“Library of Things” ห้องสมุดที่ให้ยืมทุกสรรพสิ่ง

“Library of Things” ห้องสมุดที่ให้ยืมทุกสรรพสิ่ง

สวัสดีค่ะ เชื่อว่าหลายคนคงพอได้ยินแนวคิดของเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing economy)และเศรษฐกิจหมุนเวียน(Circular economy) กันมาบ้างนะคะ

ฉบับนี้ดิฉันมีตัวอย่างของกิจการเพื่อสังคมที่อิงกับแนวคิดนี้มาเล่าสู่กันฟังค่ะ กิจการรายนี้มีชื่อว่า “Library of Things”(ไลบรารี่ ออฟ ธิงส์) หรือห้องสมุดที่มีทุกสรรพสิ่งที่สามารถให้ยืมได้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์แคมปิ้ง หรือแม้แต่เครื่องครัวต่างๆ โดยเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในเมืองเวสต์ นอร์วูด ประเทศอังกฤษ และมีฐานสมาชิกนับร้อยคนภายในเวลาเพียงครึ่งเดือน

“Library of Things”ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่ไฟแรงสามคน ได้แก่ เอมม่า, โซเฟีย และเบกซ์ ในวัยเพียง 25-26 ปี ที่มองเห็นโอกาสว่าจริงๆ แล้วเราสามารถประหยัดเงิน ได้สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในบริเวณใกล้เคียง และลดปริมาณขยะลงได้ด้วยการ “ให้ยืม” แบบนี้

“มันเป็นไอเดียที่หลายๆ คนเห็นด้วย เราได้คุยกับคนมากมายทั้งหนุ่มสาวและสูงวัย ซึ่งทุกคนเข้าใจและเห็นภาพตาม ว่าทำไมเราต้องซื้อของราคาแพงเพื่อใช้แค่ปีละ 1-2 ครั้ง แถมยังสร้างความรกให้แก่บ้านที่คุณอยู่อีกด้วย” โซเฟีย กล่าว ด้วยเหตุนี้ Library of Thingsจึงได้รับการตอบรับที่ดี โดยมีสมาชิกเข้าร่วมและแลกเปลี่ยนขอยืมสิ่งของกันทันทีที่เปิดร้าน อาทิ มีเด็กวัย 8 ขวบขอยืมอูเคเลเล่เพื่อทดลองหัดเล่นเป็นครั้งแรก คุณแม่รายหนึ่งมาขอยืมเต้นท์และเครื่องนอน เพื่อไปออกทริปแคมปิ้งที่เมืองอื่นกับครอบครัว เป็นต้น “นี่เป็นความคิดที่ดีมาก ผมเคยขอยืมเครื่องทำความสะอาดพื้นแบบไอน้ำเพื่อไปใช้ในหน่วยงานศูนย์กลางของชุมชน เพราะเราไม่มี และมันก็มีประโยชน์มาก” มาริโอ ชาวเมืองรายหนึ่งกล่าว

หลังจากที่ได้ทดลองเปิดร้านให้ยืมสิ่งของในเวสต์ นอร์วูดได้เป็นเวลา 3 เดือน ทีมงานก็สามารถระดมทุนได้ถึง 15,000 ปอนด์ หรือเกือบ 7 แสนบาทผ่านแคมเปญคลาวด์ฟันดิ้งเพื่อระดมทุนสร้าง Flagship Library of Things เพื่อเป็นหน้าร้านอย่างถาวร รวมถึงใช้เวลาอีกราวหนึ่งปีครึ่งเพื่อหาทำเลในการเปิดร้าน

“เรามองหาสถานที่ต่างๆ อย่างโรงรถ เพิง ผับเก่าๆ หรือร้านค้าต่างๆ ที่ต้องการการตกแต่งใหม่ ตอนแรกทางหน่วยงานของชุมชนดูเหมือนลังเลที่จะทำงานร่วมกับธุรกิจที่ใหม่มากอย่างเรา รวมถึงบริษัทผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็คาดหวังค่าเช่าสูงถึง 50,000 ปอนด์ (ประมาณ 2 ล้านบาท)” เอมม่า ผู้ร่วมก่อตั้งอีกรายกล่าว

แต่ไม่นานLibrary of Things ก็ได้รับความช่วยเหลือจากซูเปอร์มาร์เก็ตในท้องถิ่นที่มีชื่อว่า Community Shop เพราะแนวคิดของซูเปอร์มาร์เก็ตรายนี้เน้นไปที่ Sharing economy คล้ายกัน นั่นคือการรับอาหารส่วนที่เกินจากซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ และนำมาจำหน่ายใหม่โดยลดราคาลง 30% จากราคาปกติ

Library of Things ดูเข้ากันได้เป็นอย่างดีและเหมาะเจาะกับเมืองแห่งนี้มาก เหมือนได้ช่วยให้ผู้คนได้ประหยัดเงินและยังรู้จักกับเพื่อนบ้านมากขึ้น รวมถึงลดปริมาณขยะลงด้วยในเวลาเดียวกัน โดยห้องสมุดสิ่งของแห่งนี้ยังได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้คนนับร้อยและองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนการสร้างร้านด้วยตู้คอนเทนเนอร์จาก Lifeboat Studio รวมถึงการช่วยออกแบบโลโก้และกราฟฟิคต่างๆ จาก Kind Studio และยังมีองค์กรอีกหลายแห่งที่ช่วย Library of Things ด้วยการบริจาคสิ่งของและอุปกรณ์ต่างๆ อาทิ การบริจาคเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง เครื่องตัดหญ้า เครื่องทำความสะอาดผนัง หัวแร้งบัดกรีไฟฟ้า และเครื่องมืออื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงยังมีผู้บริจาคอุปกรณ์แบ็คแพ็คสำหรับปีนเขา เป็นต้น

ปัจจุบัน Library of Things ยังคงเปิดรับการบริจาค โดยเฉพาะสิ่งของที่มีมูลค่าสูงอาทิ เครื่องทำความสะอาดพรม ระบบนำทางจีพีเอส โปรเจคเตอร์ ลำโพง ไปจนถึงศาลาพักผ่อนขนาดเล็ก โดยปัจจุบันได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก RSA (Royal Society for the encouragement of Arts, Manufactures and Commerce) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอิสระในประเทศอังกฤษ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่ม Library of Things ให้ได้อีก 5 แห่งทั่วอังกฤษ

“ไม่นานนี้เราจะเห็น Library of Things ในห้องสมุดชุมชน โบสถ์ ไปรษณีย์ และอาจจะมีโครงการแบ่งปันความรู้ต่างๆ หรือมีพื้นที่ให้ชมภาพยนตร์ หรือได้ฝึกอาชีพร่วมกัน อะไรก็ได้ เพราะความฝันของพวกเราคือทำให้ Library of Things เป็นที่ที่ใครจะยืมอะไรที่ไหนก็ได้” เบกซ์ ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนกล่าว

นับว่า Library of Thingsเป็นอีกไอเดียของกิจการเพื่อสังคมที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียวค่ะ