อนาคต ยูโร และยุโรป (ตอนที่ 1)

อนาคต ยูโร และยุโรป (ตอนที่ 1)

ความมั่นคงของยูโร และสหภาพยุโรป น่าจะดูดีขึ้นจากผลการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนของฝรั่งเศส

 ซึ่งขณะนี้ดูเหมือน พรรคของประธานาธิบดี Macron ทำท่าจะมาแรงซึ่งดูเหมือนจะบอกว่า คนฝรั่งเศสคงเบื่อกับความถดถอยของประเทศ ที่มีติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงการปฏิรูปเกิดขึ้นได้จริงๆ เสียที ถ้าพรรคของ Macron ได้เสียงข้างมาก ก็เปรียบเสมือนการให้ฉันทานุมัติ หรืออำนาจเบ็ดเสร็จแก่ผู้นำประเทศในการปฏิรูป ฝ่ายสนับสนุนยูโรและสหภาพยุโรปน่าจะยินดีปรีดามีความสุขอย่างน้อยก็ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ เศรษฐกิจของยุโรปดูเหมือนกำลังจะค่อยๆ ฟื้นขึ้นมาบ้างทีละเล็กทีละน้อยอย่างช้าๆ ตลาดการเงินนิ่งมีเสถียรภาพ แต่ถ้าเรากลับมาดูปัญหาพื้นฐาน ปัญหาโครงสร้าง โดยเฉพาะของยูโร (ขณะนี้มีสมาชิก 19 ประเทศ) วิกฤติที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.2010 หรือเกือบ 7 ปี มาแล้ว ถ้าพูดถึงการปฏิรูป มีการปฏิรูปในเรื่องต่างๆอยู่พอสมควร สำเร็จมากบ้าง น้อยบ้าง ต่างกันในแต่ละประเทศ แต่ความสำเร็จและความก้าวหน้าที่แท้จริงยังอยู่ห่างไกล 

ไม่ต้องดูอื่นไกล ปัญหาของกรีซ ซึ่งตอนนี้ดูเงียบ มันอาจจะปะทุขึ้นมาอีกเมื่อไรก็ได้ ในที่สุดยูโรจะดำรงอยู่ได้ สหภาพการเงินนี้ จะต้องสามารถบรรลุคำสัญญาที่ให้ไว้กับชาวยุโรปว่า การมีเงินสกุลเดียวจะทำให้ยุโรป มีความมั่นคง เป็นหนึ่งเดียวกัน 

ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความมั่งคั่ง มีเสถียรภาพ และผลของความเจริญเติบโตกระจายอย่างทั่วถึง การที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ยุโรปจะต้องเติบโตในอัตราที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ อัตราการว่างงานจะต้องลดลง นี่เป็นเงื่อนไขขั้นต่ำ ขั้นแรก ถ้าเงื่อนไขนี้ผ่านก็เชื่อได้ว่า คนยุโรปส่วนใหญ่คงสนับสนุนระบบยูโร การเมืองประชานิยมของฝ่ายขวาจัด ที่ต้องการแยกให้ประเทศแยกออกมาจากยูโร หรืออียู ก็จะได้รับความนิยมน้อยลง

เพื่อให้เห็นภาพและความน่าจะเป็นของอนาคตยูโร เราลองมาดูว่าเศรษฐกิจของยูโรที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี ค.ศ. 1999 และความรู้สึกของคนยุโรปต่อสหภาพการเงินนี้นั้นเป็นอย่างไร สิ่งที่เราพบค่อนข้างชัดเจนมากว่า เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับก่อนมียูโรบอกชัดเจนว่าการก่อตั้งยูโรไม่ประสบความสำเร็จไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง จะว่าล้มเหลวก็ว่าได้ทั้งโดยตัวมันเอง หรือเปรียบเทียบกับประเทศอื่น(ในทางการเมือง เราจะยังไม่อภิปรายในขณะนี้ ยุโรปมีความมั่นคง และจัดว่าประสบความสำเร็จ ไม่มีข้อกังขา) เห็นได้จาก

กลุ่มยูโรฟื้นตัวหลังวิกฤติไม่ดีเท่าสหรัฐ เห็นได้ชัดว่า ดัชนีที่มีฐาน 100 ในปี 2007 ของกลุ่มยูโรยังอยู่ที่ 96 ในปี 2013 และ 98 ในปีถัดมา แต่ของสหรัฐเขยิบขึ้นไปที่ 108 อัตราความเจริญเติบโตของ GDP ต่อหัว ของกลุ่มยูโรในช่วง 15 ปี (ค.ศ. 1999-2014 ) โตเพียงแค่ 11.1% ซึ่งค่อนข้างต่ำ และต่ำกว่ากลุ่มประเทศนอกยูโร เช่น สวีเดน(24.2%) อังกฤษ (19.5%) สหรัฐฯ (16.9%) ญี่ปุ่น (13.1%) 

