'ก่อการร้าย' กับแก่นแท้ของปัญหาสังคม

'ก่อการร้าย' กับแก่นแท้ของปัญหาสังคม

ในช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์นี้ มีเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่า “ก่อการร้าย” เกิดขึ้นอย่างถี่ยิบกระจายไปทั่วโลก

 ไล่มาตั้งแต่ระเบิดที่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ กรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน เมืองมาราวีในประเทศฟิลิปปินส์ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือเหตุระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า (ไม่นับเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นจนแทบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงทำให้หลาย ๆ คนเริ่มตระหนักได้ว่าการก่อการร้ายไม่ใช่สิ่งที่ไกลตัวอีกต่อไป สิ่งที่น่าสนใจต่อไปคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันเป็นแนวโน้มที่โลกกำลังเผชิญอยู่นี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมไทยอย่างไรบ้าง

“ก่อการร้าย” ไม่ใช่ถ้อยคำใหม่ เหตุการณ์ “9/11” ที่เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาถือเป็นจุดเริ่มต้น ให้โลกได้รู้จักและหามาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาความรุนแรงในรูปแบบนี้ ในส่วนของประเทศไทยเองก็มีการรับมือกับปัญหาดังกล่าวโดยได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในปี พ.ศ. 2546 เพิ่มความผิดอาญาเกี่ยวกับการก่อการร้ายขึ้นมา โดยเฉพาะและบัญญัติให้เป็นความผิดตามหลักสากล กล่าวคือเมื่อมีการกระทำผิดเกิดขึ้นแล้ว แม้จะเกิดนอกราชอาณาจักรไทย ก็ยังจะต้องรับโทษในราชอาณาจักรไทยอีกโดยไม่ต้องมีผู้ใดร้องขอ

ประมวลกฎหมายอาญายังได้บัญญัติให้ความหมายของการ “ก่อการร้าย” ไว้ในมาตรา 135/1 ถึงมาตรา 135/4 สรุปใจความได้ว่า ต้องเป็นการกระทำอันเป็นความผิดอาญาโดยมีลักษณะดังนี้

1. การใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกายหรือเสรีภาพของบุคคลใด ๆ หรือ

2. กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือ

3. กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใด หรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ

ประการสำคัญคือผู้กระทำต้องมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนเพื่อให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน และกฎหมายยังเอาผิดไปถึงการตระเตรียมการ ผู้ช่วยเหลือปิดบัง ผู้สนับสนุน และสมาชิกแห่งกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วย

เมื่อได้พิจารณาจากบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการก่อการร้ายแล้ว อาจทำให้หลาย ๆ ท่านเกิดความอุ่นใจอยู่บ้างว่าเราก็มีการเตรียมการ “รับมือ” กับปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่เมื่อลองพิจารณาจากกรณีที่เกิดขึ้นจริงโดยไม่ต้องย้อนไปไกล เช่นเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2560 เกิดเหตุระเบิดที่เมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ มีผู้เสียชีวิตรวม 25 คน และตามด้วยเหตุผู้ก่อการร้ายบุกเข้ายึดเมืองมาราวีในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์มีห้วงเวลาและความเชื่อมโยงซึ่งกันภายใต้การอ้างความรับผิดชอบของกลุ่ม “IS (Islamic State)” โดยความน่าสนใจมุ่งไปที่มาราวี เพราะการก่อการร้าย ก่อนหน้าที่กระทำภายใต้กลุ่มแบ่งแยกดินแดน Abu Zayyaf ไม่เคยแสดงออกซึ่งสัญลักษณ์ว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่ม “ISIS” จนกระทั้ง เกิดเหตุขึ้นที่มาราวี โดยมีการชักธง IS ที่ รพ.ของเมือง ภายใต้การกระทำของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “MAOUTE” 

จุดนี้แสดงให้เห็นถึง “วิวัฒนาการ” ของกลุ่มการก่อการร้ายที่เปลี่ยนแปลงไปจากการเจรจาเพื่อ “แบ่งแยกดินแดน” มาเป็นการกระทำตามเป้าประสงค์ขององค์กรหลักภายใต้ “อุดมการณ์” เดียวกันคือตั้ง “รัฐอิสลาม” วิวัฒนาการในครั้งนี้ก่อให้เกิดการรวมกลุ่ม ของห้ากลุ่มที่เคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนเข้าด้วยกันภายใต้ชื่อ “ISIS Faction in ASEAN”

ประเด็นที่น่าสนใจคือ กรณีมาราวีมีความเชื่อมโยงอย่างไรกับเหตุการณ์ในประเทศไทย หากจะตอบอย่างง่ายที่สุดก็คือต้นตอของปัญหาที่นำมาสู่วิกฤตการณ์ดังกล่าวมีจุดกำเนิดเดียวกัน นั่นคือ “โอกาส” และ “ความละเอียดอ่อนทางสังคม” กล่าวคือ ก่อนที่กลุ่ม “MAOUTE”จะปฏิบัติการที่มาราวี คนกลุ่มนี้เคยอยู่ภายใต้กลุ่มแบ่งแยกดินแดน Abu Sayyaf ที่มีจุดยืนในการเจรจาหาข้อยุติแบบสันติกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้กลุ่มใหญ่ที่มีชื่อว่า “MILF” 

แต่ด้วยความล้มเหลวในการเจรจากว่า 20 ปี ทำให้สมาชิกส่วนหนึ่งของกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งแยกตัวออกมาและประกาศเข้าร่วมอุดมการณ์เดียวกับ ISIS โดยมุ่งหมายก่อตั้งรัฐที่ปกครองด้วยหลักศาสนาและแสดงความมีตัวตนของกลุ่มด้วยความรุนแรง จากจุดนี้เองที่มีความคล้ายคลึงและทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่การ “ก่อความไม่สงบ” จะพัฒนาไปอีกระดับอย่างในประเทศฟิลิปปินส์ เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าประเทศใดหากมีพื้นที่ “HOT POT” ที่มีความอ่อนไหวและรัฐไม่สามารถที่จะใช้กฎหมายควบคุมปัญหาได้ แนวคิดสุดโต่งอันแสดงออกผ่านทางลักษณะทางอุดการณ์ก็อาจก่อตัวขึ้นได้ ณ พื้นที่นั้น ไม่ได้มาจากสายเลือด แต่เป็นเหมือน “โรคระบาด” ทางความคิดที่พร้อมจะลุกลามไปทุกกลุ่มทางสังคม

ถึงตรงนี้ ผู้เขียนไม่ได้จะสรุปว่า เหตุที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นการก่อการร้ายจากกลุ่ม ISIS แต่จะชี้ให้เห็นว่าลักษณะการกระทำที่มีนัย อันก่อให้เกิดความหวาดกลัวดังกล่าวนั้นคือบริบทของการก่อการร้าย หากรัฐยังคงหลับตาข้างเดียวแล้วสรุปว่าประเทศแห่งนี้ไม่ใช่เป้าหมายของกลุ่มก่อการร้าย นั่นหมายความว่าเรากำลังมองข้าม “แก่นแท้” ของการแก้ปัญหา ซึ่งน่ากังวลว่าหากรัฐไม่สามารถประกันความมั่นคงแห่งชีวิตและทรัพย์สินให้แก่ประชาชนของตนเองได้ 

จะเกิดอะไรขึ้นแก่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ลองมองย้อนไปในระยะเวลา 13 ปีที่ผ่านมากับกรณีที่เกิดขึ้นใน จังหวัดชายแดนใต้ ก็คงจะได้คำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าผลมันเป็นอย่างไร

..............................................

ว่องวิช ขวัญพัทลุง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์