก 2 ครั้งก่อนหน้าก็จริง แต่ผู้ก่อเหตุไม่ได้มีคนเดียว เพราะคนที่นำระเบิดไปวางที่กองสลาก ภาพจากกล้องวงจรปิดก็ชี้ชัดว่าไม่ใช่ชายวัย 62 ปี

ขณะที่ระเบิดที่ห้องวงษ์สุวรรณ โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ ก็มีผู้ร่วมขบวนการอีกหลายคน หนึ่งในนั้นเป็นลูกจ้างของโรงพยาบาลด้วย และปากคำของลูกจ้างรายนี้ยังเชื่อมโยงไปถึง “คนมีสี” ที่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดบนทางเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม หน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2558 ด้วย

การรีบเปิดข่าวจับกุมชายวัย 62 ปี แม้มองดูเผินๆ จะเป็นความสำเร็จของฝ่ายความมั่นคง เพราะสามารถจับกุมมือระเบิดได้ ซึ่งมีไม่กี่ครั้งสำหรับเหตุระเบิดป่วนเมืองตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจทำให้ผู้เกี่ยวข้องที่เหลือไหวตัวทัน และหนีลงใต้ดิน ควานหาตัวยากกว่าที่ควรจะเป็น

งานนี้ว่ากันว่ามีร่องรอยของการแย่งชิงผลงานกัน ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ทำงานคลี่คลายคดีระเบิดด้วย เป็นปัญหาแบบ ไทยแลนด์ โอนลี่ ที่ส่อเค้าทำให้คดีนี้ถูกตัดตอน จับกุมได้แค่คนเดียว หรือใช้เป็นเครื่องมือฟาดฟันทางการเมืองกันต่อไป แต่ในทางคดีอาจทำอะไรไม่ได้มากนัก นอกจากข้อหาครอบครองวัตถุระเบิด

ส่วนผู้บงการหลังฉาก ก็ยังกินอิ่ม นอนอุ่น และรอจังหวะสร้างความปั่นป่วนครั้งใหม่ได้ต่อไป