สร้างสื่อกลาง หาทางออกให้ผู้พ้นโทษ ด้วยพันธบัตรเพื่อสังคม

สร้างสื่อกลาง หาทางออกให้ผู้พ้นโทษ ด้วยพันธบัตรเพื่อสังคม

ประเทศไทยมีผู้พ้นโทษ จากระบบราชทัณฑ์ปีละกว่าหนึ่งแสนคน โดยปีงบประมาณ 2559 ผู้พ้นโทษมีจำนวน 129,635 คน

 จำนวนนี้มีทั้งผู้พ้นโทษที่สามารถกลับสู่สังคมได้ตามปกติ และผู้พ้นโทษที่ประสบปัญหาในการดำรงชีวิตจากการถูกกีดกันจากสังคม ไปจนถึงผู้พ้นโทษที่กลับไปสู่วงจรเดิมหรือการกระทำผิดซ้ำ

แม้ว่าการกระทำผิดซ้ำของผู้พ้นโทษ จะมีแรงจูงใจจากหลายสาเหตุ แต่เชื่อว่าความช่วยเหลือผู้พ้นโทษที่เป็นรูปธรรม น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาการกลับสู่วงจรเดิมของผู้พ้นโทษ จึงเป็นที่น่าสนใจว่ารูปแบบความช่วยเหลือในปัจจุบัน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พ้นโทษ และป้องกันไม่ให้ผู้พ้นโทษกลับไปอยู่วงจรเดิมได้เพียงพอหรือยัง และจะสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร

ความช่วยเหลือผู้พ้นโทษในสังคมไทยในปัจจุบัน อาจมีทิศทางความช่วยเหลือที่ไม่ชัดเจนและครอบคลุมเพียงพอ ดังที่องค์กรที่ช่วยเหลือผู้พ้นโทษอย่างเป็นรูปธรรมนั้นมีค่อนข้างน้อย เพราะรูปแบบความช่วยเหลือมักจะเป็นความช่วยเหลือตั้งแต่อยู่ในเรือนจำ ซึ่งเป็นระยะก่อนพ้นโทษ เช่น การอบรมคุณธรรม การช่วยเหลือด้านการฝึกอาชีพ การจัดการศึกษา เป็นต้น

หากแต่ความช่วยเหลือเมื่อพ้นโทษไปแล้วนั้นยังไม่มีระบบและกลไกที่ชัดเจน โดยไม่มีหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลผู้พ้นโทษโดยเฉพาะ แต่จะเป็นความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งการช่วยเหลือร่วมกัน เช่น กรมราชทัณฑ์ที่มีระบบติดตามผู้พ้นโทษร่วมกับกรมการปกครอง และการช่วยเหลือทางการเงินผ่านการให้เงินทุนกู้ยืมในการประกอบอาชีพโดยหลายหน่วยงาน เช่น กรมราชทัณฑ์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่อาจจะไม่ได้บูรณาการฐานข้อมูลร่วมกัน

ในส่วนของความช่วยเหลือจากภาคสังคมนั้น พบองค์กรภาคสังคมที่ช่วยเหลือผู้พ้นโทษไม่กี่แห่ง เช่น วิสาหกิจสุขภาพชุมชน (SHE) ที่เป็นกิจการเพื่อสังคม โดยการให้บริการนวดดัดสรีระโดยสตรีผู้พ้นโทษ มูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน ที่เป็นองค์กรภาคสังคมที่เป็นบ้านกึ่งวิถีสำหรับผู้พ้นโทษ เป็นต้น รวมถึงการระดมทุนหรือการจัดกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้พ้นโทษในลักษณะเดียวกับผู้ด้อยโอกาสกลุ่มอื่น ๆ นั้นยังมีอยู่อย่างจำกัด

เมื่อพิจารณาถึงระบบความช่วยเหลือผู้พ้นโทษในต่างประเทศ กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือการจัดตั้งองค์กรหรือหน่วยบริการที่เป็นรูปธรรมเพื่อช่วยเหลือผู้พ้นโทษ โดยใช้เครื่องมือทางการเงินรูปแบบใหม่อย่างพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Impact Bond – SIB) ที่กำหนดเป้าหมายของโครงการอย่างชัดเจนว่าเพื่อลดการกระทำผิดซ้ำของผู้พ้นโทษ

กลไกของพันธบัตรเพื่อสังคมนั้นเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับประเทศไทย โดยสามารถอธิบายได้อย่างคร่าว ๆ ว่าเป็นกลไกการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาสังคม โดยภาคเอกชนหรือภาคสังคมจะลงทุนทางการเงินให้กับองค์กรภาคสังคมหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อดำเนินโครงการเชิงป้องกัน โดยจะมีองค์กรหรือหน่วยงานที่มักมาจากภาครัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกและจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้ลงทุนพร้อมกับผลตอบแทนเมื่อโครงการประสบความสำเร็จ โดยอาจมีองค์กรกลางเป็นผู้จัดการโครงการ และจัดหาผู้วัดประเมินความสำเร็จของโครงการด้วยตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือและเหมาะสม

การออกพันธบัตรเพื่อสังคม เพื่อจัดตั้งบริการช่วยเหลือผู้พ้นโทษถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย เพราะเป็นการตอบสนองกับข้อจำกัดของภาคส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการแก้ไขปัญหาสังคม ตั้งแต่ภาคเอกชนที่พร้อมช่วยเหลือทางการเงิน แต่อาจไม่มีความเข้าใจต่อปัญหาอย่างแท้จริง ภาคสังคมที่มีความพร้อม ความสามารถและเข้าใจสภาพปัญหา แต่ขาดแคลนเงินทุน และภาครัฐที่เป็นผู้ดำเนินงานแก้ไขปัญหาสังคม แต่มีภาระงานจำนวนมากเกินกว่าจำนวนบุคลากร และมีงบประมาณอย่างจำกัด

ตัวอย่างรูปแบบการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้พ้นโทษและลดการกระทำผิดซ้ำในที่นี้ คือ โครงการ Peterborough Social Impact Bond ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็น Social Impact Bond แรกของโลก โครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการกระทำความผิดซ้ำของผู้พ้นโทษ จึงบูรณาการความร่วมมือจากองค์กรและอาสาสมัครจากภาคสังคมในหลาย ๆ ด้าน เพื่อช่วยเหลือผู้พ้นโทษผ่านบริการทางสังคม ชื่อ “One service” ที่พยายามช่วยเหลือผู้พ้นโทษแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาที่อยู่อาศัย ด้านการรักษาพยาบาล ด้านการช่วยเหลือทางการเงิน ด้านจิตวิทยาครอบครัว รวมถึงด้านการช่วยฝึกอาชีพและการจัดหางานให้แก่ผู้พ้นโทษ ซึ่งโครงการสามารถลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำของกลุ่มผู้พ้นโทษที่รับบริการโดยเปรียบเทียบกับผู้พ้นโทษกลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ (Control Group)

อย่างไรก็ดี หากจะนำไอเดียและแนวปฏิบัตินี้มาใช้กับประเทศไทย ก็มีข้อควรระวังหลายประการ เช่น ควรติดตามผลอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นโครงการระยะยาว และควรเลือกโครงการและตัวชี้วัดที่เหมาะสม เพราะเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนต่อเมื่อโครงการประสบผลสำเร็จเท่านั้น อาจนำไปสู่แรงจูงใจให้มุ่งหวังความสำเร็จมากกว่าการแก้ไขปัญหาสังคมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการทุ่มงบประมาณเกินความจำเป็น การเลือกโครงการที่ง่าย และการเลือกตัวชี้วัดความสำเร็จที่กว้างจนเกินไป

โครงการ Peterborough ชี้ให้เห็นถึงรูปแบบความช่วยเหลือผู้พ้นโทษที่เป็นรูปธรรม ที่ช่วยลดอัตราการถูกต้องขังซ้ำได้ หากนำมาปรับใช้ในประเทศไทย ก็อาจช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ โดยออกแบบโครงการอย่างรัดกุม เพื่อให้ผลลัพธ์ของโครงการสะท้อนการแก้ปัญหาสังคมอย่างแท้จริง