บทเรียนเชิงนโยบาย ว่าด้วยพลังงานทดแทน

บทเรียนเชิงนโยบาย ว่าด้วยพลังงานทดแทน

กรณีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เตรียมปรับแผนพลังงานทดแทน

และพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579 หรือ เออีดีพี 2015 โดยเตรียมปรับเพิ่มในส่วนของเป้าหมายการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว โดยระบุว่าเป็นไปตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 40% จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% ของปริมาณความต้องการพลังงานไฟฟ้า (Energy) รวมสุทธิ ภายในปี 2579 หรือในอีกราว 20 ข้างหน้า

หากดูเป้าหมายของการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ถือว่าค่อนข้างมากพอสมควร แม้ว่าจะเป็นแผนที่ใช้เวลาอีกราว 20 ปี ซึ่งอาจมีการปรับแก้ได้เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป แต่การปรับเปลี่ยนดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อความรู้ความเข้าใจเรื่องพลังงานของประเทศอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไม่ได้รับความสนใจมากนัก จนกระทั่งมีการให้สิทธิประโยชน์หลายด้าน ทำให้มีผู้สนใจลงทุน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ดีขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้ในการผลิตด้วยต้นทุนที่ต่ำ

ข้อมูลที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) ซึ่งมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด เนื่องจากเทคโนโลยีราคาถูกลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสามารถแข่งขันได้ อีกทั้งสามารถติดตั้งได้หลายรูปแบบ ทั้งการติดตั้งแผงโซลาร์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือ โซลาร์รูฟท็อป  ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและมีแนวโน้มจะเกิดการลงทุนติดตั้งเพิ่มขึ้น รวมถึงโซลาร์บนพื้นดิน หรือโซลาร์ฟาร์ม และ รวมถึงโซลาร์บนทุ่นลอยน้ำ และหากติดตามความเคลื่อนไหวในธุรกิจไฟฟ้าก็จะเห็นว่ามีคึกคักอย่างมาก

หากย้อนกลับไปไม่กี่ปีที่ผ่านมา พลังงานทดแทนในไทยมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถึงความไม่เหมาะสมหลายด้าน ทั้งเรื่องความเสถียรของการผลิตกระแสไฟฟ้า และต้นทุน อย่างกรณีพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีการถกเถียงกันอย่างมาก โดยเฉพาะข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ผลิตไฟฟ้าของประเทศมักไม่เห็นด้วย โดยมองว่าพื้นที่ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยนั้นมีค่อนข้างจำกัด แต่เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีหรือแผงโซลาร์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีผู้ตั้งโรงไฟฟ้าประเภทนี้เป็นกรณีตัวอย่าง ทำให้มุมมองเปลี่ยนไป

หากย้อนกลับไปพิจารณาการโต้แย้งเก่าๆ โดยเฉพาะในเรื่องความเข้มของแสงอาทิตย์ในไทย ซึ่งมีการกล่าวอ้างมาโดยตลอดว่าไม่สามารถเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพได้ แต่ก็ปรากฏว่าหลังจากที่มีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทำให้มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าประเทศไทยสามารถผลิตได้ และบางคนเปรียบเทียบความเข้มของแสงอาทิตย์ในไทย มีมากกว่าในยุโรปที่การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เกิดการลงทุนมากมายในธุรกิจนี้

ประเด็นที่น่าพิจารณาสำหรับสังคมไทย หากดูจากข้อถกเถียงเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่างๆ จะเห็นได้ว่าเป็นการถกเถียงหรือข้อโต้แย้งที่ไม่มีข้อมูลหรือผลการสำรวจที่แน่ชัดได้ กล่าวคือ เป็นการพูดหรือคิดจากความรู้สึกของผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ เพราะหากติดตามการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ จากหน่วยงานอย่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่เริ่มหันมาลงทุนพลังงานทดแทน ก็ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยมีการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆไม่มากนัก

หากพิจารณาถึงที่สุดแล้ว การต่อต้านหรือการคัดค้านพลังงานทดแทนในช่วงต้น หาใช่เหตุผลทางด้านข้อมูลหรือทางวิชาการใดๆ แต่มาจากเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ซึ่งบทเรียนจากกรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าหากมีประเด็นทางสังคมมาเกี่ยวข้อง เรายังยึดเหตุผลทางเศรษฐกิจมากก่อนเสมอ ดังนั้น โครงการใดที่ต้องตัดสินใจระหว่างประเด็นทางเศรษฐกิจและทางสังคม จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จำเป็นต้องเข้ามาดูแล ซึ่งกรณีนี้ถือว่าบทบาทภาครัฐสามารถทำได้ในหลายกรณี เพียงแต่จะทำหรือไม่เท่านั้น