ที่น่าผิดหวังกว่านั้น ก็คือฝ่ายการเมืองให้ความหวังแก่ผู้ที่เข้าร่วมซึ่งมีรายได้ค่อนข้างต่ำ เช่น ประเทศทางยุโรปใต้ ว่าสหภาพการเงินจะเป็นกลไกสำคัญในการลดช่องว่างระหว่างประเทศที่มีรายได้สูงทางเหนือ กับประเทศที่มีรายได้ต่ำทางใต้ หรือเกิดการไล่กวด เกิด Convergence จริงอยู่ มันมี Convergence ในช่วงแรกๆ คือ ประเทศรายได้ต่ำทางใต้โตในอัตราที่สูงกว่า กลุ่มยุโรปทางเหนือ ในภาพรวม ในช่วงที่ 15 ปี อิตาลีโตในอัตรา -2.8 กรีซ 2.9 โปรตุเกส 2.7 สเปน 9.6 เมื่อเทียบกับฝรั่งเศส 10.5 เนเธอร์แลน์ 12.3 เบลเยียม 13 ลักเซมเบิร์ก 17 ฟินแลนด์ 17.6 ออสเตรีย 17.7 เยอรมัน 21.2 ไอร์แลนด์ 22.2 ในภาพรวม มันจึงเกิด Divergence ในรายได้ระหว่าง ยุโรปเหนือกับยุโรปใต้

เป็นที่ทราบกันดีปัญหาสาหัสสากรรจ์ คือปัญหาการว่างงาน จริงอยู่ก่อน เกิดยูโร ยุโรปมีปัญหาเรื่องการว่างงานค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แต่เมื่อเกิดวิกฤติ ปัญหาหนักขึ้นโดยเฉพาะการว่างงานในหมู่คนหนุ่มสาว ในปีค.ศ. 2014 กลุ่มยูโรปยังมีการว่างงานสูงถึง 11.6% สูงกว่าเมื่อเริ่มก่อตั้งยูโร(9.5) ขณะที่สหรัฐฯลดลงมาเหลือ 5% - 6% ประเทศในกลุ่มยูโรมีอัตราการว่างงานที่ต่างกันมาก แม้กระทั่งในยุโรปเหนือ ฝรั่งเศส อัตราว่างงานค่อนข้างสูง (10.2) เช่นเดียวกับเยอรมนีและไอร์แลนด์ (11.3 และ 11.2) 

ที่ค่อนข้างต่ำคือ ออสเตรีย (5.6) ที่สูงน่าใจหายคือสเปน (24.5) กรีซ (26.5) โปรตุเกส (14.1) อิตาลี(12.7) แล้วในประเทศเหล่านี้ที่หนักกว่านั้นก็คืออัตราการว่างงาน 21% ของหนุ่มสาวใน Eurozone และ 52% ของกรีซ 46% ของสเปน กรีซมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 26% ในช่วงปีค.ศ.2010-2011

วิกฤติของยุโรป นำมาซึ่งความแตกแยกนั้น แบ่งยุโรปเหนือและยุโรปใต้ให้ชัดเจนมากขึ้นในเกือบทุกมิติ ยุโรปเหนือส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้ มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล เด่นมากคือ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ตรงกันข้ามคือยุโรปใต้ ขาดดุลและเป็นลูกหนี้ ในปี 2008 กรีซขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึงเกือบ 13 % ของ GDP สะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนเมื่อดูฐานะทรัพย์สินหนี้สินระหว่างประเทศ (Net International investment position)ของประเทศยุโรปใต้ ในปี 2014 ซึ่งเยอรมนีมีสินทรัพย์ระหว่างประเทศสุทธิ 45% ของ GDP ลักเซมเบิร์ก (215%) เบลเยียม(50%) อิตาลีมีหนี้สินระหว่างประเทศสุทธิ 30% ของ GDP สเปน (-90 %GDP เครื่องหมายลบบอกถึงหนี้สินสุทธิ) กรีซและอิตาลี ( -115 %GDP) 

วิกฤติกรีซในช่วงแรก คนมักจะนึกว่าปัญหาหนี้ของยุโรป เป็นหนี้ของรัฐบาล แต่เอาเข้าจริง จำนวนมากเป็นปัญหาหนี้ของเอกชน ที่ก่อตัวขึ้นสูงมากในช่วงฟองสบู่ ก่อนปี 2008 โดยเฉพาะกรณีของไอร์แลนด์และสเปน หนี้ของรัฐบาลกลางของกลุ่มยูโร 19 ประเทศ ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก จากปี 1999 ( 70% ของ GDP เพิ่มเป็น 90% ในปี 2013 แต่ที่เพิ่มขึ้นมากคือไอร์แลนด์ (125% ต่อ GDP) โปรตุเกส(จาก 50% เป็น 130% ต่อ GDP) กรีซ(จาก 80% เป็น 170% ) 

ขณะที่หนี้เอกชนของเยอรมนีลดลง หนี้เอกชนในหลายประเทศเพิ่มขึ้นสูงมาก ในช่วง 12 ปี (2001-2013) ในส่วนของกรีซเพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 140% ของ GDP โปรตุเกส จาก 130% เป็น 220% สเปนจาก 105% เป็น 130% ไอร์แลนด์จาก 140% เป็น 290%

วิกฤติยุโรปจึงไม่ใช่วิกฤติทางการคลังของภาครัฐ แต่เป็นวิกฤติของภาคธนาคารและหนี้เอกชนจากภาวะฟองสบู่ ซึ่งระบบยูโร มีส่วนช่วยสนับสนุน