ต้องยอมรับ การเปลี่ยนแปลง

ต้องยอมรับ การเปลี่ยนแปลง

การ “เซ็ตซีโร่” คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้เป็นไปตามเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

 กลายเป็นประเด็นทางการเมืองที่ถูกพูดถึงมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน จนสังคมเริ่มเบื่อหน่าย โดยเฉพาะการแสดงเหตุผลของทั้ง 2 ฝ่ายที่ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างกับการให้กรรมการ “สิ้นสภาพ” ไปพร้อมกันทั้งคณะ ด้วยเหตุผลฝ่ายหนึ่งเพื่อให้มีการเริ่มต้นการทำงานใหม่พร้อมกันทั้งหมด จะได้ไม่เกิดความลักลั่น เป็น “ปลาสองน้ำ” ในขณะที่อีกฝ่ายก็พยายามอธิบายว่าน่าเป็นห่วงหากจะมี กกต.ใหม่ทั้งหมดเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง

จากนั้นยังตามมาด้วยการเสริมเหตุผล และโต้แย้งกันมาเป็นระยะ จนสังคมเริ่มเชื่อว่าความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย ไม่ได้อยู่บนพื้นฐาน“ข้อเท็จจริง”มากนัก แต่อาจเป็นไปตามความคิด ความเห็นส่วนตัว หรืออาจเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เพราะไม่ว่าแนวทางการพิจารณาคุณสมบัติกกต. ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จะออกมารูปแบบใด ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าอย่างไรจะดีกว่ากัน เพราะแนวทางดังกล่าวยังไม่เคยมีมาก่อน การเปลี่ยนแปลงก็ยังไม่เกิดขึ้น ทุกเรื่องล้วนพูดด้วยความรู้สึกเป็นสำคัญ

และด้วยความรู้สึกของสังคมที่เริ่มไม่ค่อยเชื่อใจ ดังนั้นเมื่อ กกต.ขยับที่จะตรวจสอบคุณสมบัติ 9 รัฐมนตรี ตามข้อร้องเรียนของฝ่ายกฎหมายพรรคการเมืองหนึ่ง ที่ถูกมองว่าเป็นขั้วตรงกันข้ามรัฐบาล จึงมีการตีความทั้งโดยสื่อมวลชน และประชาชน รวมไปถึงนักข่าวสมัครเล่นบนสื่อออนไลน์ ว่าอาจจะเป็นมาตรการ“เอาคืน”ของกรรมการการเลือกตั้ง หรือหลายคนพุ่งเป้าไปที่ สมชัย ศรีสุทธิยากร เป็นหลัก เพราะเป็นกกต.คนเดียวที่ออกมาคัดค้านแนวทางของกรธ. และความเห็นของรัฐบาลอย่างแข็งขัน

อย่างไรก็ตามการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันนี้ที่จะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวาระ 2 และวาระ 3 ในคราวเดียว น่าจะได้เห็นความชัดเจนมากขึ้น เพราะถ้าไม่มีข้อโต้แย้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นอันว่ากฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะผ่านการพิจารณาและเตรียมประกาศใช้ เป็นฉบับแรกใน 4 ฉบับที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งตามโรดแมพ แต่หากมีความเห็นแย้งก็จะต้องมีการตั้งกรรมาธิการร่วม 11 คน จากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 5 คน ครม. 5 คน และหน่วยงานที่เห็นแย้ง 1 คน

ในการพิจารณายังหมายรวมไปถึงประเด็นผู้ตรวจการการเลือกตั้ง ที่จะมาแทนที่ กกต.จังหวัด ซึ่งประเด็นนี้ค่อนข้างเป็นที่ยุติไปแล้ว หลังจากมีการยื้อยุดกันมาระยะหนึ่ง ขณะที่ประเด็นคุณสมบัติกกต. ที่จะนำไปสู่การเซ็ตซีโร่ยกคณะ ในระยะก่อนหน้านี้ สมชัย ออกมาให้ข่าวในทำนองว่าพร้อมรับเงื่อนไขที่จะเกิดขึ้น แต่ขณะนั้นยังพอมีความหวังว่าเอกสารที่เตรียมนำไปชี้แจงอาจทำให้ได้“อยู่ต่อ” ในวันนี้จึงต้องรอมติสนช. ที่มีการเผยท่าทีออกมาบ้างแล้ว รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของ กกต.บางคน ว่าจะออกมาอย่างไร

อย่างไรก็ดีในสถานการณ์ที่บ้านเมืองกำลังต้องการเดินไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลังจากหลายองค์กรถูกครอบงำโดยอำนาจการเมืองมานาน ทั้งระบบราชการ ทั้งฝ่ายการเมือง ต่างก็มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะนำบ้านเมืองเดินต่อไปข้างหน้า และเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องพร้อมยอมรับ โดยคิดเอาผลประโยชน์บ้านเมืองเป็นที่ตั้ง เพราะไม่เช่นนั้นประเทศชาติก็จะย่ำอยู่กับที่ และคนที่คัดค้านก็จะกลายเป็นคนที่ฉุดรั้งความเจริญของชาติ