ผู้สาว 'ขาเลาะ'(1)

ผู้สาว 'ขาเลาะ'(1)

สังคมไทยจะเข้าใจความนิยมเพลง “ ผู้สาวขาเลาะ” ของคุณลำไย ไหทองคำ ได้อย่างไร

 หากจะวัดจากสายตาของคนรุ่นอาวุโสทั่วไปในสังคมไทย ก็คงต้องออกมาในลักษณะแบบเดียวกับที่ “ลุงตู่” ได้ลงทุนกล่าวว่าเอาไว้เท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าไม่มีประโยชน์โพดผลอันใดเลย

ความเปลี่ยนแปลงทุกๆ อย่างในสังคมไทยหรือสังคมโลกก็ตาม ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในสุญญากาศ ทุกอย่าง/ทุกมิติล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับเงื่อนไขสิ่งแวดล้อมทางสังคมทั้งสิ้น

ความนิยมเพลง “ลูกทุ่ง” ที่เนื้อร้องเน้นประเด็น “ทางเพศ” และการแสดงบนเวทีที่เน้น “ร่างกาย” ได้รับความนิยมมากขึ้นในระยะหลัง ตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ก็ได้แก่ เพลง “คันหู ” และมีพัฒนาการต่อเนื่องมาจนถึง “ผู้สาวขาเลาะ “ แต่หากพิจารณากลับไปในอดีต ก็จะพบว่า ช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการแสดงเพลง ที่มีลักษณะเช่นนี้ได้ปรากฏขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 2530 แล้ว ดังจะเห็นได้ว่าเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ล้วนแล้วแต่แสดงความปรารถนาส่วนตัวอย่างตรงไปตรงมาไม่ว่าจะเป็น “กระแซะ” หรือเพลง (ที่น่าสนใจมากที่คุณพุ่มพวงเสนอให้) “ปฏิวัติผัว” เป็นต้น

เพลงจะได้รับความนิยมก็ต่อเมื่อได้ “สื่อสาร” ทางอารมณ์ความรู้สึกอย่างสอดคล้องไปกับแรงปรารถนาของคนในสังคม ดังนั้น การทำความเข้าใจเพลง จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจสังคม โดยเฉพาะทางด้านอารมณ์ความรู้สึกได้มากขึ้น และต้องเน้นว่า เพลง “ลูกทุ่ง” นับจากพุ่มพวง ดวงจันทร์ มาจนถึงปัจจุบันนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงการเคลื่อนไหวทางอารมณ์ ความรู้สึกอันสำคัญยิ่งของผู้หญิงในสังคมไทย

กล่าวได้ว่า สังคมไทยได้สร้างระเบียบทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมาก ให้ตกเป็นพันธกิจหนักอึ้งบนบ่าของผู้หญิง เริ่มต้นจากการควบคุมร่างกาย ควบคุมอารมณ์ ต่อมาก็ควบคุมการแสดงออกทุกมิติในพื้นที่สาธารณะ และเมื่อมีครอบครัวแล้วก็ควบคุมวัตรปฏิบัติทั้งหมดในการมีชีวิตคู่ ในขณะที่ผู้ชายไทยได้รับอิสระอย่างมากในพื้นที่สาธารณะ

กรอบวัฒนธรรมเดิมของไทยที่เน้นให้ผู้ชายมีชีวิตเสรีนอกบ้านเพื่อแสวงหาเกียรติยศซึ่งมีหลากหลายทาง เช่น การบวชเรียน การเป็นนักเลงดูแลหมู่บ้าน หรือ การเข้าร่วมเป็นพ่อค้าทางไกล ในขณะที่ผลักดันให้ผู้หญิงมีชีวิตอยู่ในบ้านทำหน้าที่ดูแลครอบครัว (ดูแลเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต) และผู้หญิงเองก็จะต้องควบคุมตัวเองให้อยู่ “ในร่องในรอย” ทางวัฒนธรรมเพื่อที่จะได้รับการยอมรับจากสังคมชุมชน

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 เป็นต้นมา ได้เข้ามาผลักผู้หญิงให้ก้าวออกนอกพื้นที่บ้านมากขึ้น และการออกมาแสวงหาเงินตราเพื่อส่งกลับไปใช้ในครอบครัว ได้กลายเป็นชีวิตปรกติธรรมดาของผู้หญิงไทยทั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา (เส้นทางเดินชีวิตนอกบ้านของผู้หญิงเป็นเรื่องที่น่าศึกษามากนะครับ ตัวอย่าง เช่น ผู้หญิงภาคเหนือเคลื่อนออกมาทำงานนอกบ้าน ด้วยการเป็นคนใช้ให้แก่ชนชั้นกลางที่เริ่มขยายตัวในช่วงทศวรรษ 2500 ต่อมาพบว่าชีวิตคนใช้ที่นายจ้างพยายามจะผูกให้รับใช้ไปอีกเจ็ดชั่วโครต แบบผู้ดีเก่าที่ลอกเลียนมานั้นไม่ได้ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นทางเศรษฐกิจ จึงขยับออกมาสู่ภาคบริการ ส่วนพี่น้องผู้หญิงทางอีสานก็เคลื่อนเข้ามาแทนที่ต่ออีกสักช่วงหนึ่ง แล้วผันออกไปขายแรงงานด้านอื่นๆ เป็นต้น)

