เมื่อวิกฤติพัดหวน

เมื่อวิกฤติพัดหวน

2560 เป็นปีหนึ่งที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นปีที่ครบรอบ 2 ทศวรรษแห่งวิกฤติการณ์การเงินเอเชีย

 (หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง) ที่เริ่มจากประเทศไทย ก่อนที่จะลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนิเซีย เกาหลีใต้และรัสเซีย เป็นต้น โดยค่าเงินของประเทศเหล่านี้อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ขณะที่ทุนสำรองลดลงจนบางประเทศต้องขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อันนำมาสู่บทเรียนอันแสนเจ็บปวด

สาเหตุของวิกฤติครั้งนั้น เป็นเพราะประเทศไทยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต้องห้าม ประการพร้อมกัน หรือที่เรียกกันว่า Impossible Trinity ซึ่งประกอบด้วย 1. เงินบาทที่แข็งค่าเกินไป จากการที่ไทยใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ โดยผูกติดค่าเงินบาทกับดอลลาร์สหรัฐ (ที่ประมาณ 25 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งในช่วงนั้น ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลอื่น ๆ เช่น มาร์กเยอรมนี และเยน ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลอื่น ๆ กดดันให้การส่งออกไทยลดลง

2. ดอกเบี้ยไทยที่สูงกว่าดอกเบี้ยโลก อันเป็นผลจากเงินเฟ้อไทยในยุคนั้นอยู่ในระดับสูง ทำให้ต้องคงดอกเบี้ยไว้สูง ซึ่งทำให้เกิดการกู้เงินนอกเพื่อมาปล่อยกู้ในประเทศ ส่งผลให้หนี้ต่างประเทศสูงขึ้นมาก และ 3. การเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุน ทำให้เกิดการกู้เงินจากภายนอกเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะการเก็งกำไรในระยะสั้น เช่น ลงทุนในตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์ จนนำไปสู่ฟองสบู่และวิกฤติในที่สุด

ในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญวิกฤติในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยหากเปรียบเทียบว่าในช่วงวิกฤติปี 2540 นั้นเศรษฐกิจไทยเหมือนกับกบที่ถูกโยนลงในหม้อต้มน้ำเดือดแล้วนั้น วิกฤติในปัจจุบันเหมือนกับกบที่อยู่ในหม้อต้มน้ำที่อุณหภูมิค่อย ๆ เร่งขึ้น และทำกบไม่รู้สึกตัวว่าร้อน จนกระทั่งทนไม่ไหวและตายลงในที่สุด

สาเหตุของวิกฤติครั้งนี้เป็นเพราะเรากำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจต้องห้าม ประการเช่นกัน อันได้แก่ 

1. ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ซึมเซา โดยแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจฟากต่างประเทศ เช่น การส่งออกและการท่องเที่ยวเริ่มมีทิศทางขยายตัวได้ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศ เช่น การลงทุน การบริโภคสินค้าจำเป็น รวมถึงภาคการผลิตยังคงหดตัว แต่ที่น่ากลัวที่สุดได้แก่ เงินเฟ้อ โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐาน (ที่หักราคาอาหารและเชื้อเพลิง) นั้นตกต่ำสุดในรอบกว่า 7 ปี ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังตกสู่วังวนแห่งภาวะเงินฝืด 

2. ภาคต่างประเทศของไทยกำลังเผชิญภาวะขาดสมดุล อันเป็นผลจากเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องและบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลมากขึ้น โดยภาวะแรกเกิดจากเงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าคู่ค้าและคู่แข่ง ซึ่งบ่งชี้ว่าปริมาณเงินของประเทศเหล่านั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าไทย ค่าเงินของประเทศเหล่านั้นจึงอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาท ส่วนภาวะที่ 2 เกิดจากประเทศไทยมีเงินออมมากกว่าเงินลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจไทยซบเซา และขาดศักยภาพในการลงทุนในประเทศ เงินส่วนหนึ่งจึงไหลออกไปลงทุนต่างประเทศ อีกส่วนหนึ่งจึงหาทางลงทุนที่มีความเสี่ยงมากขึ้นในไทยเองเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for yield) เช่น การซื้อตั๋ว B/E การซื้อหุ้นขนาดเล็ก (Small Cap) รวมถึงการฝากเงินในสหกรณ์

3. ภาวะการกู้ยืม (Leverage) ที่สูง เห็นได้จากระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคและส่วนบุคคลต่าง ๆ ได้เร่งตัวขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่รายได้ของผู้กู้ปรับขึ้นตามไม่ทัน อันนำไปสู่ภาวะหนี้เสียหรือ NPL ที่สูงขึ้นโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ (Gen Y) เนื่องจากในช่วงหลังวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ปี 2551-52 นั้น นโยบายภาครัฐต่าง ๆ กระตุ้นให้เกิดการบริโภคในประเทศ เพื่อช่วยทดแทนภาคส่งออกทำให้หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น นอกจากนั้น กระแสบริโภคนิยมที่มากขึ้นก็ทำให้คนไทยมีหนี้มากขึ้นเช่นกัน

ในภาวะทั้ง 3 นี้ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงิน น่าจะมองว่าภาวะที่ มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยมากกว่า ภาวะแรก ทำให้เป็นไปได้สูงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกตรึงไว้ในระดับปัจจุบัน เพื่อควบคุมไม่ให้สินเชื่อขยายตัวขึ้นมากนัก

แต่นโยบายที่ตึงตัวเช่นนี้จะทำให้เศรษฐกิจยิ่งซึมมากขึ้น เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะตกต่ำต่อเนื่อง ขณะที่เงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งยิ่งขึ้นจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะกลับมากดดันเงินเฟ้อในช่วงถัดไป

ขณะที่เมื่อมองปัจจัยบวกที่เหลือ เช่น การส่งออกและนโยบายรัฐ ก็ไม่น่าจะช่วยเศรษฐกิจไทยได้มากนัก โดยการส่งออกที่ดีขึ้นในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นเพราะราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันที่ปรับขึ้น รวมถึงอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นวัฐจักรขาขึ้น (ซึ่งอาจเป็นปัจจัยชั่วคราว) ขณะที่การส่งออกสินค้าสำคัญที่เกี่ยวข้องกับรายได้ของประชาชนส่วนใหญ่ รวมถึงการจ้างงาน เช่นการส่งออกข้าวและยานยนต์ยังคงหดตัว

และเมื่อหันไปมองที่นโยบายการคลัง ก็ไม่สามารถช่วยได้มากเช่นกัน ทั้งจาก (1) การเบิกจ่ายงบประมาณที่ค่อนข้างล่าช้า (2) โครงการลงทุนภาครัฐในภูมิภาคส่วนใหญ่เป็นโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดเล็กที่ไม่ค่อยมีผลต่อการจ้างงาน และ (3) โครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ ต้องผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA และ HIA) ที่ค่อนข้างล่าช้า รวมถึงเผชิญแรงต่อต้านจากชุมชนทำให้ทำได้ยาก ทำให้ความหวังที่จะทำให้การลงทุนภาครัฐจะดึงดูดการลงทุนภาคเอกชน (หรือที่เรียกว่า Crowding-in) ทำได้จำกัด

เมื่อภาพเป็นเช่นนี้ ในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ เฉาจากด้านใน หากปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจของไทย 3 ประการยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งได้แก่ (1) นโยบายการเงินและการคลังที่ไม่สามารถเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจได้มากนัก (2) โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะเป็นสปริงบอร์ดเศรษฐกิจยังไม่เป็นรูปธรรม และ (3) ปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น หนี้ครัวเรือนที่สูง และสภาวะสังคมสูงวัย ยังคงกดดันศักยภาพเศรษฐกิจไทย

วิกฤติเศรษฐกิจไทยกำลังคืบคลานมาอย่างช้า ๆ อย่างที่ไม่มีผู้ใดสามารถจะแก้ไขได้

.......................................

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่