การแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

การแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

(กฎหมายระบบ 30 บาท) 3

มาตรา 13 นี้กำหนดที่มา การคัดเลือก และวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการจากตำแหน่งประจำ รวมทั้งกรรมการจากการคัดเลือกหรือสรรหา โดยมีการลดจำนวนกรรมการจากตำแหน่งออก 3 ตำแหน่ง และลดกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิลง 2 ตำแหน่ง(ปรับให้ไปอยู่ในตำแหน่งผู้แทนสภาวิชาชีพ) เพิ่มกรรมการจากสภาวิชาชีพอีก 1 ตำแหน่ง และย้ายผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนจากกลุ่มสภาวิชาชีพ ไปอยู่ในกลุ่มผู้ให้บริการแทน

รวมจำนวนกรรมการจากเดิมมี 30 คน กรรมการตามร่างที่แก้ไขใหม่มี 32 คน

คณะกรรมการยกร่างกฎหมายได้แก้มาตรา 13 โดยได้เพิ่มตำแหน่งรองประธานกรรมการ โดยกำหนดให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธาน ปรับผู้แทนโดยตำแหน่งออกคือปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ความเห็นต่อการแก้ไขมาตรา 13 การปรับกรรมการจากตำแหน่งออกก็น่าจะมีผลดี เพราะเท่าที่ผ่านมาจากบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปลัดกระทรวงทั้งหลายมักจะไม่มาประชุมเอง แต่จะมอบหมายผู้แทนมาประชุมแทน และส่วนมากไม่ค่อยจะได้ออกความเห็นในที่ประชุม

ลดจำนวนผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เหลือ 3 คน

ให้คงจำนวนผู้แทนองค์กรเอกชนไว้ 5 คนตามเดิม แต่ได้เพิ่มองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมาอีก 1 องค์กร ทำให้มีจำนวนองค์กรที่จะมาเลือกกันเองเป็น 10 องค์กร

ความเห็นของผู้เขียน ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการคัดเลือกผู้แทนองค์กรเอกชนตามเดิม เพราะถ้าเลือกเพียง 5 เช่นเลือกองค์กรเอกชนด้านเกษตรกร ก็อาจไม่ได้ผู้แทนด้านผู้ใช้แรงงาน และเท่าที่ผ่านมา ก็จะเห็นได้ว่า กรรมการที่มาจากองค์กรเอกชนเหล่านี้ มักมีอาชีพดั้งเดิม ไม่ตรงกับภารกิจขององค์กรนั้นๆ เช่น เป็นเภสัชกร แต่เข้ามาเป็นกรรมการในนามองค์กรด้านเกษตรกร หรือคนๆเดิมนั้นเอง แต่เปลี่ยนองค์กรไปมา เช่น บางปีเป็นผู้แทนคุ้มครองผู้บริโภค พอเลือกวาระใหม่ก็แปลงร่างมาเป็นผู้แทนเกษตรกร

และบางคนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์อยู่วาระหนึ่ง แต่วาระต่อมากลายเป็นผู้แทนองค์กรเอกชนไปก็มี

 จากกรณีดังกล่าว จะเห็นได้ว่า การคัดเลือกผู้แทนองค์กรเอกชน มักจะมีการ ฮั้ว” กันในการเลือก หรือการมี “Conflict of Interest” และไม่ใช่ผู้แทนประชาชนที่แท้จริง ซึ่งคนเหล่านี้อาจไม่ทราบความจำเป็นในด้านสุขภาพอย่างแท้จริง

สิ่งที่ไม่เห็นด้วย ผู้เขียนมีความเห็นว่า ใน (4) นี้ควรจะเลือกจากผู้แทนอสม.ที่เป็นผู้ใกล้ชิดประชาชน เนื่องจากเป็นผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขกับประชาชน จึงมีความรู้ทางวิชาการมากกว่าประชาชนทั่วไป และรับรู้ปัญหาด้านสุขภาพของประชาชน ขอเสนอให้เลือกผู้แทนอสม.มาจากทุกภาคการปกครอง ภาคละ 1 คน ได้แก่ภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ และกทม. รวมป็น 5 คน