การปรากฏตัวของผู้หญิงในที่สาธารณะสมัยใหม่ได้ขยายตัวมากขึ้นมากตลอดเวลา หากมองในระบบราชการปัจจุบันจะพบว่าสัดส่วนของผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมากกว่าหนึ่งเท่า ในระบบเศรษฐกิจที่เป็นทางการ ก็จะพบว่าแรงงานผู้หญิงมีมากกว่าและเข้มแข็งมากกว่า ในระบบเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ ผู้หญิงเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญกว่าในขณะที่ผู้ชายเป็นแรงงานธรรมดา (ในการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป สัดส่วนของนักศึกษาหญิงก็สูงกว่านักศึกษาชายมาก )

การเคลื่อนไหวทางสังคมเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้ ได้ส่งผลโดยตรงทำให้เกิดความพยายามจะเปลี่ยนแปลงความหมายในระบบวัฒนธรรม โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง การเกิดการท้าท้ายและต่อต้านระบบวัฒนธรรมที่ควบคุมผู้หญิงอย่างเข้มข้นนั้นได้รับการท้าทายมากขึ้นๆ

การท้าท้ายและต่อต้านระบบวัฒนธรรมที่ควบคุมอยู่ จะเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงความหมายของ “ตัวตน” ก่อนจะขยับไปยังพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมอื่น

การแสดง "ตัวตน" ของผู้หญิงเยี่ยง "มนุษย์" คนหนึ่งที่มีแรงปรารถนาของตนเอง และพร้อมที่จะแสดงออกโดยไม่จำเป็นต้อง "อิดเอื้อน/ปิดบัง" หรือหลบเลี่ยงการแสดงออกด้วยการใช้มารยาสาไถย (แบบเดิม) จึงปรากฏขึ้น ลองฟังเพลง "ขอให้โสดที่เถอะ" (ซึ่งเนื่อหาสาระมีลักษณะเดียวกับ “ผู้สาวขาเลาะ ) และ ”ชวนแฟนดับไฟ" ของคุณพุ่มพวง ดวงจันทร์ นะครับ

กระบวนการเปลี่ยนแปลงความหมายทางวัฒนธรรม อันเป็นสายใยความหมายชีวิตที่รัดตรึงเราไว้กับคุณค่าความหมายนั้นๆ ( “ผู้หญิงดี” ย่อมจะต้องปฏิบัติตัวตาม หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า เป็นต้น ) จึงได้เริ่มขึ้นจากการแสดงถึงความหมายใหม่ของความเป็นตัวตนผู้หญิง โดยเริ่มจากธรรมชาติของความเป็นผู้หญิงนั้นเอง

กล่าวได้ว่า การต่อต้านอำนาจนำทางวัฒนธรรมที่ดำเนินต่อเนื่องมา จนถึงช่วงของการปฏิวัติวัฒนธรรมทางเพศของผู้หญิงส่วนใหญ่ในสังคมไทยได้เริ่มขึ้นในพื้นที่การสื่อสารทางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในสังคม ซึ่งพื้นที่ที่สำคัญ ได้แก่ เพลง “ลูกทุ่ง”

แน่นอนว่า การต่อต้านอำนาจนำทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะเรื่องเพศนี้แตกต่างไปในแต่ละชนชั้น ผู้หญิงชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาสามารถที่จะหยิบเอาหลักการความเสมอภาคทางเพศ ขึ้นมาใช้เป็นอาวุธได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถสถาปนาหลักการนี้ได้อย่างมั่นคงในชนชั้นตนเองแล้ว แต่ในวันนี้ พื้นที่การต่อสู้ได้ขยายออกอย่างกว้างขวางครอบคลุมสังคมไทยอย่างชัดเจน

ดังนั้น หากเราพิจารณาการแสดงออกของผู้คนในสังคมไทย ให้ลึกไปกว่าการประนามแบบมักง่าย ด้วยกรอบคิดความเป็นไทยแบบเดิมว่าคนไทย/ผู้หญิงไทย ที่ดีต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ก็จะทำให้สังคมไทยมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้หลากหลายแนวทางมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขอต่อคราวหน้านะครับ เพราะไม่สามารถจะจบได้ในตอนนี้ครับ