เทศกาล “เกาเข่า”

เทศกาล “เกาเข่า”

เทศกาล “เกาเข่า”

สัปดาห์ที่แล้ว ผมไปเยือนเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง บังเอิญตรงกับวันที่ 7 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของเทศกาล เกาเข่า พอดี

วันนั้น นักเรียนจีนจำนวน 9 ล้าน 4 แสนคน ลงสนามแข่งขันครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต ผมเลยอยากจะเล่าเรื่องของ การเกาเข่า ว่าทำไมมันจึงมีความหมายต่อชีวิตของเยาวชนจีนมากมายขนาดนั้น

การเกาเข่า (高考) หรือ Gaokao ไม่ใช่เกาเพราะคันเข่าหรอกนะครับ แต่ เกา แปลว่าระดับสูง เข่า แปลว่า สอบ คำนี้จึงแปลว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่ง เป็นการสอบไล่ที่ยากเย็นอย่างยิ่งยวด เด็กและพ่อแม่ ต้องทุ่มเทเตรียมตัวทุกรูปแบบ เป็นเวลานานแรมปี

การสอบ 2 วัน จะเปลี่ยนชีวิตของเขาได้จริงๆ ถ้าหากทำได้สำเร็จ เพราะใครที่สามารถสอบผ่านเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ ก็เหมือนได้ใบรับประกันว่าจะมีงานทำแน่นอน และชีวิตนี้มีโอกาสสูงมากที่จะเจริญรุ่งเรือง แต่ นักเรียน 9.4 ล้านคน ที่เข้าสอบในปีนี้ จะมีผู้สอบผ่านเข้าเรียนได้เพียง 3.72 ล้านคน เท่านั้น

ถ้าใครสอบผ่านเข้าไปเรียนในสถาบันดังๆอย่างมหาวิทยาลัยปักกิ่ง หรือ มหาวิทยาลัยซิงหัว ได้สำเร็จ ก็ยิ่งเรียกว่า เป็นการประกันความสำเร็จของชีวิต ในภายภาคหน้าอย่างแน่นอน

การแข่งขันอันเข้มข้น ทำให้นักเรียนและพ่อแม่จำนวนหนึ่ง พยายามทุกวิถีทางที่จะโกงสอบ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ป้องกันอย่างเข้มงวด จนเคยประทะกันมาแล้ว เมื่อปี 2013 เพราะเจ้าหน้าที่ ตรวจร่างกายของนักเรียน อย่างเข้มข้น เพื่อป้องกันมิให้มีอุปกรณ์โกงสอบติดตัวเข้าไป แม้กระทั่งนักเรียนหญิง ถ้ามีเสียงโลหะดังจากเสื้อชั้นใน ก็ต้องถอดออก ก่อนเข้าสอบ

เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลจีน จึงได้ออกกฏหมายกำหนดให้ การโกงสอบเกาเข่า เป็นคดีอาญา มีโทษจำคุกถึง 7 ปี ทำให้การสอบในปีนี้ ซึ่งได้ผ่านไปกว่าสัปดาห์แล้ว ผมก็ยังไม่เห็นมีข่าวการโกงสอบ เข้าใจว่าน่าจะกลัวติดคุกกันแหละครับ

ที่ผมไปเมืองจีนครั้งนี้ ก็ไม่ได้ไปดูเรื่องการศึกษาหรอกครับ แต่ผมพาผู้บริหารในหลักสูตร Digital Economy ไปดูงานด้านเทคโนโลยี่ของจีน ที่ก้าวล้ำนำสมัย แต่บังเอิญเป็นช่วงเวลาเกาเข่า และผมมีโอกาสไปวนเวียนอยู่รอบมหาวิทยาลัยปักกิ่งและซิงหัว ก็เลยได้บรรยากาศ จึงนำเรื่องเกาเข่ามาเล่า ให้เข้ากับเรื่องเทคโนโลยี่ ได้พอดี

เพราะว่าผู้สอบเกาเข่าปีนี้ 9.4 ล้านคนนั้น ไม่ใช่ คนทั้งหมดหรอกครับ แต่มีอยู่ 1 ตัวที่ลงสนามแข่ง เกาเข่า กับเขาด้วย เจ้า 1 ตัวนี้ ก็คือ หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence ที่เรียกกันย่อๆว่า “AI” นั่นเอง

