เก็บภาษี 'อีคอมเมิร์ซ 'ลดเหลื่อมล้ำการค้า

เก็บภาษี 'อีคอมเมิร์ซ 'ลดเหลื่อมล้ำการค้า

ความพยายามของรัฐในการจัดเก็บภาษีสินค้า ที่ซื้อขายผ่านโลกออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ)

 เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อกรมสรรพากร ระบุว่ากำลังเสนอร่างกฎหมายการจัดเก็บภาษีการทำธุรกิจ ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Business เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือนนี้ โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในรัฐบาลชุดนี้ 

โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมาย ธุรกรรมที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี คือ การซื้อขายสินค้าและการโอนเงินที่เกิดขึ้นในไทย รวมถึงการดำเนินธุรกิจบนนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่อื่นๆ แม้ผู้ประกอบการจะไม่จัดตั้งอยู่ในไทย ก็ให้ถือว่ามีสถานประกอบการในไทย เข้าข่ายต้องชำระภาษีเช่นเดียวกันกับผู้ประกอบการในไทย ยังมีการพูดถึงอัตราการจัดเก็บภาษีผ่านสถาบันการเงินในไทย ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย จำนวน 5%  เพื่อนำไปชำระภาษีให้แก่กรมสรรพากร 

แน่นอนว่า สาเหตุหนึ่งที่รัฐต้องเร่งรัดในเรื่องนี้ เป็นไปตามกระแสโลก ที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ส่งผลให้การค้าผ่านโลกออนไลน์เฟื่องฟู สวนทางกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐ ที่จำเป็นต้องไล่ให้ทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี หากไล่ไม่ทันก็มีแนวโน้มว่าการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรจะลดลง ตามสัดส่วนการทำการค้าผ่านโลกออนไลน์ที่พุ่งไม่หยุด  

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ประเมินภาพรวมธุรกรรมการค้าผ่านโลกออนไลน์ในปัจจุบันว่า มีมูลค่าตลาดรวมสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท นอกจากนี้การซื้อขายสินค้าออนไลน์ในไทยยังเข้าสู่แพลตฟอร์มโซเชียล เน็ตเวิร์คเต็มรูปแบบ แซงหน้าการซื้อขายบนหน้าเว็บไซต์ประเภทมาร์เก็ตเพลส โดยตัวเลขการซื้อขายผ่านโซเชียลเมื่อปี 2559 มีมากถึง 2.7 แสนล้านบาท  คาดว่าปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 30% ทะลุ 3 แสนล้านบาท

ขณะที่ความเคลื่อนไหวสำคัญในฟาก“ผู้เล่น”ในตลาดอีคอมเมิร์ซ พบว่า ผู้เล่นในระดับโลก โดยเฉพาะจากจีน ดาหน้าเข้ามาปักธงลงทุนในไทย ล่าสุด “เจดีดอทคอม” อีคอมเมิร์ซรายใหญ่จากจีน ที่ระบุว่ามีขนาดธุรกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากอาลีบาบา กรุ๊ป เตรียมที่จะเข้ามาลงทุนในไทยปลายปีนี้ โดยจะใช้ไทยเป็น “ศูนย์กลาง” (ฮับ) การให้บริการธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียน ที่ผ่านมายักษ์อีคอมเมิร์ซรายนี้ยังผนึกกับวอล-มาร์ท ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐ โดยวอล-มาร์ท เข้ามาถือหุ้นกว่า 10% ในเจดีดอทคอม 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ อาลีบาบา กรุ๊ป เบอร์หนึ่งอีคอมเมิร์ซจีน ประกาศที่จะลงทุนตั้ง “อีคอมเมิร์ซปาร์ค” ผ่านบริษัทลาซาด้า ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อกระจายสินค้าในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562 สะท้อนถึงคลื่นการลงทุนอีคอมเมิร์ซโลกที่ถาโถมเข้ามาในไทยในอนาคต ไม่นับการซื้อขายผ่านโซเซียล เน็ตเวิร์ค ที่ทำได้อย่างกว้างขวาง 

การเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ นอกจากจะอุดช่องโหว่ลดการสูญเสียรายได้ของรัฐจำนวนมหาศาลแล้ว อีกทางหนึ่งยังเป็นการ“สร้างความเป็นธรรม”ทางการค้า ลดแต้มต่อของบริษัทค้าออนไลน์เหล่านี้ ที่มักเสนอราคาขายสินค้าต่ำกว่า หน้าร้านการค้าปกติ (ออฟไลน์) จาก “ส่วนเหลื่อม” ของภาระภาษีที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ จะต้องสร้าง “สิ่งแวดล้อม”ทางธุรกิจให้เอื้อต่อการค้าเสรีอย่างเป็นธรรม ไม่เพียงดูแลผู้บริโภคที่มุมหนึ่งอาจจะถูกส่งผ่านภาระภาษีจากราคาสินค้าออนไลน์ที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่ต้องดูแลผู้ประกอบการทุกภาคส่วน ไปพร้อมกัน