เตรียมพร้อมแรงงานไทย โจทย์ใหญ่ในยุทธศาสตร์ชาติ

เตรียมพร้อมแรงงานไทย  โจทย์ใหญ่ในยุทธศาสตร์ชาติ

เป้าหมายปลายทางของยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี คือการผลักดันให้ประเทศ พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

 (middle income trap) ภายในปี 2579 

ปัจจุบันรายได้เฉลี่ยของคนในประเทศ ยังห่างไกลจากเกณฑ์ที่ธนาคารโลกวางไว้ ว่าประเทศพัฒนาแล้วรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร ต้องเฉลี่ย 12,735 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ขณะที่รายได้เฉลี่ยประชากรไทยยังอยู่ที่ประมาณ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งการจะเพิ่มรายได้เฉลี่ยให้ใกล้เคียงกับมาตรฐานดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะต้องอยู่ในระดับ 4 -5%ต่อปีไม่ใช่ระดับ 3% ซึ่งเป็น New nomal แบบปัจจุบัน

แม้สิ่งที่รัฐบาลเดินหน้าในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาพยายามที่จะทลายข้อจำกัดของโครงสร้างเศรษฐกิจเดิม และเพิ่มโอกาสให้เศรษฐกิจให้ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ไม่ว่จะเป็นเรื่องการประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นเทรนด์ของโลกในอนาคต

ความท้าทายของการบรรลุผลตามยุทธศาสตร์ชาติไม่ใช่การไม่มีนโยบายที่ดี แต่เป็นเรื่องการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติขณะนี้สิ่งที่ภาคเอกชนและนักลงทุน ตั้งคำถามตรงกันก็คือประเทศไทยมีความพร้อมเรื่องทรัพยากรบุคคลและแรงงาน ที่จะสนับสนุนการพัฒนาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และอุตสาหกรรมเป้าหมายมากน้อยแค่ไหน

รายงานเรื่อง "ตัวเลขว่างงานกับอนาคตอาชีพคนไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล" ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ล่าสุดระบุถึงปัญหาแรงงานไทยไว้อย่างน่าสนใจ ตลาดแรงงานของไทยเริ่มมีกำลังแรงงานลดลง โดยปี 2559 มีกำลังแรงงาน 38.7 ล้านคน ปัจจุบันเหลือ 37.8 ล้านคน หายไปจากตลาดประมาณ 1 ล้านคน สวนทางกับความต้องการแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ียังใช้แรงงานแบบเข้มข้น ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3 แสนคน แต่แรงงานที่เข้าสู่ระบบไม่สามารถทดแทนความต้องการแรงงานได้ครบถ้วน และยังขาดแคลนแรงงานอยู่มากกว่า 1.8 แสนคนต่อปี

ขณะที่ภาคการผลิตที่แท้จริง (real sectors) ยังคงปรับเปลี่ยนโครงสร้างช้ามาก เนื่องจากสามารถพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเกือบ 3 ล้านคน กระจายอยู่แทบทุกสาขาการผลิตและบริการ ของสถานประกอบการของเอกชน ผู้ประกอบการจึงยังไม่มีแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่เพราะสามารถใช้แรงงานราคาถูกได้

ความหนักใจของผู้กำหนดนโยบายอาจอยู่ที่การผลิตกำลังคนของประเทศคือ อุปสงค์ในการผลิตสินค้าและบริการมีพลวัตรสูง มีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ตลาดแรงงานจึงเปลี่ยนแปลงรวดเร็วตามไปด้วย ทุกครั้งที่โครงสร้างตลาดแรงงานด้านอุปสงค์เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากต้องใช้เวลาในการปรับตัวหลายปี 

ต้องช่วยกันตั้งคำถามไปที่หน่วยงานภาครัฐ ว่าจนถึงวันนี้ประเทศเรามีแผนที่ชัดเจน เกี่ยวกับการรองรับการเปลี่ยนแปลง และสร้างแรงงานให้ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้หรือยัง?!?