รัฐเพิ่มความเข้มงวดกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรง (จบ)

รัฐเพิ่มความเข้มงวดกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรง (จบ)

สัปดาห์นี้เรามาศึกษาพระราชบัญญัติขายตรง และตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ในส่วนสุดท้ายกันนะคะ

นอกจากกฎหมายจะระบุว่าผู้ที่ประสงค์ประกอบธุรกิจขายตรง หรือตลาดแบบตรง จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด และต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงแล้ว กฎหมายใหม่ยังกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมการประกอบธุรกิจขายตรง และตลาดแบบตรง และคุ้มครองผู้บริโภค โดยกำหนดให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียน เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย (มาตรา 38/5)

ทั้งนี้กฎหมายให้อำนาจแก่รัฐมนตรีที่รักษาการ (ซึ่งก็คือ นายกรัฐมนตรี) ในการออกกฎกระทรวงโดยกำหนดวงเงิน และรายละเอียดให้แตกต่างกัน โดยคำนึงถึงขนาดหรือประเภทของการประกอบธุรกิจก็ได้ และกำหนดว่าจะต้องมีการทบทวนวงเงินของหลักประกันทุก 3 ปี โดยหลักประกันตามมาตรานี้ ได้แก่ เงินสด หนังสือค้ำประกันของธนาคาร หรือพันธบัตรรัฐบาลไทยหรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ตามที่คณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงประกาศกำหนด

ในกรณีที่มีการวางหลักประกันเป็นเงินสดไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน นายทะเบียน (เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) มีหน้าที่ที่จะต้องเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์แยกเป็นแต่ละบัญชี เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงแต่ละราย ดอกผลที่เกิดจากเงินฝากจะตกเป็นของผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงที่วางหลักประกันนั้น

ประเด็นที่น่าสนใจคือ หลักประกันที่ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงวางไว้นั้นกฎหมายระบุว่า ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 38/7 อย่างไรก็ดี นั่นไม่ได้หมายความว่าผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย จากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง จะไม่สามารถได้รับประโยชน์จากหลักประกันดังกล่าว เพราะตามมาตรา 41/5 บัญญัติว่า

“เมื่อมีผู้ร้องเรียนหรือปรากฏต่อนายทะเบียนว่าผู้บริโภคผู้ใดได้รับความเสียหายจากเหตุ ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงไม่ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายสินค้าหรือบริการหรือตามพระราชบัญญัตินี้

(2) ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงถูกเพิกถอนทะเบียนตามมาตรา 42

ให้นายทะเบียนดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริงโดยเร็ว และให้รับฟังคำชี้แจงของผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ซึ่งถูกกล่าวหาประกอบด้วย และเสนอคณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยต่อไป ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด”

และมาตรา 41/6 บัญญัติว่า

“เมื่อปรากฏผลการพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 41/5 ว่าผู้บริโภคผู้ใดได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายใดและเป็นจำนวนเงินเท่าใด ให้นายทะเบียนจ่ายเงินจากหลักประกันที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงรายนั้นวางไว้เพื่อชดเชยความเสียหายดังกล่าว”

เห็นอย่างนี้แล้วผู้บริโภคก็น่าจะมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นว่า หากเกิดความเสียหายขึ้น ตนก็มีโอกาสที่จะได้รับการชดเชย จากหลักประกันที่กฎหมายกำหนด ให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงวางไว้ ประเด็นที่น่าติดตามกันต่อไปก็คือ กฎกระทรวงจะกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจวางหลักประกันเป็นจำนวนเท่าใด และจะเพียงพอที่จะชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่ หากความเสียหายมีจำนวนมาก หลักประกันก็อาจจะไม่เพียงพอก็ได้ ดังนั้น หลักประกันจึงอาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการคุ้มครองผู้บริโภคตามกฎหมายนี้ หากแต่จะต้องมีการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค ก็ควรจะต้องใช้ความระมัดระวังสอดส่องควบคู่กันไปด้วย เพื่อป้องกันความเสียหาย

พบกันใหม่คราวหน้าค่ะ