วิกฤติตะวันออกกลาง : เมื่อกาตาร์ถูกตราหน้าว่าเป็นเด็กแตกแถว

วิกฤติตะวันออกกลาง : เมื่อกาตาร์ถูกตราหน้าว่าเป็นเด็กแตกแถว

วิกฤติในตะวันออกกลางที่เกิดกับกาตาร์ ทำให้คนไทยได้รับรู้เกี่ยวกับประเทศเล็กๆ

 ประชากรประมาณ 2 ล้านคนแต่มั่งคั่งด้วยน้ำมันและแก๊สธรรมชาติขึ้นมาอย่างน่าสนใจ

ถ้าดูแผนที่จะเห็นสองยักษ์ใหญ่แห่งตะวันออกกลาง คือซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านที่เป็นศัตรูคู่แค้นกันมายาวนาน

กาตาร์คือติ่งเล็ก ๆ ระหว่างสองยักษ์

แต่ไหนแต่ไรมา กาตาร์เป็นหนึ่งในสมาชิกของ Gulf Cooperation Council (GCC) ซึ่งประกอบด้วยประเทศในอ่าวเปอร์เซียคือบาห์เรน คูเวต โอมาน ซาอุฯ ยูเออีและกาตาร์ (อิรักไม่อยู่ในเครือข่ายนี้)

เช้าตรู่ 5.50 น. ของวันจันทร์ที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่คนกาตาร์ส่วนใหญ่ยังหลับใหลอยู่ รัฐบาลบาห์เรนเพื่อนบ้านประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์

อีก 10 นาทีต่อมาซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในย่านนี้ ก็ออกแถลงการณ์ทำนองเดียวกัน

ด้วยเหตุผลว่าที่ต้อง “เลิกคบ” กับกาตาร์ก็เพื่อ “ปกป้องความมั่นคงของชาติจากอันตรายที่มาจากการก่อการร้ายและการกระทำสุดขั้ว”

ถึง 6.20 น. United Arab Emirates (UAE) ก็ออกประกาศลักษณะเดียวกัน

ในวันเดียวกันนั้นเอง อีกทั้งประเทศคืออียิปต์ เยเมนและมัลดีฟส์ก็เดินตามรอยเดียวกันนั้นอย่างพร้อมเพรียง

มีเพียงสองประเทศใน GCC คือโอมานและคูเวตที่ขอ “ยืนอยู่ตรงกลาง” ไม่เข้าร่วมในความขัดแย้งที่รุนแรงกว่าที่คาดคิดครั้งนี้

กาตาร์ออกแถลงการณ์ตอบโต้ ปฏิเสธข้อกล่าวว่าเรื่องสนับสุนกลุ่มก่อการร้ายไม่ว่าจะเป็น ISIS หรือ Muslim Brotherhood หรือ Hamas ทั้งหลายทั้งปวง

“นี่เป็นการรณรงค์เรื่องมดเท็จที่พุ่งไปถึงจุดที่เป็นการกุข่าวขึ้นมาโดยสิ้นเชิง” คือจุดยืนทางการของรัฐบาลที่โดฮา (เมืองหลวงของกาตาร์)

แค่การประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตยังไม่พอ ซาอุฯยังใช้มาตรการกดดันเพิ่มเติม ด้วยการสั่งปิดพรมแดนทางบกกับกาตาร์ ห้ามการขนส่งอาหารและสินค้าต่าง ๆ เข้ากาตาร์

นั่นย่อมแปลว่าการสัญจรทางบกเข้าสู่กาตาร์ถูกปิดตาย เพราะซาอุฯเป็นเพื่อนบ้านประเทศเดียวของกาตาร์ที่ติดต่อทางบกได้

ไม่แต่เท่านั้น ซาอุฯ ยูเออีและบาห์เรนก็ยังสั่งปิดน่านฟ้า ไม่ให้เครื่องบินขึ้นลงจากกาตาร์บินผ่าน ทำให้ผู้โดยสารหลายพันคนติดอยู่สนามบินต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง สูญเสียรายได้และความวุ่นวายให้กับผู้คนไม่น้อย

ยูเออีออกกฎใหม่ ใครที่แสดงความเห็นอกเห็นใจกาตาร์อาจถูกจับและติดคุกถึง 5 ปีกันทีเดียว

ประชาชนกาตาร์ถูกสั่งให้ออกจากสามประเทศนี้ ขณะที่ซาอุฯ, ยูเออีและบาห์เรน บอกให้ประชาชนของตนออกจากกาตาร์ในสองสัปดาห์

นักการทูตถูกอัปเปหิภายใน 48 ชั่วโมง

ทั้งหมดนี้เป็นการ “สั่งสอน” ค่อนข้างแรงเพราะความไม่พอใจคุกรุ่นมาระยะหนึ่งแล้ว ประเทศกลุ่มนี้เห็นว่ากาตาร์ “แตกแถว” ไม่วางตัวเป็นศัตรูกับอิหร่านอย่างชัดแจ้ง อีกทั้งยังไม่สกัดกั้นกลุ่มหัวรุนแรงอย่างเข้มข้นเพียงพอ

อีกสาเหตุหนึ่งคือสำนักข่าวและทีวี Al-Jazeera ของกาตาร์ที่รายงานข่าวเกี่ยวกับประเทศในตะวันออกกลางในลักษณะที่ค่อนข้างจะเข้มข้น ขุดคุ้ยเรื่องไม่ชอบมาพากลในชาติต่าง ๆ ในย่านนั้นจนทำให้ผู้นำเหล่านั้นมองว่า ผู้นำกาตาร์ใช้สื่อนี้สร้างกระแสเพื่อทำลายเขย่าฐานอำนาจของพวกเขา

คูเวตเสนอตัวเป็น “กาวใจ” ในเรื่องนี้ แต่ยังไม่มีผลให้ผ่อนคลายเพื่อนำไปสู่การฟื้นความสัมพันธ์แต่อย่างไร

สหรัฐภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์ได้แสดงจุดยืนชัดเจนว่ายืนข้างซาอุฯ แต่เมื่อวอชิงตันมีฐานทัพอากาศใหญ่ในกาตาร์ ก็ย่อมจะตัดโดฮาทิ้งไปไม่ได้

วิกฤตตะวันออกกลางรอบนี้ไม่อาจจบได้ง่าย เพราะความขุ่นข้องหมองใจซึมลึกกว่าที่เห็นอย่างปฏิเสธไม่ได้เลย