การปฏิวัติประชาธิปไตยไทยต่างจากในอเมริกาและฝรั่งเศสอย่างไร

การปฏิวัติประชาธิปไตยไทยต่างจากในอเมริกาและฝรั่งเศสอย่างไร

ในยุคที่อเมริกา และฝรั่งเศสปฏิวัติประชาธิปไตย (ค.ศ. 1775-1789)

 ไทย (หรือสยาม) อยู่ในยุคธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ระบบศักดินาและเกษตรพึ่งพาตนเอง มีพื้นที่ทำการเกษตรได้ที่กว้างใหญ่ ประชากรน้อย มีอาหารการกินและปัจจัยยังชีพอื่นๆ พอเพียง ไทยไม่มีความจำเป็นต้องปฏิรูปเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม แต่เพราะต่อมาประเทศมหาอำนาจทุนนิยมอุตสาหกรรมในยุคนั้นแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปค้าขาย ลงทุน ล่าอาณานิคมไปทั่วโลก เศรษฐกิจไทยจึงถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกแบบเป็นทุนนิยมบริวารที่มาทีหลัง

การปฏิวัติประชาธิปไตยของในพ..2475 ซึ่งเกิดหลังอเมริกาฝรั่งเศสร้อยกว่าปี เป็นการทำรัฐประหารยึดอำนาจโดยคณะราษฎร์ ผู้มาจากกลุ่มข้าราชการและนายทหารระดับกลาง ผู้ได้รับการศึกษาสมัยใหม่แบบตะวันตก พวกเขาเป็นพวกรักชาติและนักประชาธิปไตย ผู้เห็นว่าระบอบปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ล้าสมัย ทำให้ประเทศไทยล้าหลัง อ่อนแอ มีโอกาสจะตกเป็นเมืองขึ้นประเทศมหาอำนาจได้ ถ้าคนไทยไม่ปฏิรูประบบการปกครองและระบบเศรษฐกิจสังคมให้ทันสมัย

การปฏิวัติประชาธิปไตยของไทย ต่างจากการปฏิวัติในอเมริกาและฝรั่งเศส ตรงที่ประชาชนในประเทศทั้งสองในยุคที่เกิดการปฏิวัตินั้น จำนวนมากพอสมควรที่ก้าวข้ามความคิดแบบโชคลางของขลัง เชื่อถือระบบอภิสิทธิ์ไปสู่การคิดอย่างมีเหตุผล มีความต้องการและเข้าร่วมต่อสู้เพื่อระบอบประชาธิปไตยด้วย แต่คนไทยส่วนใหญ่ใน พ.ศ. 2475 เป็นชาวนา ชาวไร่ที่ผลิตเพื่อกินเพื่อใช้มากกว่าเพื่อขาย มีความรู้ ความเข้าใจความสนใจเรื่องประชาธิปไตยและเศรษฐกิจสมัยใหม่น้อย

คณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 รวมทั้งรัฐบาลชุดต่อๆ มาของไทยไม่ได้ปฏิรูปการจัดการศึกษาแบบคิดวิเคราะห์ด้วยเหตุผลในเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่เปิดอกาสให้ประชาชนเรียนรู้เรื่องการปกครองท้องถิ่นด้วยประชาชนเอง การจัดการศึกษาของไทยเน้นการเตรียมประชาชนให้มีความรู้ (แบบจำได้) และทักษะพอที่จะทำงานรับใช้ระบบราชการที่ชนชั้นนำเป็นใหญ่ และระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมแบบบริวารบริษัทข้ามชาติได้ ไม่สนใจจะพัฒนาพลเมืองให้คิดวิเคราะห์เป็น 

ดังนั้น ถึงไทยจะทดลองเป็นประชาธิปไตยและพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่มา 80 กว่าปี ได้พัฒนาการศึกษาและเศรษฐกิจให้ทันสมัยได้ในระดับหนึ่ง และปัจจุบันคนไทยติดต่อสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในโลกยุคที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าไปกว่าเมื่อก่อนหน้านี้มาก แต่คนไทยส่วนใหญ่หรือจำนวนมากก็ยังคงมีความคิดความเชื่อแบบเชื่อโชคลางของขลังเชื่อถือระบบอภิสิทธิชนระบบอำนาจนิยม (ทหารนิยมระบบอุปถัมภ์ ฯลฯ ยังไม่รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล เป็นตัวของตัวเอง

จนถึงปัจจุบันประชาชนไทยส่วนใหญ่ก็ยังได้รับการศึกษาต่ำและรายได้ต่ำ ระบบการเมืองแบบเลือกตั้งมีปัญหาการซื้อเสียงขายเสียง การใช้อำนาจ ระบบอุปถัมภ์และการหาเสียงแบบหลอกลวง การเลือกตั้งผู้แทนส่วนใหญ่โดยเฉพาะหลังจากปี 2520 (หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519) ได้แต่ผู้แทนและรัฐบาลจากชนชั้นสูง, ชั้นกลางที่มีอำนาจมาก และอำนาจนำไปสู่การทุจริตฉ้อฉล การเล่นพวกและพฤติกรรมด้อยพัฒนาต่างๆ