การคัดเลือกผู้แทนอสม.แต่ละภาคให้ดำเนินการตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

สำหรับกรรมการจากผู้แทนสภาวิชาชีพ เห็นด้วย ว่าควรต้องมีจากทุกสภาวิชาชีพ เพิ่มจากเดิม ผู้แทนหน่วยบริการจำนวน 7 คน

ผู้เขียนมีความเห็นว่า ปรระชาชนที่มารับบริการนั้น ตามสถิติเป็นผู้มารับบริการที่โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขถึง 90 % จีงสมควรที่ผู้ให้บริการจากกระทรวงสาธารณสุขจะมีสัดส่วนการเป็นกรรมการมากกว่าผู้แทนสถานพยาบาลอื่น

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ลดจำนวนเหลือ 5 คน

สิ่งที่ไม่เห็นด้วย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้นควรจะประกาศรับสมัครจากประชาชนทั่วไป โดยกำหนดคุณสมบัติและคุณวุฒิไว้ ว่ามีคุณสมบัติและคุณวุฒิตามสาขานั้นจริง ไม่ใช่เป็นพรรคพวกของกรรมการหรือรัฐมนตรีตามวิธีการสรรหาแบบเดิม

สรุปการแก้ไขมาตรา 13 เพื่อ กำหนดที่มา การคัดเลือก และวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการจากตำแหน่งประจำ รวมทั้งกรรมการจากการคัดเลือกหรือสรรหา โดยมีการลดจำนวนกรรมการจากตำแหน่งออก 3 ตำแหน่ง และลดกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิลง 2 ตำแหน่ง(ปรับให้ไปอยู่ในตำแหน่งผู้แทนสภาวิชาชีพ) เพิ่มกรรมการจากสภาวิชาชีพอีก 1 ตำแหน่ง และย้ายผู้แทนโรงพยาบาลเอกชนจากกลุ่มสภาวิชาชีพ ไปอยู่ในกลุ่มผู้ให้บริการแทน

รวมจำนวนกรรมการจากเดิมมี 30 คน กรรมการตามร่างที่แก้ไขใหม่มี 32 คน

มาตรา 14 กำหนดห้ามการดำรงตำแหน่งซ้ำซ้อนกันในการเป็นกรรมการตามมาตรา 13 และ 48

ความเห็นของผู้เขียน เห็นด้วยว่ากรรมการตามมาตรา 13 และมาตรา 48ไม่ควรเป็นกรรมการซ้ำซ้อนกัน แต่มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรกำหนดให้บุคคลคนหนึ่งเป็นกรรมการได้ตามมาตราเดียวเท่านั้นตลอดชีวิต ห้ามเป็นกรรมการต่างวาระกันในแต่ละมาตรา เพื่อป้องกันการผูกขาดการเป็นกรรมการเฉพาะกลุ่มพวกเหมือนที่เคยเป็นมา

มาตรา 15 วาระการดำรงตำแหน่ง ห้ามดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระ

ข้อคิดเห็นจากผู้เขียนในส่วนของวาระกรรมการต่างๆนั้น ยกเว้นกรรมการตามตำแหน่งแล้ว ขอเสนอให้บุคคลคนหนึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการแค่ 1 วาระ และห้ามเป็นซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นกรรมการในกลุ่มเดิมหรือเปลี่ยนกลุ่มก็ตามเนื่องจากในอดีตที่ผ่านมา มีการสืบทอดตำแหน่งในบางคน เป็นกรรมการจากกลุ่มวิชาการแล้วย้ายไปเป็นกรรมการในกลุ่มองค์กรเอกชน

บทความนี้เป็นการสรุปข้อคิดเห็น ต่อการแก้ไขกม.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตรา 13,14,15

..............................................................................

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

กรรมการแพทยสภา

ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข