อนาคตของจีนไม่ได้อยู่ที่คนหนุ่มสาว แต่อยู่ที่คนสูงวัยต่างหาก

อนาคตของจีนไม่ได้อยู่ที่คนหนุ่มสาว แต่อยู่ที่คนสูงวัยต่างหาก

ปัจจุบัน จีนมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มากถึง 222 ล้านคน คิดเป็น 16% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

 และจะเพิ่มเป็น 400 ล้านคนในปี ค.ศ. 2033 (จำนวนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นปีละ 10 ล้านคน!!)

คาดกันว่า เมื่อถึงปี ค.ศ. 2050 สินค้าและบริการที่เจาะตลาดผู้สูงวัย จะมีมูลค่าสูงถึง 1 ใน 3 ของ GDP ของประเทศจีนเลยทีเดียว

โอกาสทางธุรกิจมหาศาลในจีนจึงอยู่ที่ตลาดผู้สูงวัย เศรษฐกิจในอนาคตของจีนจะรุ่งหรือร่วง ก็อยู่ที่คุณตาคุณยายทั้งหลาย จะจับจ่ายใช้สอยสินค้าและบริการต่างๆ มากน้อยเพียงใด การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจีนที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงกำลังพลิกโฉมภาคธุรกิจเกือบทุกอย่างในจีน

ตอนนี้ ธุรกิจอาหารที่มาแรง ได้แก่ ธุรกิจอาหารเสริม และอาหารเพื่อสุขภาพ เมื่อเดือนที่แล้ว เพิ่งมีข่าวฮือฮาว่า เนสเล่ได้เปิดตัวนมผงสูตร 50+ สำหรับตลาดจีนโดยเฉพาะ มีสารอาหารและวิตามินสำหรับผู้สูงวัยอายุ 50+ บำรุงร่างกายและสมอง

ภาคการเงินในจีนเริ่มออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่เจาะตลาดผู้สูงวัยที่เกษียณและอยากบริหารเงินออม มี

ผู้บริหารแบงค์ใหญ่แห่งหนึ่งในจีนเพิ่งให้สัมภาษณ์ว่า ในสหรัฐฯ พนักงานในภาคการเงินมากกว่า 60% ทำหน้าที่ให้บริการลูกค้าที่เกษียณอายุ ซึ่งภาคการเงินของจีนก็กำลังจะเป็นเช่นนั้นในอีกไม่กี่ปี

แม้อย่างธุรกิจรถยนต์ เมื่อไม่นานมานี้ รถยนต์ยี่ห้อ Volkswagen ก็ออกโฆษณาเจาะกลุ่มลูกค้าผู้สูงวัยในจีนเป็นพิเศษ แทนที่จะออกโฆษณาเจาะกลุ่มตลาดหนุ่มสาวเหมือนในประเทศอื่น หรืออย่างความพยายามในการวิจัย Self-Driving Car ของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ของจีนอย่าง Baidu ส่วนหนึ่งก็มาจากความมุ่งหมายที่จะรองรับสังคมผู้สูงวัยในอนาคต

ในภาคการท่องเที่ยว ปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นผู้สูงวัยเดินทางไปต่างประเทศ 5 ล้านคนต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคนต่อปีภายในปี ค.ศ. 2030 บริษัททัวร์ยักษ์ใหญ่ของจีนเริ่มทำการศึกษาว่าผู้สูงวัยชอบโปรแกรมทัวร์แบบไหน และพยายามออกแบบทัวร์ให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าผู้สูงวัยมากขึ้น เช่น จัดให้มีการทำสปา ช็อปปิ้งสินค้าบำรุงสุขภาพ จัดตารางเวลาไม่ให้แน่นหรือหนักจนเกินไป

ต่อไปน่าจะมีชาวจีนเดินทางมารักษาในโรงพยาบาลในไทยเพิ่มขึ้นอีกปีละหลายเท่าตัว เพราะคุณภาพการรักษาในไทยยังดีกว่าคุณภาพ (และราคา) การรักษาที่จีน

ภายในประเทศจีน ธุรกิจด้านการรักษาพยาบาลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ก็คือ ศูนย์ดูแลผู้สูงวัย (Nursing Home) ซึ่งตอนนี้ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ในปัจจุบัน มีจำนวนเตียงเพียง 25 เตียง ต่อผู้สูงวัย 1,000 คน จะเห็นได้ว่ายังมีช่องว่างให้ขยายตลาดอีกมาก

