รู้จักสมาชิกเฟดน้องใหม่ล่าสุด

รู้จักสมาชิกเฟดน้องใหม่ล่าสุด

นายมาร์วิน กู๊ดเฟรนด์ และ นายแรนดัล แควเรส นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงิน ที่มาคนละขั้วกับนางเจนเน็ต เยลเลน และทีมงาน

 เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ให้เป็นสมาชิกคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดท่านใหม่ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากรายงานของนิวยอร์ค ไทมส์

นายกู๊ดเฟรนด์เป็นนักวิชาการที่ผมค่อนข้างคุ้นเคยผลงานของเขา ในวงการเศรษฐศาสตร์มหภาคและการเงินของโลก จะว่าไปก็ถือว่ามีคนเก่งๆอยู่เยอะ ทว่าคนเก่งในวงการนี้ก็เชื่อในรูปแบบตัวเนื้อนโยบายการเงินที่ไม่เหมือนกัน ถ้าจะแบ่งแนวคิดของการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติซับไพร์ม สามารถแบ่งได้เป็น 2 สายหลัก ได้แก่ สายของนายเบน เบอร์นันเก้และนางเยลเลนที่เชื่อในการใช้เม็ดเงินสำหรับการซื้อตราสารทางการเงิน เพื่อให้เม็ดเงินดังกล่าวออกจากสถาบันการเงินไปสู่ระบบเศรษฐกิจ และ สายของนายไมเคล วู้ดฟอร์ด และ นายมาร์วิน กู๊ดเฟรนด์ ที่เชื่อในการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบและการบริหารความคาดหวังของตลาด ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในภายหลังน้อยกว่าสายแรก

สำหรับ นายกู๊ดเฟรนด์ ผมคิดว่าน่าจะมีจะทำให้เฟดมีแนวทางการขึ้นและลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบหวือหวาขึ้น เราอาจจะเห็นค่าเงินดอลลาร์มีความผันผวนสูงขึ้น เนื่องจากเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อในระบบของกลไกตลาดแบบที่ใช้ระดับอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวปรับสมดุลของเศรษฐกิจ โดยหากเฟดเกิดความกังวลหรือฟองสบู่ในเศรษฐกิจสหรัฐ เราคงจะเห็นเฟดมีความแอคทิฟในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น นอกจากนี้ นายกู๊ดเฟรนด์เชื่อในการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยในรูปแบบกฎหรือสูตรตายตัวซึ่งผูกติดกับอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน จึงอาจเป็นไปได้ว่าจะเกิดเกาเหลาภายในสมาชิกเฟดระหว่างสายของนายแสตนลีย์ ฟิชเชอร์ รองประธานเฟด กับนายกู๊ดเฟรนด์ โดยฝ่ายแรกไม่เอากับนโยบายดอกเบี้ยแบบสูตรตายตัวดังกล่าว

ซึ่งตรงนี้ ผมคิดว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่เหลือของปีนี้ น่าจะชะลอตัวในแง่ของความเร็วลง เพราะสมาชิกเฟดท่านใหม่นี้ น่าจะประเมินเศรษฐกิจสหรัฐออกมาในลักษณะที่ไม่สดใสมากเนื่องจากเขามาจากขั้วตรงข้ามกับเฟดก๊วนเดิม ทว่าในปีหน้า ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีความชัดเจนในการฟื้นตัว ภายใต้เฟดยุค 2 ขั้วนี้ ก็น่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้ง เนื่องจากน่าจะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ผูกกับกฎหรือสูตรตายตัวมากขึ้น

โดยส่วนตัว ในมุมของวิชาการ ผมชื่นชมในไอเดียของสมาชิกเฟดท่านใหม่ที่เชื่อในกลไกตลาดว่าอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และระดับราคา เป็นตัวแปรที่จะสามารถปรับระบบเศรษฐกิจให้กลับมาสมดุลได้เป็นอย่างดี พร้อมกับตำหนิการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ของเฟด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซื้อตราสารการเงินที่มีสินเชื่อบ้านค้ำประกันว่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต รวมถึงการเสนอให้ใช้รูปแบบเงินตราในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถทำการลดมูลค่าของตัวเงินได้ ภายใต้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบของนายกู๊ดเฟรนด์ก็ถือว่ามีความกล้าในการทดลองนโยบายการเงินใหม่ๆ

อย่างไรก็ดี ในด้านมิติโลกการเงิน ผมมองว่าในโลกแห่งความจริงช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เฟดภายใต้ของนายเบอร์นันเก้และนางเยลเลน ได้พาเศรษฐกิจสหรัฐออกจากวิกฤติซับไพร์มแบบที่ถือว่าไม่ช้ำมากเท่าไหร่ ที่สำคัญ การใช้นโยบาย QE ของเฟดก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐแต่อย่างใด ผมยังมองว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่ใช้ในเศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่น ไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีเหมือน QE ของสหรัฐ อย่างที่นายกู๊ดเฟรนด์ประเมินไว้

ส่วนนายแควรัส ปัจจุบันดูแลบริษัทด้าน Private Equity ของตนเอง เขาเคยทำงานด้านการคลังสมัยรัฐบาลนายจอร์จ บุช และดูแลด้านการทดสอบภาวะวิกฤติ ในช่วงระยะเวลาสั้นๆหลังวิกฤติซับไพร์ม เขาจะมาคุมด้านนโยบายสถาบันการเงิน แทนนายแดเนียล ทารูโร ต้องบอกว่าวงการตลาดทุนสหรัฐชอบเฟดท่านใหม่นี้มากกว่า เนื่องจากเขาไม่เชื่อว่าในประเด็นที่ขนาดของแบงก์จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ หรือ Too Big to Fail เท่ากับการคุมให้ประชาชนชาวสหรัฐไม่ลงทุนในตราสารที่เป็นรูปแบบของการเก็งกำไร แน่นอนว่าหุ้นแบงก์สหรัฐก็น่าจะได้เฮจากสมาชิกเฟดท่านใหม่นี้

จะว่าไปนายทรัมป์เลือก 2 สมาชิกใหม่ได้ค่อนข้างดีระดับหนึ่ง ผมเดาว่าน่าจะมาจากไอเดียของนายแกรี คอห์น ยังเหลือเก้าอี้ว่างอีก 2 ที่สำหรับตำแหน่งสมาชิกเฟด ลองมาลุ้นกันครับ