อิหร่าน: สิ่งที่เห็นและสิ่งที่เป็น

อิหร่าน: สิ่งที่เห็นและสิ่งที่เป็น

อิหร่าน: สิ่งที่เห็นและสิ่งที่เป็น

ในระยะเวลาที่ผ่านมา เกิดเหตุเศร้าสลดใจจากการก่อการร้ายหลายเหตุการณ์ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในประเทศเป้าหมายอย่างอังกฤษ และประเทศที่ไม่เคยเป็นเป้าหมายมาก่อนอย่างอิหร่าน

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารการเมืองระหว่างประเทศใกล้ชิดนัก อาจจะแปลกใจอยู่บ้างว่าทำไมสื่อตะวันตกจึงให้ความสำคัญกับการก่อการร้ายในอิหร่านครั้งนี้เป็นอย่างมาก เพราะในความคิดของคนทั่วๆไปจะมองว่าอิหร่านก็น่าจะเหมือนหลายๆประเทศในตะวันออกกลาง ที่มีการรบราฆ่าฟันกันเป็นเรื่องปกติ แต่อันที่จริงแล้วอิหร่านไม่เคยมีเหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้มาก่อนเลยนับตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติอิสลามในปี 1979 (เสี้ยวหนึ่งของเหตุการณ์นั้นปรากฏอยู่ในภาพยนตร์รางวัลออสการ์ปี 2012 เรื่อง Argo) ดังนั้น เหตุโจมตีรัฐสภาและสุสานอดีตผู้นำสูงสุดในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่สะเทือนขวัญคนอิหร่านเป็นอย่างมาก และเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญในมุมมองของนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ

ในช่วงที่มีข่าวความวุ่นวายในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางนี้ทำให้ผู้เขียนซึ่งเพิ่งมีโอกาสไปเยี่ยมเยือนประเทศอิหร่านแบบแบกกระเป๋าสัญจรเองมาหมาดๆ เห็นว่าการรับรู้จากสื่อกระแสหลักต่อประเทศ และประชาชนในประเทศนี้อาจแตกต่างจากที่เห็นและเป็นจริงๆอยากมากก็เป็นได้

โดยใครที่ได้เคยมีโอกาสไปสัมผัสประเทศอิหร่านด้วยตนเอง ก็จะพบว่าอิหร่านเป็นประเทศที่มีความสงบสุข ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส ช่างพูดช่างคุย และมีน้ำใจมากมายทั้งกับคนในประเทศและคนต่างชาติ ซึ่งเป็นเช่นนี้ในทุกเมืองที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือน แตกต่างจากความคิดความเชื่อดั้งเดิมโดยสิ้นเชิง

และแม้ว่าประเทศอิหร่านจะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมาเป็นระยะเวลานาน โดยเพิ่งได้รับการผ่อนปรนเมื่อปีที่แล้ว แต่ผู้คนก็ใช้ชีวิตแทบจะไม่แตกต่างอะไรจากคนไทยนัก นั่นคือ แทบทุกคนมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่งกายตามแฟชั่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือ แต่งตัวแทบจะเหมือนคนตะวันตก จะต่างก็เพียงสตรีต้องไม่เปิดเผยให้เห็นผิวกาย และเพิ่มผ้าคลุมผมหลากสีขึ้นมาเท่านั้น และผ้าคลุมผมที่ว่าก็ไม่ได้เป็นการคลุมมิดชิดปิดไรผมแต่อย่างใด การใส่ยีนส์รัดรูปในสตรีนั้นเห็นได้ทั่วไป เพียงแต่ต้องมีเสื้อตัวยาวคลุมสะโพกไว้อีกชั้นหนึ่งเท่านั้น (ยกเว้นในสถานที่สำคัญทางศาสนาที่ทุกคนต้องแต่งตัวรัดกุมเหมาะสม ซึ่งก็ไม่น่าจะต่างจากประเทศอื่นๆในโลก)

ในด้านเศรษฐกิจ อิหร่านนับเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รองจากประเทศซาอุดิอาระเบีย และมีขนาดพื้นที่ใหญ่ประมาณ 3 เท่าของไทย โดยในด้านจำนวนประชากร และขนาดเศรษฐกิจก็ใกล้เคียงกันกับไทยเรา กรุงเตหะรานซึ่งเป็นเมืองหลวงของอิหร่านนั้น ก็มีผู้คนหนาแน่นเป็นอย่างมาก และมีรถติดยาวเหยียดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเช่นเดียวกับมหานครใหญ่อื่นๆของโลก

ข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกิน นั้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นยี่ห้อที่เราใช้อยู่ทั้งสิ้น คนอิหร่านสามารถซื้อโค้ก สบู่ ยาสีฟัน ยาสระผม แบรนด์ตะวันตกจากห้างไฮเปอร์มาร์เก็ตได้เป็นปกติ มีร้านพิซซ่า ไอศครีม ไก่ทอด (ที่มีชื่อ และหน้าตาร้านละม้ายคล้ายแบรนด์ตะวันตกเป็นอย่างมาก)โดยผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นป้ายการจัดประชุมระดับภูมิภาคของบริษัทอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่อย่างยูนิลีเวอร์ในกรุงเตหะรานอีกด้วย

และเมื่อกล่าวถึง กลุ่มก่อการร้าย ISIS คนอิหร่านที่ผู้เขียนพบเจอก็ล้วนแล้วแต่แสดงความไม่พอใจกับการกระทำอันโหดเหี้ยมของกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ความขัดแย้งที่มีในปัจจุบันในโลกเริ่มแปรเปลี่ยนจากเชื้อชาติศาสนา มาเป็นการต่อสู้ระหว่างมนุษยธรรมกับความโหดร้าย

ดังนั้น เราในฐานะคนนอกซึ่งมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนกับหลายประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้ง พึงที่จะติดตามสถานการณ์ด้วยใจที่เป็นกลาง และเป็นกำลังใจให้ประชาชนของประเทศเหล่านี้ก้าวพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้นั่นเอง