“บล็อกเชน" กับการบรรเทา ปัญหาคอร์รัปชัน

“บล็อกเชน" กับการบรรเทา ปัญหาคอร์รัปชัน

บันทึกข้อมูลเอกสารสิทธิและระวางที่ดินเข้าไปในระบบบล็อกเชน ซึ่งจะทำให้ข้อมูลมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ง่าย

ปี 2559 ที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต โดยจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนนทั้งสิ้น 35 คะแนนจาก 100 คะแนน โดยประเทศที่ได้อันดับหนึ่งยังคงเป็นประเทศเดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ 90 คะแนนเท่ากัน ขณะที่ประเทศจากทวีปเอเชียอย่างสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 7 ได้ 84 คะแนน ซึ่งเดิมในปี 2558 ประเทศไทยเคยได้รับ 38 คะแนน อยู่อันดับ 76 จาก 168 ประเทศ ได้รับคะแนนลดลงจากเดิม 3 คะแนน

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนได้ว่า ปัญหาคอร์รัปชันในไทยนั้น ยังเป็นปัญหาที่มีความสำคัญต้องให้ความสนใจ และใช้ความพยายามที่จะแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงและพัฒนาได้เต็มประสิทธิภาพตามกำลังงบประมาณที่มีการเบิกจ่ายใช้งานในแต่ละปีงบประมาณ

การแก้ปัญหาคอร์รัปชันต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของประชาสังคมไทย แต่หนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยบรรเทาปัญหาได้ คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ และหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการทำสิ่งนั้นคือบล็อกเชน (Blockchain) โดยทั่วไปแล้วเมื่อกล่าวถึงบล็อกเชน หลายคนอาจจะนึกถึงสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือบิตคอยน์ ก่อนเป็นอับดับแรก ทั้งที่จริง ๆ แล้วบล็อกเชน เป็นเทคโนโลยีเบื้องหลังบิทคอยน์ ซึ่งสามารถทำประโยชน์ได้มากกว่านี้

บล็อกเชน คือ ระบบการจัดเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่ง เป็นการจัดเก็บข้อมูลแบบไม่มีศูนย์กลาง โดยการให้ผู้ใช้งานในเครือข่ายทุกคนเป็นผู้บันทึกธุรกรรมที่เกิดขึ้นกับข้อมูลในระบบแทนศูนย์กลาง ทำให้ผู้ใช้งานทุกคนทราบถึงธุรกรรมที่เกิดขึ้นภายในระบบ โดยธุรกรรมที่จะถูกบันทึกนั้นจะต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้ใช้งานทั้งหมดของระบบก่อน และเมื่อมีการบันทึกข้อมูลแล้ว ข้อมูลภายในระบบจะถูกเปลี่ยนแปลงได้ยาก เนื่องจากผู้ใช้งานในระบบทุกคนจะมีข้อมูลการทำธุรกรรมเหมือนกัน หากใครก็ตามในระบบมีข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ไม่ตรงกับผู้อื่น ระบบจะทำการลบข้อมูลนั้นแล้วบันทึกข้อมูลที่ถูกต้องใหม่อีกครั้ง ทำให้ข้อมูลที่อยู่ในระบบบล็อกเชนมีความน่าเชื่อถือสูงมาก

คำถามต่อมา คือ บล็อกเชน จะช่วยบรรเทาปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างไร เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จะขออธิบายผ่านตัวอย่างกรณีการใช้งานดังนี้ 1.การใช้บล็อกเชนในการเบิกจ่ายสวัสดิการภาครัฐ (เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย) ซึ่งอดีตที่ผ่านมาพบว่าเกิดปัญหาการจ่ายเงินซ้ำซ้อน และการจ่ายเงินไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้หากมีการนำบล็อกเชน มาประยุกต์ใช้โดย การบันทึกข้อมูลบัญชีของผู้ได้รับสวัสดิการในรูปแบบดิจิทัลในเครือข่ายบล็อกเชน ก็จะทำให้ปัญหาเรื่องของการจ่ายเงินซ้ำซ้อนหมดไป เนื่องจากการที่มีบันทึกที่ตรวจสอบได้ว่าใครได้รับสวัสดิการแล้วบ้าง รวมถึงสามารถนำข้อมูลการเบิกจ่ายมาตรวจสอบได้ว่าการเบิกจ่ายดังกล่างตรงกับกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่

2.การแก้ปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่ผ่านมาพบว่าเกิดปัญหาการปลอมแปลงเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน การรุกล้ำเขตป่าสงวน การใช้ที่ดิน สปก. ผิดวัตถุประสงค์ การระบุขอบเขตที่ดิน ปัญหาเหล่านี้ จะสามารถลดลงได้เมื่อ มีการบันทึกข้อมูลเอกสารสิทธิและระวางที่ดินเข้าไปในระบบบล็อกเชน ซึ่งจะทำให้ข้อมูลมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ง่าย ทำให้การฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสารต่าง ๆ ทำได้ยากขึ้น

3.การใช้สมาร์ทคอนแทรค (Smart Contract) ในการเบิกจ่ายเงินในโครงการของรัฐ หลายครั้งที่การเบิกจ่ายเงินในโครงการของรัฐ เป็นไปโดยไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดการรับงานที่ไม่มีคุณภาพตามมาตรฐาน การละทิ้งงานก่อนที่งานจะสำเร็จ การทำโครงการที่ไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงกับประชาชน ปัญหาเหล่านี้สามารถถูกบรรเทาลงได้ เมื่อมีการใช้สมาร์ทคอนแทรค ซึ่งก็คือการนำสัญญาในการทำโครงการ บันทึกเป็นเงื่อนไขและเก็บเข้าไปในระบบบล็อกเชน ซึ่งเป็นผลให้ต้องมีการดำเนินการตามเงื่อนไขของสัญญาให้ครบก่อน เมื่อบรรลุทุกเงื่อนไขสัญญาแล้ว การเบิกจ่ายเงินตามสัญญาจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนได้ โดยการเปิดให้ประชาชนสามารถลงคะแนนสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนโครงการที่รัฐบาลกำลังจะดำเนินการ เพื่อแสดงถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

ตามตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้นั้น หากประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม จะสามารถบรรเทาปัญหาด้านการคอร์รัปชันลงได้ แต่อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีบล็อกเชนก็ยังเป็นเพียงตัวช่วยเท่านั้น การแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้หมดไปได้นั้นยังคงต้องอาศัยคนเป็นหลักในแก้ไขปัญหา ผ่านการปลูกฝังค่านิยมของการไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน ปัญหานี้จึงจะสามารถแก้ไขอย่างยั่งยืนได้