ลาภลอย หรือ ทุกขลาภ

ลาภลอย หรือ ทุกขลาภ

การจัดเก็บภาษีผู้ที่ได้รับประโยชน์ จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ หรือที่เรียกแบบเข้าใจง่ายว่า “ภาษีลาภลอย”

 ซึ่งขณะนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยกร่างภาษีดังกล่าวแล้วเสร็จ เตรียมเสนอเข้าสู่การพิจาณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศใช้ภายในรัฐบาลชุดนี้ 

โดยแนวคิดของการจัดเก็บภาษี เกิดจากความคิดที่ว่า เมื่อโครงการลงทุนรัฐพาดผ่านพื้นที่ในรัศมีที่กำหนด ทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีมูลค่าในเชิงพาณิชย์สูงขึ้น ส่งผลให้ “ราคาที่ดิน”  และ “สิ่งปลูกสร้าง” ปรับตัวสูงขึ้น ยังประโยชน์ให้กับเจ้าของที่ดิน (แลนด์ลอร์ด) และนักพัฒนาอสังหาฯ (ดีเวลลอปเปอร์) ที่จะต้อง “คืนกลับ” ประโยชน์ส่วนนี้แก่รัฐในรูปของภาษี  

ที่ผ่านมายังพูดถึงเพดานการจัดเก็บไว้ที่ ไม่เกิน 5% ของฐานภาษี ที่คำนวณจากส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดที่เพิ่มขึ้น ระหว่างมูลค่าก่อสร้างวันที่รัฐเริ่มดำเนินโครงการพัฒนา กับมูลค่าในวันที่โครงการพัฒนาแล้ว แล้วแต่กรณี 

ตามมาด้วยข้อกำหนดการจัดเก็บกับ “ผู้ขายที่ดินหรือห้องชุด” ที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินเชิงพาณิชย์ ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท รวมถึง "ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาของรัฐในรัศมี 2.5-5 กิโลเมตร โดยโครงการลงทุนรัฐ หมายถึง โครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าระบบขนส่งมวลชน ท่าเรือ ทางด่วน และสนามบิน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่รอครม.เคาะเกณฑ์การจัดเก็บภาษีว่าจะเห็นชอบตามร่างของสศค.หรือไม่ เกิดคำถาม ข้อเสนอแนะ และความกังวลตามมามากมาย โดยเฉพาะจากดีเวลลอปเปอร์หลายราย ที่ฉงนว่า เหตุใด รัฐไม่เลือกที่จะนำภาษีลาภลอย “บวก”เข้าไปกับการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามพ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ในปี 2562 

โดยมองว่า การจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก อาจเข้าข่ายการจัดเก็บภาษี “ซ้ำซ้อน”  

ตามมาด้วยข้อเสนอเรื่องการ “ประเมินศักยภาพพื้นที่ในการจัดเก็บภาษีลาภลอย” ที่ไม่ควรใช้เพดานการจัดเก็บภาษีเหมือนกันหมดทั้งประเทศ เนื่องจากศักยภาพของทำเลแตกต่างกัน เช่น “จุดตัด-ทางเชื่อม”โครงการรถไฟฟ้า ย่อมมีมูลค่าเชิงพาณิชย์มากกว่า พื้นที่ที่รถไฟฟ้าวิ่งผ่านโดยไม่มีสถานี เป็นต้น  

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ที่สะท้อนว่า แม้จะมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน แต่ใช่ว่าพื้นที่ดังกล่าวสุดท้ายแล้วจะมี “ศักยภาพ” เสมอไป นั่นคือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ บางซื่อ ที่ถูกระบุว่าเป็นทำเลที่มีอสังหาฯเหลือขายมากที่สุด จำนวนกว่า 2 หมื่นยูนิต กลายเป็น “ความท้าทาย” ของผู้ประกอบการอสังหาฯในการระบายสต็อก ในภาวะอสังหาฯ ไตรมาสแรกไม่สู้ดี โดยภาพรวมยอดเปิดตัวโครงการลดลง 3% จาก 113 โครงการ เหลือ 85 โครงการมีหน่วยในผังรวม 24,103 หน่วย

“เกณฑ์” การจัดเก็บภาษี ที่ “รัฐ” กำลังจะเคาะออกมาจึงต้อง “รอบคอบ-รอบด้าน” โดยเฉพาะการคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ที่จะสะท้อนความต้องการของตลาดอสังหาฯในอนาคต รวมถึงการส่งผ่านภาระภาษีดังกล่าวไปยัง “ผู้บริโภค”

ลาภลอย” จึงอาจเป็นเส้นแบ่งบางๆกับคำว่า “ทุกขลาภ” ทั้งกับผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ก็เป็นได้!