ความด้อยพัฒนาล้าหลังในสังคมไทยโดยเปรียบเทียบแล้วก็ไม่ต่างไปจากยุโรปในยุคมืด ที่ชนชั้นผู้ปกครองยุโรปใช้ทั้งอำนาจทางทหาร ตำรวจ ในการกำลังบังคับ, กำลังทางเศรษฐกิจ การครอบงำด้านความรู้ ความเชื่อ ครอบงำให้ประชาชนให้เชื่อถือ เชื่อในอภิสิทธิ์ของกษัตริย์แบบสืบเชื้อสาย และเทววิทยาแบบเชื่อโชคลางของขลัง (ไสยศาสตร์หรือเชื่อในอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติ) ของคริสต์ศาสนจักรผสมผสานกันจนประชาชนเชื่อฟังหรือยอมรับชะตากรรมมาเป็นเวลายาวนาน 

แต่เมื่อสังคมยุโรปพัฒนาไปถึงจุดหนึ่ง คนที่อ่านหนังสือ ฟัง และคิด ในยุโรปและอเมริกาเกิดการปฏิวัติทางความรู้ ความคิดอ่าน ผสมกับปัญหาความขัดแย้งของระบบเศรษฐกิจการเมืองที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง ทำให้ประชาชนยุโรป/อเมริกันจำนวนมากเปลี่ยนแปลงไปคิดแบบใหม่ คิดอย่างมีเหตุผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ นำไปสู่ความรับรู้ ความเข้าใจใหม่ และประชาชนได้เข้าร่วมผลักดันการปฏิวัติทั้งระบบเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การศึกษา วัฒนธรรมแบบเสรีประชาธิปไตยตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 สองร้อยกว่าปีที่แล้วได้ ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้พัฒนาผ่านจุดนี้

ถึงไทยในยุคศักดินาจะมีการขูดรีด การเกณฑ์แรงงาน และอื่นๆ บ้าง 

แต่เนื่องจากประเทศไทยในยุค 2-3 ร้อยปีที่แล้วมีที่ดินมาก ประชากรน้อย ประชาชนทำการเกษตรแบบพอมีพอกินมีใช้ ไม่เดือดร้อนมากเมื่อเทียบกับยุโรปและอเมริกาในยุคสามร้อยปีและก่อนหน้านั้น ต่อมาไทยค่อยๆ ถูกกลืนเข้าเป็นส่วนหนึ่งในระบบทุนนิยมโลก โดยที่ประเทศไทยไม่ได้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจการเมืองหรือการศึกษาที่กระจายไปสู่คนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง เมื่อเทียบกับอังกฤษ เยอรมัน ญี่ปุ่น และประเทศยุโรปอื่นๆ ที่ถึงไม่ได้ผ่านการปฏิวัติใหญ่แบบสหรัฐฯ หรือฝรั่งเศส แต่ประเทศเหล่านี้ได้มีการปฏิรูปทางสังคม รวมทั้งเศรษฐกิจการเมืองเพื่อพัฒนาประเทศให้ทันสมัยในแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมและประชาธิปไตยนายทุนอย่างเอาจริงเอาจัง

ในขณะที่ไทยใช้ระบบการจัดการศึกษาและวัฒนธรรมเรียนรู้เรื่องทางสังคมการเมืองของประชาชนไทยแบบควบคุมครอบงำโดยชนชั้นเจ้าที่ดินใหญ่ขุนนางและนายทุน ผู้สามารถปรับตัวเป็นหุ้นส่วนกับนายทุนและรัฐนายทุนจากประเทศมหาอำนาจได้ ชนชั้นผู้ปกครองของไทยมีอำนาจรวมศูนย์แบบผูกขาดทั้งทางเศรษฐกิจการเมือง และวัฒนธรรมความรู้ความเชื่อ พวกเขาจัดการศึกษาเลียนแบบตะวันตก พอให้ประชาชนอ่านออกเขียนได้ และมีความรู้ทักษะทางวิชาชีพจำนวนหนึ่งเพื่อไปเป็น “ทรัพยากรมนุษย์” ทำงานรับใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบบริวารได้เท่านั้น 

ไทยไม่ได้ผ่านมีการปฏิรูปการศึกษา และการต่อสู้ทางความคิดอ่านให้เป็นแบบมีเหตุผล ในแนวเสรีนิยมก้าวหน้าที่ประชาชนไทย ส่วนใหญ่ไม่ได้มีโอกาสตื่นตัว ตั้งคำถามเรื่องการใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล มีสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค เหมือนอย่างคนยุโรปและคนอเมริกันเมื่อ 200-300 ร้อยปีที่แล้ว และไทยสั่งเข้าการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและปรัชาธิปไตยแบบนายทุน แบบเลียนแบบเฉพาะรูปแบบบางอย่างไม่ได้เรียนรู้เรื่องเนื้อหาสาระอย่างจริงจัง

(อ่านเพิ่มเติม วิทยากร เชียงกูล. การปฏิวัติประชาธิปไตยอเมริกัน/ฝรั่งเศส คนไทยควรเรียนรู้อะไร. แสงดาว, 2560 www.saengdao.com โทร 02-954-9841)