ทัศนคติของคนจีนต่อศูนย์ดูแลผู้สูงวัยก็เปลี่ยนแปลงจากอดีตอย่างมาก ปัจจุบัน เริ่มมีศูนย์ดูแลชั้นดีที่เจาะกลุ่มตลาดบนมากขึ้น (ว่ากันว่าแน่นถึงขั้นต้องจองคิวล่วงหน้าตั้งแต่ยังหนุ่ม) เริ่มมีข่าวคนมีชื่อเสียงเลือกอยู่ศูนย์ดูแลผู้สูงวัยแทนที่จะอยู่บ้านกับลูกหลาน นอกจากนั้น เทคโนโลยีสมัยใหม่ยังช่วยให้ผู้สูงวัยที่อยู่ในศูนย์ดูแลสามารถติดต่อพูดคุยกับลูกหลานได้ตลอดผ่านทางวีแชท

นักวิเคราะห์มองว่า ศูนย์ดูแลผู้สูงวัยในจีนไม่มีวันเพียงพอกับความต้องการของตลาด จึงมีความจำเป็นต้องหาโมเดลดูแลผู้สูงวัยที่บ้านด้วย โดยอาจใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วย

บริษัทเทคโนโลยีของจีนจำนวนมากเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ เช่น นาฬิกาข้อมือที่วัดและเก็บข้อมูลสุขภาพของผู้ใช้ได้ และมีการทำ App เก็บข้อมูลสุขภาพ (Sync เข้ากับอุปกรณ์ เช่น นาฬิกาข้อมือ) โดยข้อมูลสุขภาพใน App จะอัพเดทส่งให้ลูกหลาน รวมทั้งส่งให้แพทย์เจ้าของไข้ด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ ยังมีการเปิดตัวหุ่นยนต์สำหรับดูแลผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม โดยสามารถเตือนให้ผู้ป่วยทานยาตามเวลา และติดตามการเคลื่อนตัวของผู้ป่วยในบ้านได้

สิ่งที่น่าสนใจมากขึ้นไปอีกก็คือ ผู้สูงวัยจีนไม่ได้เป็นเพียง “ลูกค้า” รายใหญ่ของภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็น “พลเมือง” จำนวนมากของรัฐบาลด้วย รัฐบาลจีนเริ่มพยายามเก็บข้อมูลผู้สูงวัย เพื่อนำมาวิเคราะห์ทำนโยบายตอบโจทย์ (เอาใจ) พลเมืองผู้สูงวัยในอนาคต

ตัวอย่างวิธีการอันชาญฉลาดของรัฐบาลกรุงปักกิ่งก็คือ ออกบัตรประชาชนผู้สูงวัยเป็นสมาร์ทการ์ด (เรียกชื่อว่าการ์ด Beijing Connect) โดยสามารถเข้าใช้บริการสวนสาธารณะ รถประจำทาง และรถใต้ดินฟรี รัฐบาลยังจะจ่ายเงินสวัสดิการเดือนละ 100 หยวน เข้าสมาร์ทการ์ดของแต่ละคน รวมทั้งให้โอนเงินจากธนาคารเข้ามาเพิ่มในสมาร์ทการ์ดได้ โดยสามารถใช้จับจ่ายซื้อสินค้าและบริการต่างๆ จากห้างร้านจำนวนมากในกรุงปักกิ่ง

ข้อมูลการใช้สมาร์ทการ์ดจะเก็บเป็น Big Data ให้รัฐบาลจีนวิเคราะห์ลักษณะการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย (เช่น ความถี่ของการใช้บริการสวนสาธารณะและระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งสินค้าและบริการที่เป็นที่นิยม) รัฐบาลจีนตั้งเป้าจะขยายการใช้สมาร์ทการ์ดให้คลอบคลุมประชากรผู้สูงวัย 20 ล้านคนในปักกิ่ง เทียนจิน และมณฑลเหอเป่ย ภายในปี ค.ศ. 2018

เทรนด์ใหม่ในจีนอยู่ที่จะตอบโจทย์ตลาดผู้สูงวัยอย่างไร เนื่องจากตลาดขนาดมหึมา ภาคธุรกิจจีนจึงมีแรงจูงใจที่จะคิดโมเดลสินค้าและบริการใหม่ๆสำหรับผู้สูงวัย ส่วนรัฐบาลจีนเองก็ได้รับแรงกดดันให้ออกนโยบายเอาใจผู้สูงวัยมากขึ้น 

สำหรับไทยที่กำลังจะเป็นสังคมผู้สูงวัยเช่นกัน (แม้เราอาจไม่ค่อยรู้ตัวเองว่าแก่เร็ว) ก็น่าจะติดตามการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในจีน เพื่อดูว่ามีแนวคิดอะไรดีๆ ที่อาจนำมาปรับใช้กับสังคมเราได้ครับ