สินค้ายอดนิยมประจำถิ่น : ต้นธารของสินค้า GI

สินค้ายอดนิยมประจำถิ่น : ต้นธารของสินค้า GI

ในท้องถิ่นหรือในเมืองในต่างประเทศหรือประเทศไทย หลายท้องที่หรือหลายเมืองจะมีสินค้ายอดนิยม ที่ผลิตหรือเกิดขึ้นในท้องถิ่น

หรือในเมืองนั้นซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ถึงชื่อเสียง คุณภาพ คุณลักษณะเฉพาะของสินค้าในท้องถิ่นหรือในเมืองนั้น ชื่อเสียง คุณภาพหรือคุณลักษณะเฉพาะของสินค้ายอดนิยมประจำถิ่นอาจเกิดจาก ลักษณะสภาพทางภูมิศาสตร์หรือกรรมวิธีการทำการผลิตอันเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นหรือเมืองนั้น ซึ่งเมื่อระบุ หรือเอ่ยถึงชื่อสินค้ายอดนิยมตามด้วยชื่อท้องถิ่น ชื่อตำบลหรือเมืองที่เป็นแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของสินค้านั้น ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าสินค้านั้นมีคุณภาพ มีชื่อเสียง และมีคุณลักษณะเฉพาะอย่างไร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ชื่อของสินค้ายอดนิยมประจำถิ่น เป็นเครื่องหมายรับรอง ชื่อเสียง คุณภาพ คุณลักษณะเฉพาะของสินค้านั้นได้โดยไม่จำเป็นต้องบรรยาย รายละเอียดหรือสรรพคุณ

ตัวอย่างสินค้าในต่างประเทศ เช่นบรรดาไวน์ เบียร์สุรา มากมายหลายยี่ห้อ จากท้องถิ่นหรือจากเมืองต่างฯ เช่นไวน์จากแคว้น Bordeaux บรั่นดี จากแคว้นCognac ของฝรั่งเศส สก๊อตวิสกี้ จากสก๊อตแลนด์ เบียร์จากเมืองมิวนิค ผลิตภัณฑ์อาหาร เช่นPamar แฮมจากอิตาลี เนยแข็งที่มีชื่อเรียกและมีวิธีการผลิตเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นในหลายประเทศ เป็นต้น

สำหรับในประเทศไทยสินค้ายอดนิยมประจำถิ่นมีมากมาย ที่เรารู้จักกันดี เช่นส้มเขียวหวาน บางมด ส้มโอนครชัยศรี อาหารเช่นไข่เค็มไชยา ขนมหม้อแกงเมืองเพชร หมูย่างเมืองตรัง ก๋วยเตี๋ยวเส้นจันทน์ ข้าวเช่นข้าวเสาไห้ ข้าวหอมสุรินทร์ ข้าวเหนียวสันป่าตอง ผ้าเช่นผ้าขาวม้าบ้านไร่ ผ้าไหมพุมเรียงเป็นต้น

ในต่างประเทศหลายประเทศ ถือว่า สินค้ายอดนิยมประจำถิ่น หรือกล่าวโดยนัยที่เป็นทางการคือ สินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ Geographical Indications : GI เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ที่ได้รับการคุ้มครอง โดยบทบัญญัติของกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งของฝ่ายบริหารก็มี

ในการทำความตกลงจัดตั้งองค์การการค้าโลก เมื่อปี พ.ศ.2537 ได้มีการทำความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights : TRIPS ) ซึ่งเป็นความตกลงที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ต่างฯ โดยในส่วนที่ 3 ข้อ 22 ถึงข้อ 24 เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับ การคุ้มครอง สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Protection of Geographical indications : GI) โดยให้ความหมายของสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ คือสิ่งบ่งชี้ที่แสดงสินค้าตามที่มีกำเนิดในท้องถิ่น ภูมิภาค ในเขตแดนของประเทศสมาชิก ซึ่งคุณภาพชื่อเสียงหรือลักษณะอื่นของสินค้านั้นอันมีส่วนสำคัญมาจากแหล่งกำเนิดทางภูมาสตร์ของสินค้านั้น

ในการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ประเทศสมาชิกต้องมีมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันมิให้มีการแอบอ้างแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของสินค้า ที่ทำให้สาธารณชนหลงผิดเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของสินค้า

ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกของความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าด้วย ดังนั้นเพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามพันธกรณีตามความตกลงดังกล่าวจึงได้ตราพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ..2546 ออกใช้บังคับ นอกจากนี้ การตรากฎหมายฉบับนี้ก็ยังมีเจตนารมณ์ เพื่อคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์อันแท้จริงของสินค้า โดยกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับสินค้าที่มาจากแหล่งทางภูมิศาสตร์ และห้ามการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อันทำให้ประชาชนสับสนหรือหลงผลิตในแหล่งถูมิศาสตร์อันแท้จริงของสินค้าที่ระบุในทะเบียน

สาระสำคัญของ พระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้มีการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้โดยให้ความหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ไว้คือ ชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์และที่สามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้น เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่จะขอขึ้นทะเบียนต้องไม่ใช่เป็นเพียงชื่อสามัญของสินค้า หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือขัดต่อนโยบายแห่งรัฐ

ผู้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนได้คือ ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีเขตรับผิดชอบครอบคลุมบริเวณแหล่งภูมมิศาสตร์ของสินค้า บุคคลที่ประกอบกิจการค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือกลุ่มผู้บริโภคหรือองค์กรผู้บริโภคสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว ก็จะได้รับการคุ้มครอง โดยผู้ผลิตสินค้าซึ่งอยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้าดังกล่าวหรือผู้ประกอบการค้าเกี่ยวกับสินค้านั้นมีสิทธิใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมมิศาสตร์กับสินค้าที่ระบุไว้ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้า GI การใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมาสตร์ที่ทำให้หลงเชื่อว่าเป็นสินค้าที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์ ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ทั้งที่ไม่ใช่ หรือใช้แหล่งภูมิศาสตร์ที่ทำให้เกิดความสับสนหรือหลงผิดในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า ในคุณภาพ ชื่อเสียงหรือคุณลักษณะของสินค้านั้นเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบการรายอื่น มีโทษตามกฎหมาย 

เช่น ไข่เค็มไชยา เป็นสินค้ายอดนิยมประจำถิ่นของอำเภอไชยา มีคุณภาพชื่อเสียงเป็นที่นิยมของผู้บริโภค เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว เฉพาะผู้ผลิตไข่เข็มที่อยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ไข่เค็มไชยา และผู้รับไข่เค็มไชยาไปขายเท่านั้น มีสิทธิใช้ชื่อว่าเป็นไข่เค็มไชยา ผู้ผลิตหรือผู้ขายไข่เค็มจากแหล่งผลิตอื่นฯ อ้างว่าเป็นไข่เค็มไชยา มีความผิดตามกฎหมาย

นอกจากนี้หากเป็นสินค้าเฉพาะอย่างตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งปัจจุบัน มี 4 ประเภทคือ ข้าว ไหม ไวน์ สุราการคุ้มครองจะเข้มขึ้น เช่นข้าวหอมสุรินทร์ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ แล้ว มีผู้ใช้ชื่อว่า ข้าวหอมสุรินทร์ ผลิตที่ร้อยเอ็ด หรือแม้แต่ใช้ถ้อยคำ ชนิด ประเภท แบบ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ชื่อแหล่งภูมิศาสตร์ตรงฯ เช่นใช้คำว่าข้าวหอมร้อยเอ็ดมีคุณภาพแบบข้าวหอมสุรินทร์ ก็มีความผิด

การขึ้นทะเบียนและคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค คุ้มครองผู้ผลิตส่งเสริมสนับสนุนการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพดี เพิ่มมูลค่าของสินค้าของชุมชนในถิ่นนั้นฯ และรักษาวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ชอบที่ทางราชการที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการให้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับสินค้ายอดนิยมประจำถิ่น ที่ยังมีอีกมากมายให้มากขึ้นและให้ครบทุกประเทของสินค้ายอดนิยมของแต่ละท้องถิ่น ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของสังคม