หุ้นเข้าหุ้นออกดัชนี มีผลอย่างไร?

หุ้นเข้าหุ้นออกดัชนี มีผลอย่างไร?

หุ้นเข้าหุ้นออกดัชนี มีผลอย่างไร?

ในทุกๆ ครึ่งปีรอบเดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม เราจะเริ่มเห็นบทวิเคราะห์หรือข้อความส่งต่อๆ กันคาดการณ์ว่าหุ้นตัวไหนจะถูกปรับออก และปรับเข้าดัชนีที่จัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์ได้แก่ SET50, SET100, sSET และ SETHD โดยรายชื่อหุ้นเข้าออกที่คาดการณ์กันของแต่ละโบรกก็มักจะใกล้เคียงกัน อาจจะมีแตกต่างกันบ้างในหุ้นขนาดกลางๆ และไม่ต่างกับรายชื่อที่ประกาศออกมาโดยตลาดหลักทรัพย์มากนัก ความสำคัญที่แท้จริงของรายชื่อหุ้นตรงนี้มีผลยังไงกับนักลงทุน เราควรให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน

โดยหลักการแล้วนักลงทุนเชื่อว่าหุ้นตัวไหนที่ถูกปรับออกจากดัชนีก็จะมีแรงขายหุ้นตัวนั้นออกมาจากฝั่งกองทุนทำให้ราคาปรับตัวลดลง ส่วนหุ้นตัวไหนที่ถูกปรับเข้าดัชนีหุ้นตัวนั้นก็จะมีแรงซื้อและทำให้ราคาปรับตัวขึ้น หลักการนี้ถูกต้องในแง่การปรับพอร์ตลงทุนของกองทุนที่มีการซื้อหุ้นตามดัชนี แต่การยึดหลักการตรงนี้ นักลงทุนต้องรู้ก่อนว่าความสำคัญของดัชนีแต่ละอันนั้นไม่เท่ากัน เพราะดัชนีบางอันเป็นที่นิยมในการปรับพอร์ตตามของกองทุน ขณะที่ดัชนีบางอันอาจใช้เป็นเพียงแค่อ้างอิงข้อมูล

ขนาดของกองทุนหุ้นแต่ละกองทุนมีขนาดใหญ่ทำให้ดัชนีที่เลือกใช้ในการอ้างอิงต้องเป็นดัชนีที่อ้างอิงหุ้นขนาดใหญ่ จากตารางข้างล่างจะเห็นว่า ในบรรดาดัชนีทั้ง 4 ดัชนี SET50 กับ SET100 มีมูลค่าตลาดรวมสูงที่สุด จึงเป็นที่นิยมนำมาใช้ในการอ้างอิง อย่างไรก็ตามนอกจากการดูที่มูลค่าตลาดรวมแล้ว การเลือกดัชนีที่ต้องคำนึงถึงสภาพคล่องของหุ้นภายในดัชนีแต่ละตัวด้วยซึ่งทำให้ดัชนี SET50 ได้รับความนิยมสูงที่สุด ด้วยเหตุผลนี้จะเห็นว่า ดัชนี sSET กับ SETHD ถึงแม้จะเป็นดัชนีที่ลักษณะพิเศษเฉพาะตัวในแง่ของข้อมูล แต่ไม่น่าจะเป็นที่นิยมใช้ในการปรับพอร์ตของกองทุนตามเทียบกับดัชนี SET50 ดังนั้นผลกระทบของราคาหุ้นที่ถูกปรับเข้าและปรับออกดัชนีทั้ง 2 อันนี้อาจจะไม่มีนัยมาก ในขณะที่การที่หุ้นปรับเข้าและปรับออกของดัชนี SET50 น่าจะมีนัยสำคัญพอสมควร

เมื่อพิจารณาข้อมูลที่กองทุนหุ้นหลายๆกองทุนที่บริหารโดย 6 บลจ.ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะเห็นว่าถ้าเลือกมาแค่เฉพาะกองทุนดัชนี (Index Fund) ที่มีระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจะที่มีการปรับพอร์ตตามดัชนี SET50 เราประมาณได้คร่าวๆว่ามีขนาดรวมๆกันประมาณ 25,000 ล้านบาท โดยสมมติว่าน้ำหนักของหุ้นที่ถูกเข้าและออกรวมๆ กัน 3-4 ตัวคิดเป็นประมาณ 2.5% ของขนาดกองทุนทั้งหมด ดังนั้นมูลค่าหุ้นรวมๆที่จะขายออกมาและหุ้นที่จะถูกซื้อเพื่อการปรับดัชนีจะมีประมาณอย่างละ 625 ล้านบาท ตรงนี้เป็นการประเมินขั้นต่ำจากกองทุนรวมหุ้นประเภท Index Fund ทั่วไปเท่านั้น ยังไม่ได้รวมกองทุนหุ้นประเภทอื่นๆ อีก และยังไม่รวมกองทุนในต่างประเทศที่ลงทุนในหุ้นไทย เราอาจตีความได้ว่ามูลค่าซื้อขายเพื่อการปรับพอร์ตที่แท้จริงจะมีมากกว่านี้อย่างมีนัยยะ

เพื่อลดผลกระทบต่อราคาหุ้นของหุ้นทั้ง 3-4 ตัวที่เข้าและออกดัชนีทางผู้บริหารกองทุนจำเป็นต้องทยอยปรับพอร์ตล่วงหน้า ถ้าหุ้นมีสภาพคล่องสูง การปรับพอร์ตก็จะอาจจะทำในช่วงเวลาสั้นๆก่อนจะสิ้นเดือน แต่ถ้าหุ้นมีสภาพคล่องน้อยมากการปรับพอร์ตจะเริ่มทำล่วงหน้าหลายวันหรือหลายสัปดาห์ นักลงทุนทางเทคนิคอาจจะเริ่มจับตาสังเกตปริมาณวอลุ่มของหุ้นพวกนี้ที่ค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ และเลือกกลยุทธ์การเก็งกำไรในหุ้นตัวนั้นได้

หลักการทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเรื่อยๆทุกๆครั้งที่มีการปรับเปลี่ยนหุ้นเข้าออกดัชนี สามารถใช้หลักนี้ได้กับดัชนีประเภทอื่นที่มีรอบในการปรับที่แตกต่างกันรวมทั้งดัชนีหุ้นไทยที่จัดทำโดยองค์กรจากต่างประเทศ นักลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรในเรื่องนี้ควรให้ความสำคัญกับเฉพาะดัชนีหลักๆที่เป็นที่นิยมสำหรับกองทุนจริงๆ เท่านั้น