ผลไม้ในกลไกการซื้อขายล่วงหน้า

ผลไม้ในกลไกการซื้อขายล่วงหน้า

ผลไม้ในกลไกการซื้อขายล่วงหน้า

ในช่วงที่ผ่านมา ตามสถานที่ชุมชนต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ท่านผู้อ่านคงได้เห็นรถเปิดท้ายขายผลไม้ อาทิ ทุเรียน เงาะ มังคุด ขับเวียนขายสินค้า ซึ่งจะเป็นแบบนี้แทบทุกปีในช่วงหน้าฤดูของผลไม้ชนิดนั้น ๆ

ทำให้นึกไปถึง ทฤษฎีเก่าแก่อย่าง "ทฤษฎีใยแมงมุม" หรือ Cobweb Model ที่ว่าด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีลักษณะว่า หากปีใดที่สินค้ามีราคาดี เกษตรกรก็แห่กันไปปลูก แล้วสินค้าก็ออกมามากมายล้นตลาดทำให้ปีนั้นราคาสินค้าดิ่งลง เกษตรกรก็เจ๊งและขาดทุน และเมื่อเกษตรกรลด/เลิกปลูกในปีถัดไป ผลผลิตก็ลดลง ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น ชักนำให้ผู้คนหันไปปลูกสินค้าเพิ่มกันอีก ซึ่งเมื่อวาดกราฟออกมาดูมันก็วนเวียนไปอย่างนี้คล้ายกับ "ใยแมงมุม" ซึ่งเป็นปัญหาวนเวียน ซ้ำซาก ที่เกษตรกรต้องเผชิญอยู่มาตั้งแต่อดีตและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อมิให้ถูกครอบงำโดยวงจรที่น่าอดสูภายใต้ทฤษฎีใยแมงมุม ทั้งในส่วนของภาคเอกชนเองจนรวมไปถึงจากการผลักดันจากภาครัฐ จึงได้พยายามคิดริเริ่ม และประยุกต์ใช้เครื่องมือที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถมองเห็นราคาสินค้าเกษตรที่ตนจะผลิต รวมถึงกลไกที่จะทำให้เครื่องมือดังกล่าวสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงด้านราคาของผู้ผลิตได้ (มิต้องให้ตกอยู่ภายใต้วงจรใยแมงมุม) นั่นคือ "กลไกการซื้อขายล่วงหน้าผ่านตลาดล่วงหน้า"หรือ กลไกของ futures trading

เป็นที่รู้กันดีว่า การซื้อขายล่วงหน้าในลักษณะของ Futures มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลากว่าร้อยปีแล้ว โดยแม่แบบที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแม่แบบของตลาดสินค้าล่วงหน้าต่างๆ ได้มีการพัฒนาต่อๆ กันมา คือ ตลาด Chicago Board of Trade (CBOT) ที่เมือง ชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของพ่อค้าผู้ผลิตสินค้าเกษตรแถบละแวกเมืองชิคาโก บริเวณซึ่งเมื่อผลผลิตออกมาก ราคาสินค้าเกษตรมักจะถูกกดราคาโดยผู้ซื้ออยู่เสมอ จนบางครั้งผู้ผลิตบางราย(ที่ไม่สามารถตกลงขายสินค้าได้) ถึงกับต้องนำผลผลิตตนไป Dump ลงทะเลสาบ Michigan เลยก็มี

การซื้อขายสินค้าล่วงหน้าใน CBOT เปิดให้ซื้อขายครั้งแรกในสินค้าข้าวโพด เมื่อปี ค.ศ.1852 (160 ปีที่แล้ว) และก็ได้พัฒนาต่อมาในหลากหลายสินค้า ทั้งเป็นผลิตผลทางเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวสาลี ถั่วเหลือง และ/หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จาการแปรรูปสินค้าเกษตร อาทิเช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันปาล์ม น้ำตาล ยางแผ่น และ น้ำส้ม (FCOJ)

เมื่อพิจารณาไปในกลุ่มสินค้าเกษตรที่มีการซื้อขายล่วงหน้ากันในช่วงที่ผ่านมากว่า 100 ปี สินค้าประเภทที่เป็น ผลไม้ หรือ Fruit ก็มี เพียงสินค้าน้ำส้ม หรือ Frozen Concentrated Orange Juice (FCOJ) ของ ตลาด ICE ซึ่งได้ถูกริเริ่มซื้อขายในระบบ Futures Trading เมื่อปี ค.ศ. 1966 (51 ปีที่แล้ว) และยังมีการค้าขายต่อเนื่องกันมาด้วยสภาพคล่องพอสมควรต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เหตุใดสินค้าในกลุ่มผลไม้ส่วนใหญ่จึงไม่ประสบความสำเร็จเมื่อถูกนำเข้ามาซื้อขายในลักษณะของ Futures Trading คำตอบก็มีอยู่ชัดเจนตาม Textbook ว่าสินค้าที่เหมาะสำหรับเข้ามาในระบบ Futures Trading จะต้องเป็นสินค้าที่มีมาตรฐานรวมถึงต้องบังคับใช้มาตรฐานนั้นได้ รวมถึงต้องมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีมูลค่าการซื้อขายหรือขนาดตลาดที่ใหญ่ มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงของราคา เป็นต้น

เมื่อพิจารณาแล้วผลไม้ส่วนใหญ่อาจจะมีขนาดตลาดที่เล็กเกินไป รวมถึงการบังคับใช้มาตรฐานส่วนใหญ่อาจจะทำได้ค่อนข้างยาก โดยการ List สินค้าประเภทผลไม้ครั้งล่าสุด น่าจะเป็นที่ตลาด Minneapolis Grain Exchange (MGEX) ณ มลรัฐมินิโซต้า สหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อ 5 ปีที่แล้วได้ทำการเปิดให้ซื้อขาย Futures และ Options สำหรับน้ำแอปเปิลเข้มข้น (Apple Juice Concentrate หรือ AJC)

ก็เป็นไปตามคาดว่า Apple Futures ดังกล่าวไม่สามารถดึงดูดผู้ประกอบการรวมถึงนักลงทุนทั่วไป ให้เข้ามาซื้อขายในระดับที่มากเพียงพอให้สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่เป็นที่ยอมรับได้ ทั้งนี้ อาจจะเพราะผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมิได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

จึงเป็นเรื่องที่น่าท้าทายต่อความสำเร็จอย่างมาก หากในอนาคตจะมีการนำสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผลไม้ใด เข้ามาซื้อขายในกลไกการซื้อขายล่วงหน้า หรือ Futures Trading