ความพร้อมรถพลังงานไฟฟ้า

ความพร้อมรถพลังงานไฟฟ้า

ช่วงนี้กระแสรถพลังงานไฟฟ้า ดูจะซาๆ ลงไป จากที่ช่วงต้นปีมีความคึกคักอย่างมาก

หลังจากที่ภาครัฐ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ และกรมสรรพสามิต ทำให้หลายคนคาดหวังที่จะได้เห็นรถกลุ่มนี้เกิดขึ้นในบ้านเราเร็วๆ 

แต่อย่าลืมว่า รัฐ กำหนดกรอบเวลาให้ผู้ประกอบการยื่นขอรับการส่งเสริม 2 ช่วง คือ หากจะลงทุนผลิตรถไฮบริด จะต้องยื่นภายในปีนี้ แต่ถ้าจะลงทุนในกลุ่มรถ ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถไฟฟ้า 100% (BEV:Battery Electric Vehicle) จะต้องยื่่นภายในสิ้นปีหน้า ดังนั้นยังมีเวลาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้คิดทบทวนในรายละเอียดต่างๆ ก่อน

ซึ่งช่วงเวลานี้ก็คงจะต้องทำการบ้านกันหลายข้อทีเดียว ทั้งเรื่องของต้นทุน พันธมิตร ความพร้อมในด้านต่างๆ แนวโน้มการตอบรับของผู้บริโภคที่จะต้องคาดการณ์ให้แม่นยำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยเฉพาะในกลุ่มรถ บีอีวี 

สัปดาห์ก่อน ผมมีโอกาสเดินทางไปเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพื่อร่วมงาน CES 2017 หรืองาน The Consumer Electronics Show ซึ่งเป็นงานที่ผู้คนให้ความสนใจกันมา โดยผมไปกับฮอนด้า ซึ่งปีนี้เข้าร่วมงานที่เซี่ยงไฮ้เป็นครั้งแรก พร้อมแสดงเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคตผ่านทางยานพาหนะส่วนบุคคล ที่ชื่อว่า ยูนิคับ รถยนต์ นิววี รถจักรยานยนต์ที่ทรงตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้ขาตั้ง แหล่งเก็บสำรองไฟฟ้า และระบบจัดการจราจร 

แต่ว่าเรื่องที่จะพูดถึงเกี่ยวกับจีนเท่าที่พบเห็นสองสามวันก็คือ เรื่องของตลาดรถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า จีน เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก ส่วนหนึ่งเพราะต้องการลดมลพิษในเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นปัญหาค่อนข้างรุนแรง และก็ยังเป็นประเทศที่ความพร้อมในเรื่องนี้หลายๆ ด้าน ทั้งการผลิตรถ การผลิตแบตเตอรี การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงที่หลากหลาย สาธารณูปโภคต่างๆ รวมไปถึงความพร้อมในการกำหนดนโยบายและบังคับใช้ 

ในหลายพื้นที่มีจุดชาร์จไฟเอาไว้บริการ รวมไปถึงบริษัท หรือโรงงานหลายแห่ง ก็ทำจุดชาร์จไฟไว้จำนวนมาก (ส่วนบ้านเราถึงวันนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า จะเลือกใช้หัวชาร์จแบบใด จะเป็นคอมโบ 1 คอมโบ 2 หรือ ชาเดโม) 

 และหากสังเกตบนท้องถนน จะพบว่ารถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไปที่วิ่งไปมานั้น มีป้ายทะเบียนสีพื้น 2 สี คือ สีฟ้ากับสีเขียว ความแตกต่างของสีไม่เกี่ยวกับทะเบียนเลขสวยที่ต้องประมูลกันหลักแสนหลักล้าน

ความแตกต่างของสี เป็นการระบุประเภทของรถ โดยสีฟ้า คือรถทั่วไป แต่ถ้าเป็นป้ายทะเบียนสีเขียวคือรถพลังงานไฟฟ้า ซึ่งช่วงนี้การขอป้ายสีเขียวทำได้ง่ายกว่า ส่วนป้ายฟ้านั้นขอยาก เนื่องจากประชากรรถในบางพื้นที่หนาแน่น และยังเสียภาษีป้ายที่ค่อนข้างแพง ขณะที่ป้ายเขียวไม่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่บ่งบอกได้อย่างหนึ่งว่า ต่อให้เป็นประเทศที่มีความพร้อมทั้งด้านแหล่งพลังงาน และเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี ผลิตรถเอง แต่ก็ยังต้องหาแนวทางส่งเสริมอื่่นๆ เพื่อที่จะให้เกิดการใช้งานในวงกว้างให้ได้ 

เพราะฉะนั้นบ้านเรา ที่กำลังเริ่มต้นในแนวทางนี้ และยังมีเวลาอีกพัก ก็ควรจะต้องคิดหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้จริงในอนาคต นอกเหนือจาการส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ผลิตแล้ว ก็จะต้องส่งเสริมการใช้งานของผู้บริโภคด้วยเช่นกันครับ