สิงคโปร์มีอะไรน่าเที่ยวนักหรือ?

สิงคโปร์มีอะไรน่าเที่ยวนักหรือ?

“สิงคโปร์ ไม่เห็นจะมีอะไรเที่ยวเลย” “สิงคโปร์ เมือง Fake มีแต่ความเป็นระเบียบ น่าเบื่อ”

ผู้เขียนก็ “เคย” มีข้อสงสัยเช่นนี้เหมือนกัน แต่ก็พบว่ามีคนส่วนหนึ่งที่ยังนิยมไปเที่ยวสิงคโปร์ จนทำให้เมืองเล็กๆแห่งนี้ติดอันดับหนึ่งในห้า ของเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมจากการสำรวจโดย Euromonitor International (City Destinations Ranking) อ้างอิงจากสถิติปี 2015 แต่เผยแพร่ในปี 2017 ซึ่งอันดับ 1 คือ ฮ่องกง อันดับ 2 กรุงเทพฯ อันดับ 3 ลอนดอน อันดับ 4 สิงคโปร์ อันดับ 5 ปารีส

สิงคโปร์ เกาะเล็กที่ไม่มีอะไร สามารถขึ้นสู่อันดับต้นๆเช่นนี้ ต้องมีอะไรสักอย่างที่น่าสนใจเป็นแน่

สิงคโปร์เองก็เห็นจุดอ่อนเรื่อง “ขนาด” และ “ความไม่มีอะไร” และสามารถเปลี่ยนให้เป็นจุดเด่นได้ ภายในเวลาอันรวดเร็วเพียงแค่ชั่วอายุคนเท่านั้น Red Dot หรือ “จุดแดง” เป็นอีกชื่อหนึ่งที่สิงคโปร์มองตัวเองว่าเป็นจุดๆหนึ่งบนแผนที่โลก ซึ่งสิงคโปร์ได้นำชื่อดังกล่าวมาสร้าง Red Dot Museum เพื่อรวบรวมผลิตภัณฑ์แนวความคิดสร้างสรรค์ที่ชนะการประกวด Red dot Awards ซึ่งเป็นรางวัลสำคัญด้านงานดีไซน์ สะท้อนพัฒนาการที่น่าสนใจของประเทศเล็กๆนี้ได้เป็นอย่างดี

ปฐมบทสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวในสิงคโปร์

หลังได้รับเอกราชและแยกตัวจากมาเลเซียมาเมื่อปี ค.ศ.1965 เป็นที่ทราบกันดีว่าเกาะแห่งนี้ไม่มีอะไร นอกจากทำเลที่ดีในการเดินเรือค้าขาย ขณะนั้นสิงคโปร์เป็นเกาะที่มีทรัพยากรไม่มากนัก บ้านเมืองมีแต่สภาพทรุดโทรม ประชาชนยังอยู่ในสังคมเกษตรกรรม ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำการประมงและเป็นแรงงาน

ในปี ค.ศ. 1962 สิงคโปร์มีทีมที่ปรึกษาการวางแผนเมืองจากองค์กรสหประชาชาติ(UN) ในการจัดการแผนการพัฒนาใหม่ โดยมีแผนระยะสั้นและแนวทางการนำแผนไปสู่การปฏิบัติควบคู่ไปด้วย ซึ่งกลุ่มนักวางแผนได้จัดวางบริษัทเมืองจูร่ง (Jurong Town Corporation: JTC) เป็นเมืองอุตสาหกรรมครบวงจร นิคมอุสาหกรรมจึงเป็นโมเดลเมืองใหม่ที่สิงคโปร์นำมาใช้ เพื่อสร้างผลิตภาพในประเทศแบบครบวงจรที่มีทั้งแหล่งงาน การค้าและที่อยู่อาศัย

ในทศวรรษ 1970 เป็นยุคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้น แต่ในทศวรรษ 1980 ได้มีการยกระดับสิ่งต่างๆให้จูงใจนักลงทุนยิ่งขึ้นด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมถูกออกแบบให้พึ่งพิงตนเอง มีสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณูปโภค สาธารณูปการพร้อมสรรพ เพื่อรองรับจำนวนโรงงานกว่า 3,600 แห่ง โดยมีแรงงาน 216,000 คน มีทั้งพื้นที่อุตสาหกรรมและย่านพักอาศัยรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังขาดพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจขนาดใหญ่ จึงนับเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีด้วย

แต่จะเป็นโครงการอะไร ที่ลงทุนไม่สูงและตอบโจทย์นี้?

