ภาพลักษณ์ไทย สู่สายตานานาชาติ

ภาพลักษณ์ไทย สู่สายตานานาชาติ

คอลัมน์นี้ผมเขียนตอนกำลังมาตรวจเช็คความพร้อมของอาคารศาลาไทย หรือ ไทยแลนด์พาวิลเลียน

ก่อนเปิดให้เข้าชมจริง ในวันที่ 10 มิถุนายน ถึง วันที่ 10 กันยายนนี้ ในงาน “อัสตานา เอ็กซ์โป 2017” (Astana Expo 2017) ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน ภายใต้หัวข้อ พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) ซึ่งเนื้อหาการนำเสนอของแต่ละประเทศก็จะเกี่ยวกับพลังงาน แล้วแต่ว่าจะนำพลังงานใดมานำเสนอ หรือว่านำเสนอในแง่มุมใด 

ประเทศไทยเราได้เลือกนำเสนอภายใต้กรอบแนวคิด การพัฒนาด้านพลังงานชีวภาพเพื่อมนุษยชาติ (Bioenergy for All)” ซึ่งก็ต้องบอกว่า มีความเหมาะสมกับประเทศของเราเป็นอย่างมาก เพราะเราสามารถนำเอาพืชผลทางการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานประเภทต่างๆ ได้ไม่ว่าจะเป็น ดีเซล แก๊สโซฮอล์ หรือแม้กระทั่งมูลสัตว์ไปผลิตเป็นก๊าซ และอื่นๆอีกมากมาย

อาคารศาลาไทยในงานเอ็กซ์โปประจำปีนี้ มีกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแลหลัก และยังมีหน่วยงานจากกระทรวงต่างๆ เข้าร่วมด้วย เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงท่องเที่ยว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) และบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) มาร่วมด้วยครับ ส่วนตัวผมได้เข้าร่วมในฐานะของผู้ดูแลคอนเซ็ปต์ และการทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในงานครั้งนี้ ซึ่งก็คือ การเป็น Top 10 ของพาวิลเลียนยอดนิยมจากทั้งหมด 110 พาวิลเลียนให้ได้

ในแต่ละหน่วยงานที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ต่างก็มีภารกิจ วัตถุประสงค์ และรูปแบบการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป เช่น กระทรวงมหาดไทยนำโอทอปมา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานำการนวดแผนไทยมา และกระทรวงพาณิชย์นำอาหารฮาลาลนำเสนอสู่สายตานานาชาติให้ได้เข้ามาสัมผัสถึงความเป็นไทยในแง่มุมต่างๆ ที่หลากหลาย จึงถือได้ว่าเป็นงานที่เราสามารถโชว์ศักยภาพของไทยให้เพื่อนๆ ประเทศอื่นได้เห็นกันอย่างเต็มที่ ดังนั้นเรื่องของคอนเทนต์ต่างๆ และประสบการณ์ที่ผู้เข้าชมจะได้รับกลับไปนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะเลือกนำเสนอด้วยเทคนิค และวิธีการต่างๆ ที่สามารถดึงดูดความสนใจได้อย่างดีเยี่ยม

และครั้งนี้ไทยแลนด์ พาวิลเลียน ก็พร้อมสร้างชื่อเสียงอีกครั้ง โดยมีเยาวชนไทย ไทยแลนด์ พาวิลเลี่ยน แอมบาสเดอร์ และนักแสดงประจำอาคารศาลาไทย เตรียมต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เพื่อโชว์ศักยภาพด้านพลังงานของประเทศไทยด้วยความตั้งใจ และทุ่มเทเต็มที่และที่พิเศษขึ้นไปอีก คือ มีเยาวชนชาวคาซัคสถานเข้ามาร่วมด้วย 

ด้านของเนื้อหา และรูปแบบการนำเสนอ ต้องบอกว่าเราเอา Insight สิ่งที่คนคาซัคอยากดูอยากเห็น มาแปลงเอาคอนเทนต์ของเราใส่ ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้เราสามารถพิชิตใจ มั่นใจที่จะทำให้ศาลาไทยเป็นศาลายอดนิยมอีกครั้ง ประกอบกับผู้เข้าร่วมงานจะได้รับประสบการณ์ ความสนุก ความสุข และความประทับใจกลับบ้านอย่างแน่นอน แล้วมาบี อเมซ แอนด์ ว้าว แอท ไทยแลนด์ พาวิลเลียน (Be Amazed and WOW at Thailand Pavilion) ไปด้วยกันนะครับ

แต่ถึงอย่างไรก็ตามแม้ว่าวันนี้ไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 อย่างเต็มตัว แต่ผมก็ยังเห็นช่องโหว่หลายอย่าง เช่น บางหน่วยงานที่ยังยึดติดกับการนำเสนอรูปแบบเดิม ไม่นำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งมาใช้ให้เหมาะสมกับยุคสมัย หรืออย่างการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมของไทยที่เรายังยึดติดกับแค่วัฒนธรรมของคนรุ่นเก่าเพียงอย่างเดียว ไม่เลือกนำเสนอของเด็กยุคใหม่บ้างเพื่อให้คนอื่นๆ เห็นคนไทยในภาพลักษณ์ใหม่ตามรูปแบบที่เป็นจริงในยุคปัจจุบันมากกว่า 

เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วครับที่จะช่วยกันริเริ่มสู่การปรับ และเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่เหมาะสมกันครับ