การเมืองเมืองผู้ดี : ล็อกมีไว้ให้พลิก!

การเมืองเมืองผู้ดี : ล็อกมีไว้ให้พลิก!

ผลการเลือกตั้งอังกฤษเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. หักปากกาเซียนอีกแล้ว...

เพราะพรรคอนุรักษ์นิยมของนายกฯเทเรซา เมย์ไม่สามารถได้เสียงข้างมากของสภา มิหนำซ้ำพรรคเลเบอร์ภายใต้การนำของเจเรมี คอร์บินยังสร้างความประหลาดใจด้วยการชิงที่นั่งได้มากกว่าที่คาดคิด

เกิดสภาพ Hung Parliament กลับมาหลอนการเมืองอังกฤษอีกรอบ

แปลว่าไม่มีพรรคไหนได้เสียงมากพอที่จะตั้งรัฐบาลได้ด้วยตนเอง ต้องตั้งรัฐบาลผสมซึ่งจะทำให้การบริหารงานมีอุปสรรคมากขึ้น

โดยเฉพาะเมื่อนายกฯ เมย์ประกาศตอนยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ ว่าจะขอให้ประชาชนหย่อนบัตรเลือกพรรครัฐบาลให้ท่วมท้น เพื่อจะได้ต่อรองกับสหภาพยุโรป ในการถอนตัวออกที่เรียกว่า Brexit อย่างมีพลังทั้งในบ้านและนอกบ้าน

แต่ผลการเลือกตั้งออกมาสำหรับพรรคอนุรักษ์นิยมอยู่ที่ 318 ที่นั่ง ลดน้อยกว่าเดิมที่เคยมี 331 ที่นั่ง

พรรคที่สามารถจะตั้งรัฐบาลเองโดยไม่ต้องเชิญชวนพรรคอื่นมาร่วม ต้องได้ที่นั่งไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของ 650 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรนั่นคือ 326

ล่าสุดนายกฯเมย์ชวนพรรค DUP(Democratic Unionist Party) ประจำไอร์แลนด์เหนือซึ่งได้มา 10 ที่นั่งมาเป็นพันธมิตร

ไม่ใช่เพื่อตั้งรัฐบาลผสมในความหมายปกติ แต่เป็นสถานภาพของ รัฐบาลเสียงข้างน้อย” (minority government) ที่มีข้อตกลงกันพรรค DUP ที่จะยกมือสนับสนุนในสภาเป็นเรื่อง ๆ ไปที่เรียกว่า on a vote-by-vote basis

ภาษาการเมืองที่อังกฤษเรียกข้อตกลงนี้ว่า “confidence and supply” ซึ่งแปลว่าจะอุ้มชูรัฐบาลในบางเรื่อง เช่นร่างกฎหมายงบประมาณเป็นต้น

พอเกิดผลการเลือกตั้งที่ คาดไม่ถึง อย่างนี้ ก็เกิดปัญหามากมายตามมาเช่น

จะทำให้ Brexit ชะงักหรือไม่?

เมื่อรัฐบาลผสมไม่แข็งแกร่งพอ สิ่งที่เรียกว่า Soft Brexit จะเกิดขึ้นหรือไม่? หมายถึงการถอนตัวจากสหภาพยุโรปแบบนิ่ม ๆ ไม่เต็มรูปแบบ ทำให้เกิดความสับสนงุนงงสำหรับทุกชาติที่เกี่ยวข้อง

เมื่อรัฐบาลเสียงข้างน้อยง่อนแง่นอย่งนี้ จะมีการยุบสภาเพื่อให้เลือกตั้งใหม่ในเร็ว ๆ นี้หรือไม่

เหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้นายกฯเมย์ผิดพลาดในการเลือกตั้งครั้งนี้มีหลายประเด็นเช่น

คะแนนหนุ่มสาวอังกฤษเทไปให้พรรคเลเบอร์ เพราะบุคลิกและแนวทางหาเสียงของหัวหน้าพรรคคนนี้เอาใจคนรุ่นใหม่เต็ม ๆ เช่นให้เรียนฟรี รักษาพยายาลฟรีซึ่งละม้ายกับแนวทางของเบอร์นี่ แซนเดอร์สของพรรคเดโมแครตในสหรัฐฯที่ท้าชิงฮิลลารี คลินตันด้วยนโยบายเสรีนิยมจัด

บุคลิกของเทเรซา เมย์ถูกมองว่า เท้าไม่ติดพื้น” (เหมือนฮิลลารี คลินตัน) และสนใจแต่คนชนชั้นบนมากกว่ารากหญ้า ขณะที่ภาพลักษณ์ของคอร์บินเป็นคน เดินดินกินข้าวแกงสามารถพูดจากับชาวบ้านรู้เรื่อง

Brexit มีส่วนทำให้คนที่ต่อต้านการถอนตัวของอังกฤษจากสหภาพยุโรปหันมาลงคะแนนให้พรรคฝ่ายค้านโดยหวังว่าจะยังสามารถชะลอกระบวนการนี้ หรือไม่ก็หวังว่าหากคอร์บินเป็นนายกฯแทนเมย์ อาจจะมีการทำประชามติรอบใหม่ในเรื่องนี้ และผลอาจจะพลิกกลับได้

การเลือกตั้งที่มีผลทำให้เกิด Hung Parliament อย่างนี้เคยเกิดมาแล้วเมื่อปี 2010 ทำให้เกิดรัฐบาลผสมในอังกฤษเป็นครั้งแรกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ครั้งนั้น พรรคอนุรักษ์นิยมร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal Democrat) แม้จะมีนโยบายหลายเรื่องที่ยืนอยู่คนละจุดภายใต้การนำของนายกฯเดวิด คาเมรอนของพรรคอนุรักษ์นิยม

รัฐบาลผสมชุดนั้นทำงานจนถึงการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2015 ซึ่งมีผลทำให้พรรคอนุรักษ์นิยมได้ที่นั่ง 331 จนถึงวันก่อนนายกฯเมย์ตัดสินใจยุบสภาเลือกตั้งใหม่

การเมืองโลกกำลังปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้ง คนไทยต้องจับตาทุกย่างก้าวของการเมืองยุโรปและสหรัฐที่กำลังจะเดินนอกกรอบและไม่อาจประเมินได้ด้วยไม้วัดเดิม ๆ ได้อีกต่อไป