ภายใต้เงื่อนไขการใช้เงินเพื่อพัฒนาอย่างคุ้มค่าของ ดร.โก๊ะ เคง สวี (Dr.Goh Keng Swee) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังในขณะนั้น เขาได้เสนอแนวความคิดสร้างสวนนกขนาดใหญ่ ที่ไม่ต้องเสียค่าดูแลและบำรุงรักษาระยะยาวมาก จากประสบการณ์ที่เขาได้เห็นสวนนกในการประชุมธนาคารโลก ที่เมืองริโอเดอจาเนโร และในเวลาต่อมา บริษัทพัฒนาเมืองจูร่งมีแนวความคิดสร้างแหล่งท่องเที่ยว เช่น การสร้างเกาะในทะเลสาบโดยขุดแม่น้ำจู่ร่ง แล้วสร้างสวนจีนและสวนญี่ปุ่น ตามมา

เมื่อสิงคโปร์มีรายได้จากภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น สภาพเศรษฐกิจดีขึ้น นายลีกวนยู นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์จึงคิดหาทางเพิ่มรายได้จากภาคการท่องเที่ยว โดยสร้างรูปปั้น Merlion ขึ้นมาเป็นแลนด์มาร์ก รูปปั้นนี้ถูกออกแบบขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของคณะกรรมการการท่องเที่ยวของสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board - STB) ในปี 1964 และติดตั้งในปี ค.ศ.1972 Merlion นับเป็นตัวชูโรงการท่องเที่ยวสิงคโปร์ ดังปรากฏในภาพถ่ายของผู้มาเยี่ยมเยือน เป็นของที่ระลึกในรูปแบบช็อกโกแลต ขนม พวงกุญแจ ฯลฯ

ต่อจากนั้น กลยุทธ์พัฒนาการท่องเที่ยวและการพัฒนาเมือง ก็ถูกขับเคลื่อนไปพร้อมกันอย่างเป็นระบบและมีทิศทางมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการบริการ การท่องเที่ยว โรงแรม ร้านค้า สนามบิน และประการสำคัญคือ การพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อาศัยสำหรับผู้พักอาศัยและผู้มาเยี่ยมเยือนอย่างต่อเนื่อง ด้วยวิสัยทัศน์ของนาย ลีกวนยู นั่นเอง

....หลังจากที่(สิงคโปร์)ได้รับอิสระ ผมได้มองหาวิธีการที่เร็วที่สุดในการสร้างความแตกต่างของพวกเรา... ผมได้ตั้งเป้าสู่ สิงคโปร์ที่สะอาดและมีความเขียวเป็นธรรมชาติ... หากเราได้ถึงระดับมาตรฐานในโลกที่ 1 เมื่อนั้นนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว จะมาใช้ประเทศเราเป็นฐานทางธุรกิจและการท่องเที่ยวของภูมิภาค...

สุนทรพจน์นายกรัฐมนตรี ลีกวนยู (Lee Kuan Yew) ในการสร้างชาติช่วงแรก

สิ่งที่ผู้นำคิดในวันนั้นได้ปรากฏขึ้นแล้วในวันนี้ เกาะเล็กๆที่สะอาดเป็นระเบียบ ผู้คนมีวินัย เป็นเมืองธุรกิจและการลงทุน เป็นที่รวมของคนหลายชาติและคนที่มีความสามารถทางการแข่งขัน อีกทั้งเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับต้น รวมแหล่งท่องเที่ยว การค้า บริการต่างๆ เช่น ย่านชอปปิงอย่างถนนออชาร์ด (Orchard road) แหล่งการค้าและบริการย่านเก่า China town, Clark quay, Boat quay ที่สะท้อนวัฒนธรรมจีนและตะวันตกอย่างผสมผสานผ่านสถาปัตยกรรมที่อนุรักษ์ไว้ มีร้านอาหาร ร้านค้า สวนสาธารณะดีๆที่มีจำนวนมาก และล่าสุดคือ Garden by The Bay ไปจนถึงรีสอร์ทชั้นนำที่มีความบันเทิงครบวงจรและคาสิโน (Integrated Resort: IR) อย่างเซนโทซ่าและตึกมารีน่าเบย์แซนด์

การท่องเที่ยวของสิงคโปร์มีกลยุทธ์ที่หลักแหลมคือ การปรับจุดอ่อนเรื่องขนาดที่เล็ก ให้เป็น เกาะเล็กที่กระชับและมีพลวัตร เมืองเล็กๆถ้าหยุดนิ่ง ก็มีแต่จะสลายหายไปจากโลกแห่งการแข่งขันนี้ Red Dot หรือ จุดแดงแห่งนี้ จึงต้องส่องแสงกระพริบอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไปพร้อมการพัฒนาเมืองและการส่งเสริมกิจกรรมระดับโลก เช่น การแข่งรถฟอร์มูล่าวันในเมือง การแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับโลกกลางเมือง ด้วยเหตุนี้ สิงคโปร์ที่ผู้เขียนรู้จักเมื่อ 20 ปีที่แล้วจึงยังมีความเหมือนกับสิงคโปร์ในปัจจุบันคือ เกาะแห่งนี้ไม่เคยหยุดพัฒนาเลย

.........................................

ดร.เพชรลัดดา เพ็ชรภักดี

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

นักวิจัยฝ่าย 1 สกว.