ต้องสร้าง 'ความมั่นคง' ให้แก่คนหนุ่มสาวในวันนี้

ต้องสร้าง 'ความมั่นคง' ให้แก่คนหนุ่มสาวในวันนี้

หากพิจารณาอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวในวันนี้ อาจจะพบว่าตัวเลขไม่สูงมากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว

 เกณฑ์การจัดว่าใครว่างงานหรือมีงานทำนั้นหละหลวมมาก จึงทำให้ตัวเลขต่ำอย่างสม่ำเสมอมา เราคงต้องคิดถึงการจัดการกับการว่างงานในลักษณะอื่นด้วย เพราะที่สำคัญ เราจะคิดแค่การว่างงานอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องคิดถึงประเด็นในเรื่อง “ความมั่นคง” ของการทำงานมากขึ้นด้วย เพราะการคิดแค่การมีงานทำในช่วงนี้ แต่ไม่มีอนาคตในการทำงานต่อเนื่องไป ก็หมายความว่าสังคมเศรษฐกิจไทยกำลังทำลายตัวเองมากขึ้นไปเรื่อยๆ

การวางแผนลดจำนวนคนว่างงานจึงจะต้องคิดถึงการทำงานที่มี “ความมั่นคง” ควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะกับคนรุ่นหนุ่มสาวในวันนี้

การที่จะต้องเน้น “ ความมั่นคง” ให้แก่ชีวิตการทำงานของคนหนุ่มสาว ก็เพราะคนหนุ่มสาวในวันนี้นี่แหละที่จะเป็นคนหาเงินเพื่อเลี้ยงคนแก่ในอนาคตอันใกล้ อย่าลืมนะครับว่าอีกประมาณสิบปี สัดส่วนคนแก่ในสังคมไทยจะเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด หากคนรุ่นหนุ่มสาวไม่มีโอกาสสร้างชีวิตการทำงานที่มั่นคงได้ในวันนี้ พลังของการช่วยดูแลคนแก่ก็จะลดลงทันที

ที่สำคัญ หากไม่ร่วมสร้างให้คนหนุ่มสาวรู้สึกได้ถึง “ความมั่นคง” และปล่อยให้พวกเขาและเธอลอยละล่องอยู่ในความไม่แน่นอน ความเสี่ยง และความไม่มั่นคงของชีวิต ปัญหาทางสังคมเศรษฐกิจจะทวีมากขึ้นมาก ตัวอย่างของสังคมญี่ปุ่นที่ความตึงเครียดระหว่างคนหนุ่มสาวกับคนแก่มีสูงมากขึ้นกว่าเดิมมากทีเดียว คนหนุ่มสาวญี่ปุ่นที่อยู่ในวัยทำงานจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถมีชีวิตที่มั่นคงได้ ได้ตัดสินใจเลือกการฆ่าตัวตาย และหากพิจารณาจากการสื่อสารในสังคมก็จะพบว่าความรู้สึกที่ตนเองก็หางานได้ยาก และเป็นงานชั่วคราวแต่ต้องถูกเรียกร้องให้ดูแลคนแก่ ยิ่งกดทับความรู้สึกที่ดีต่อคนแก่มากขึ้น

คนหนุ่มสาวในวันนี้จะต้องแบกรับพันธกิจของสังคมไทยในอนาคต แต่วันนี้พวกเขาและเธอไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ ที่จะทำให้มีศักยภาพในการที่จะทำเพื่อสังคมในอนาคตนี้เลย

การวางแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุ จึงไม่ใช่การเน้นเพียงแค่ผู้สูงอายุอย่างที่คิดกันเท่านั้น หากแต่ต้องคิดถึงคนหนุ่มสาวเป็นอันดับแรก และต้องคิดถึงการสร้างให้ชีวิตพวกเขาและเธอมั่นคงมากที่สุด เพื่อเอื้ออำนวยให้พวกเขาและเธอได้ทำหน้าที่เพื่อสังคมไทยในอนาคต

จำเป็นที่จะต้องเริ่มจากระบบราชการไทยก่อน นับตั้งแต่การแช่แข็งจำนวนข้าราชการในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้ทำให้อัตราของข้าราชการเพิ่มน้อยมาก แต่เนื่องจากงานราชการที่มากขึ้น ได้ทำให้เกิดการขยายตัวของการจ้างงานชั่วคราวขึ้นมา อัตราของการจ้างงานชั่วคราวนี้มีมากถึงประมาณ 20% ของข้าราชการ ( บางหน่ายงานอาจจะถึง 60% )

คนหนุ่มสาวที่ต้องทำงานในระบบการจ้างงานชั่วคราวโดยทั่วไปแล้ว ต้องต่อสัญญาที่ละปีล้วนแล้วแต่มีความรู้สึกที่เจ็บปวดและไม่พึงพอใจต่อความไม่มั่นคงนี้ แต่จำนวนมากกว่ามากต้องยอมทนต่อการ “ กดขี่ “ จากหัวหน้าหน่วยงาน และต้องเอาอกเอาใจนาย เพื่อแลกกับโอกาสในการได้ต่ออายุการทำงานไปอีก 1 ปี

ชีวิตของคนหนุ่มสาวที่ต้องทนอยู่กับความไม่มั่นคงเช่นนี้ เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องคิดกันแล้วนะครับ เพราะเหมือนกับว่าเราปล่อยให้พวกเขาและเธอล่องลอยในทะเลแห่งความไม่แน่นอนตามลำพังอย่างคนใจดำ แต่กลับจะ “หน้าด้าน” เรียกร้องให้พวกเขาและเธอมารับผิดชอบต่อสังคมในอนาคตด้วยการเลี้ยงดูคนแก่ (ซึ่งเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับหัวหน้าหน่วยงานที่รังแกเขาและเธอมาโดยตลอด)

สังคมไทยต้องช่วยกันทำให้รัฐบาลคิดและจัดการในเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าหากพิจารณาในเรื่องงบประมาณให้ดี เราสามารถจะเปลี่ยนโหมดการใช้งบได้อย่างเพียงพอที่จะสามารถจ้างคนหนุ่มสาวเหล่านี้ได้มากมายทีเดียว ( แน่นอนครับว่างบซื้ออาวุธก็จะต้องลดลง )

ที่ขอเริ่มจากระบบราชการก่อน ก็เพราะว่าข้าราชการนั้นเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ไม่สามารถหนีภาษีได้ และภาษีของข้าราชการเป็นรายได้หลักสำคัญของประเทศครับ

สำหรับ องค์กรธุรกิจต่างๆ รัฐ/รัฐบาลก็สามารถที่จะใช้กลไกภาษีในการสร้างหลักประกันให้แก่คนทำงานได้ ด้วยการลดภาษีบางประเภทเพื่อจูงใจให้เกิดการจ้างงานที่ต่อเนื่องพอในการสร้าง “ความมั่นคง” ให้แก่คนทำงาน ขณะเดียวกันการแก้ไขกฏหมายการประกันตนในกรณีว่างงาน ก็ต้องทำให้สามารถเลี้ยงชีพได้ต่อเนื่องยาวนานพอที่จะหางานใหม่ได้

สำหรับ การทำงานอิสระหรือภาคการผลิตไม่เป็นทางการที่ขยายตัวมากขึ้น เพราะคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่ง ไม่สามารถที่จะทนอยู่กับความไม่แน่นอนของระบบการจ้างงานของเราได้ รัฐ/รัฐบาลก็จะต้องคิดถึงการเปิดพื้นที่ให้แก่การทำงานอิสระ/ภาคการผลิตไม่เป็นทางการนี้ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่องได้ เช่น เปิดพื้นที่สาธารณะให้กระจายตัวออกไปกว้างขวาง เพื่อที่ผู้ขายของในตลาดนัดหรือผู้ผลิตรายย่อยได้มีโอกาสในการทำงานที่ต่อเนื่องได้ แม้ว่าในวันนี้ คนขายของตามตลาดนัดจะสามารถขายได้ถึง 30 วันต่อเดือนแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีปัญหาการถูกรบกวนจากกลไกอำนาจรัฐหลายฝ่าย รัฐ/รัฐบาลจำเป็นต้องคิดถึงการทำงานกับกลุ่มภาคไม่เป็นทางการนี้มากขึ้น

ต้องเน้นนะครับว่า การสร้าง “ความมั่นคง”ให้แก่คนหนุ่มสาวในวันนี้ ก็คือ การสร้างฐานทางสังคมเศรษฐกิจที่จะรองรับสังคมผู้สูงวัยในอนาคต ไม่อย่างนั้นแล้ว เราจะเผชิญหน้ากับความตึงเครียดระหว่างคนสองวัยมากขึ้นซึ่งทั้งหมดก็จะอยู่ร่วมกันอย่างไม่เป็นสุข ซึ่งในวันนี่ เราก็เห็นความตึงเครียดนี้เกิดขึ้นในหลายระดับและหลายมิติแล้ว

คนหนุ่มสาว” ของสังคมไทยวันนี้กำลังต้องแบกรับภารกิจที่สำคัญ สังคมไทยต้องช่วยกันให้พวกเขาและเธอเข้มแข็งและมี “ความมั่นคง” ในชีวิตให้ได้มากที่สุด