วัดเรทติ้ง'มัลติสกรีน' ตามหาผู้ชมทิ้งจอทีวี

วัดเรทติ้ง'มัลติสกรีน' ตามหาผู้ชมทิ้งจอทีวี

พฤติกรรมผู้บริโภคไทยใช้เวลาเสพ “สื่อดิจิทัล” ทั้งรูปแบบดูสดและดูย้อนหลัง ผ่านมือถือและแทบเล็ตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ส่งผลให้อุตสาหกรรมสื่อต้องการข้อมูลความนิยมคอนเทนท์ (เรทติ้ง) รูปแบบมัลติสกรีน เพื่อสะท้อนจำนวนผู้ชมในทุกแพลตฟอร์ม รวมทั้งตอบคำถามสำคัญว่าวันนี้ “คนไทย” ยังดูทีวีอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่ม 14-24 ปี ที่ตัวเลขลดลงและหายไปจากหน้าจอทีวีมากกว่าทุกกลุ่มในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 

จากการวิจัยของ "นีลเส็นไตรมาสแรกปี 2560 พบว่า “ทีวี” ยังเป็นสื่อหลักที่ผู้บริโภคทั่วประเทศใช้เวลาเฉลี่ยที่ 4.10 ชั่วโมงต่อวัน โดยประชากรที่ดูทีวี แบ่งสัดส่วนตามพื้นที่ ประกอบด้วยต่างจังหวัดเขตชนบท 55% ,ต่างจังหวัดเขตเมือง 27%  ส่วนพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑล 18% ​

หากเปรียบเทียบตัวเลขย้อนหลังทั้งเวลาและสัดส่วนผู้ชมดูทีวี ไตรมาสแรกปีนี้กับปี 2558 และ 2559 พบว่ามีสัดส่วนใกล้เคียงกัน หรือเรียกได้ว่าแทบไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง

แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอายุ 12-14 ปี และ 15-24 ปี มีสัดส่วน 88% นับเป็นกลุ่มที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงสุด 

การสำรวจพฤติกรรมผู้ชมทีวีผ่าน “จอทีวี” ไตรมาสแรกปีนี้ กลุ่มอายุ 4-14 ปี มีสัดส่วน 12% อายุ 15-24ปี สัดส่วน 9% และอายุ 25 ปีขึ้นไป สัดส่วน 79%

ขณะที่พฤติกรรมผู้ชมดูคอนเทนท์ทีวีผ่าน “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” ช่องทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นของสถานีทีวี ข้อมูลเดือน เม.ย.2560 พบว่า กลุ่มอายุ 13-24 ปี มีสัดส่วน 33% อายุ 25-43 ปี สัดส่วน 36% อายุ 35-44 ปี สัดส่วน 23% และอายุ 45 ปีขึ้นไป สัดส่วน 9%

ตัวเลขการสำรวจผู้ชมของนีลเส็น จึงพอจะตอบคำถามได้ว่าผู้ชมอายุ 14-24 ปี ได้เปลี่ยนพฤติกรรมดูทีวี ผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก

ปัจจุบันประชากรไทยใช้อินเทอร์เน็ตสัดส่วนราว 50% โดยในกรุงเทพฯและหัวเมืองมีอัตราการใช้งานสูงกว่าต่างจังหวัดเขตชนบท ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลส์เสพสื่อทีวีผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ทั้งรูปแบบดูสดและดูย้อนหลัง

การเปลี่ยนแปลงที่ด้านเทคโนโลยีและพฤติกรรมดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการทีวีต้องปรับตัวพัฒนาช่องทางออนไลน์ สำหรับการรับชมคอนเทนท์ทีวี ผ่านดิจิทัล แพลตฟอร์ม ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ชมในยุคนี้

เมื่อทั้งผู้ชมและผู้ประกอบการ วิ่งไปที่ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ฝั่งองค์กรวัดความนิยมรายการ ต้องมุ่งไปที่การวัดเรทติ้ง มัลติ สกรีนด้วยเช่นกัน  โดยฝั่ง นีลเส็น ประเทศไทย ผู้ให้บริการวัดเรทติ้งปัจจุบัน ประเดิมเปิดตัวบริการ Digital Content Ratings (DCR) หรือระบบการวัดเรทติ้งออนไลน์แบบมัลติสกรีนในไทยเป็นประเทศแรกของเอเชีย 

แต่เฟสแรกของนีลเส็น เป็นการเก็บข้อมูลการรับชมจากแพลตฟอร์มออนไลน์ของสถานีทีวี คือ เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น ทั้งดูสดและย้อนหลัง  ในเฟสนี้ยังไม่มีการวัดเรทติ้งช่องทางโซเชียล มีเดียทั้งเฟซบุ๊คและยูทูบ ซึ่งกำหนดให้เป็นแผนงานระยะต่อไป 

ส่วนสมาคมวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ (ประเทศไทย) หรือ MRDA ที่ได้ว่าจ้าง กันตาร์ มีเดีย จัดทำระบบวัดเรทติ้ง มัลติ สกรีน ที่จะใช้เป็นเรทติ้งของอุตสาหกรรมสื่อทีวี คาดว่าจะเริ่มรายงานผลในปลายปีนี้ และกำหนดใช้เป็นตัวเลขเรทติ้งของอุตสาหกรรมในปี 2561

เป้าหมายของการวัดเรทติ้ง มัลติ สกรีน เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมการดูรายการทีวีผ่านช่องทางต่างๆในยุคนี้ ที่ไม่ได้อยู่เฉพาะหน้าจอทีวีอีกต่อไป และเพื่อให้รู้ตัวเลขที่แท้จริงของผู้ชมคอนเทนท์ทีวีในทุกช่องทาง  

ประการสำคัญการวัดเรทติ้ง มัลติสกรีน ที่รายงานตัวเลขเป็น “มาตรวัด” เดียวกันกับเรทติ้งทีวี จะช่วยให้สถานีทีวี สามารถกำหนดราคาโฆษณาในช่องทางออนไลน์ ที่สะท้อนจากตัวเลขผู้ชมได้มากขึ้น