เทคโนโลยี่ที่ก้าวล้ำอย่างรวดเร็ว ได้นำเราเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์ ยุคที่หุ่นยนต์มีสมองคิด ทำอะไรได้มากมาย จนเราเริ่มกังวลกันว่า ไม่กี่ปีข้างหน้า AI จะมีความฉลาดเท่าเทียม หรือมากยิ่งกว่ามนุษย์ แล้ววันนั้น เราจะอยู่กันอย่างไร

เจ้าหุ่นยนต์แสนฉลาดปราชญ์เปรื่องตัวนี้ มีชื่อว่า AI-MATHS เป็นผลงานค้นคว้าโดยบริษัทแห่งหนึ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยซิงหัว และเมื่อเดือนมีนาคม 2560 เจ้า AI-MATHS ทำข้อสอบคณิตศาสตร์ แข่งกับเด็กนักเรียน 49 คน ปรากฏว่านักเรียนทำคะแนนเฉลี่ยได้ 106 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 150 คะแนน) ชนะเจ้าหุ่นยนต์ ซึ่งได้ 93 คะแนน

แต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2560 หุ่นยนต์ชื่อ AlphaGo ได้ลงแข่งขันเล่นโกะ และสามารถเอาชนะเด็กจีนอัจฉริยะไปได้ ซึ่งเป็นข่าวฮือฮา และทำให้ผู้คนกังวลกันว่า เข้าสอบคณิตศาสตร์ในสนามเกาเข่าเดือนมิถุนายนนี้ ถ้าเจ้า AI-MATHS เกิดเอาชนะมนุษย์ได้ จะเกิดอะไรตามมา

ผู้พัฒนาเจ้า AI-MATHS เชื่อว่าสอบครั้งนี้ มันน่าจะทำได้ถึง 110 คะแนน ซึ่งมากกว่า 106 คะแนน ที่นักเรียนทำได้ ยิ่งทำให้ผู้คนจับตามองการสอบเกาเข่าครั้งนี้ มากยิ่งขึ้น

เจ้าหุ่นยนต์ลงสอบจริงเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ใช้เวลาทำข้อสอบ 20 นาที วันรุ่งขี้น รัฐบาลประกาศว่า คะแนนเต็ม 150 มันสอบได้ 105 คะแนน คิดเป็น 70% คะแนนที่หายไป ก็เพราะมันยังไม่เข้าใจภาษาบางคำ แม้ภาษาง่ายๆเช่น “จำนวนครูมีมากกว่านักเรียนชาย 2 เท่า” มันก็ยังไม่เข้าใจ

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า มันจะต้องสอบให้ได้ 130 คะแนนเสียก่อน จึงจะถือว่าเป็น ระดับ AI และถ้าจะเข้ามหาวิทยาลัยดังๆได้ ก็ต้องได้ 140 ขึ้นไป ก็แปลว่า ปีนี้ มนุษย์ค่อยคลายกังวลเรื่องหุ่นยนต์ ไปได้ระดับหนึ่ง แหละครับ

มีรายงานว่า ญี่ปุ่นก็เคยมีการผลิตหุ่นยนต์ ให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยมาหลายปีแล้ว แต่เมื่อปีที่แล้วก็เลิกโครงการนี้ไป เพราะเจ้าหุ่นยนต์ TODAI ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียว ได้

มนุษย์เรานี่ดุร้ายมากทีเดียวนะ ปลดได้แม้กระทั่งหุ่นยนต์

แต่การพัฒนายังไม่หยุดนิ่งแน่นอน นักวิทยาศาสตร์จีนกำลังทดลองหุ่นยนต์ AI-Chinese และ AI-Geography รวมทั้ง AI-Physics เพื่อลงสนามสอบเกาเข่าในปีหน้า และอีกไม่นานนัก ก็จะมี AI-Essay อีกด้วย

ถึงวันนั้นเมื่อไร คนเขียนหนังสืออย่างผมก็ไม่ต้องเขียนแล้ว คุณก็ไปรออ่านบทความของเจ้า AI-Essay แทนบทความของผม ก็แล้วกันคร้าบ