เพิ่มโอกาสเท่ากัน เพื่อลดเหลื่อมล้ำ

เพิ่มโอกาสเท่ากัน เพื่อลดเหลื่อมล้ำ

ความพยายามของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

 โดยการเปิดให้ลงทะเบียนขอรับสวัสดิการรัฐที่จัดทำเป็นรอบที่2 ดูเหมือนว่าจะคึกคักกว่ารอบแรก เนื่องด้วยมีประชาชนที่มีรายได้ไม่ถึง 1 แสนบาทต่อปีมาลงทะเบียนถึง 14 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากงวดที่แล้วเกือบเท่าตัว ซึ่งในจำนวนนี้หากแยกเป็นกลุ่มคนลงทะเบียน ที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับ 3 หมื่นบาทต่อปีมีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งที่เดียว

ในกลุ่มคนที่รายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปีนี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่าถือเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่รัฐจำเป็นต้องเข้ามาดูแลอย่างยิ่ง เพื่อให้คนเหล่านี้พ้นเส้นความยากจน โดยเฉพาะการเติมเงินเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ หรือมีรายได้เกินกว่า 3 หมื่นบาทซึ่งรัฐอยู่ระหว่างการออกแบบเพื่อการช่วยเหลือ โดยอยู่บนหลักการหรือเงื่อนไขว่าเงินที่เติมให้นั้น จะไม่ได้เป็นเงินให้เปล่า กลุ่มคนเหล่านี้จะต้องเข้ารับการอบรมฝึกอาชีพ ตามความถนัดของคนเหล่านี้ว่าเหมาะกับอาชีพอะไรเป็นต้น

รัฐมนตรีคลัง บอกด้วยว่า การนำงบประมาณรัฐมาใช้ ถือว่าคุ้มค่า ทำให้คนในประเทศสามารถไปด้วยกัน เนื่องจากรัฐจะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และจำเป็นต้องสร้างโอกาสที่เท่ากัน แม้ว่าความสามารถแต่ละคนไม่เท่ากัน เหมือนการเรียนที่ครูสอนเหมือนกัน บางคนได้ที่ 1 บางคนได้ที่โหล่ ก็ไม่เป็นไร เพียงแต่รัฐต้องสร้างโอกาสที่ทำให้คนส่วนใหญ่อยู่บนลู่วิ่งเดียวกัน รวมทั้งรัฐจะส่งเสริมคนได้ที่ 1 เพื่อให้มาช่วยคนได้ที่โหล่ด้วยการออกมาตรการพี่ช่วยน้อง นำสิ่งที่ช่วยมาหักภาษีได้ 2 เท่า เพื่อจะช่วยผลักดันคนที่ต่ำกว่าให้ขึ้นมาเท่ากันเพื่อให้สังคมไปด้วยกัน

อันที่จริงปัญหาคนจน ในกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนนั้นมีมาช้านาน ไม่ใช่เรื่องใหม่เพิ่งเกิดขึ้น ความพยายามของรัฐในการแก้ปัญหาคนจนก็มีมาตลอด แต่การเติมเงินหรือแจกเงินเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนเนื่องจากหากไม่ทำให้พวกเขามีอาชีพก็จะทำให้ปัญหาวนกลับมาที่เดิมอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจอ่อนแอก็จะยิ่งซ้ำเติมมากขึ้น ซึ่งประเมินว่าหากเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวในระดับ 3% จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากจะทำให้การแก้ไขปัญหาความยากจนหมดไป ขณะที่ครัวเรือนของประเทศที่ยังอยู่ในระดับ 80%ของจีดีพี ถือเป็นอัตราที่สูงในระดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ไม่นับรวมถึงหนี้นอกระบบซึ่งเป็นที่พึ่งของคนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งก็ยังคงแพร่ระบาดอย่างมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัด

วงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ราว 8 หมื่นล้านบาทเพื่อใช้สำหรับการให้สวัสดิการ แก่ผู้มาลงทะเบียนรับสวัสดิการรัฐในปีนี้ ที่คาดว่าจะเริ่มแจกสวัสดิ์ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ซึ่งนอกเหนือจากการช่วยค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่ารถเมล์ รถไฟ รถบขส.และรวมไปถึงการเติมเงินให้กับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทด้วยนั้น เราอยากเห็นว่าเงินนี้จะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และแนวโน้มในปีต่อๆ ไปวงเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ลดลงเรื่อยๆ เพื่อให้เห็นว่าดัชนีชี้วัดคนจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนเขาสามารถที่จะมีอาชีพช่วยเหลือหรือยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง