เราควรเก็บปิโตรเลียมไว้ให้ลูกหลานหรือไม่?

เราควรเก็บปิโตรเลียมไว้ให้ลูกหลานหรือไม่?

จากอดีตถึงปัจจุบันและคงไปถึงอนาคต จะมีผู้เสนอให้เก็บปิโตรเลียม (น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และผลพลอยได้)

 หรือทรัพยากรใต้ดินอื่นๆ ไว้ให้ลูกหลานใช้ในอนาคต แทนที่จะผลิตขึ้นมาใช้ โดยกล่าวว่าการทำเช่นนี้เป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรใต้ดินเหล่านี้ไว้ให้ลูกหลาน ท่านผู้อ่านคิดอย่างไรต่อข้อเสนอนี้?

หากมองอย่างผิวเผิน ก็น่าจะเป็นข้อเสนอที่ดี มีความห่วงใยลูกหลาน แต่ถ้ามองลึกๆ แล้ว อาจจะยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอีกมากมาย การที่จะเก็บสิ่งใดไว้ให้ลูกหลาน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรใต้ดินหรือทรัพย์สมบัติอื่นๆ เราคงต้องพิจารณาว่าทรัพยากรหรือสมบัติเหล่านั้น จะมีคุณค่าในอนาคตและลูกหลานสามารถใช้ประโยชน์ได้หรือไม่?

หากพิจารณาทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศไทย สิ่งที่ท่านผู้อ่านคงทราบแล้วคือ ประเทศไทยไม่ได้มีทรัพยากรปิโตรเลียมมากมายอะไร เมื่อเทียบกับประเทศส่งออกปิโตรเลียมชั้นนำ และการผลิตปิโตรเลียมของเราไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติทำได้ยากกว่าประเทศเหล่านั้น ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วย (บาร์เรลหรือลูกบาศก์ฟุต) สูงกว่าประเทศเหล่านั้น

อีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องคือ ในปัจจุบัน น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงที่เรียกได้ว่าสำคัญมาก ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเป็นดีอยู่ดีของประชากรโลก แต่ในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะมีพลังงานรูปอื่นมาแทนที่หรือไม่? เท่าที่พูดถึงกันมากในขณะนี้ ก็มี พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานจากไฮโดรเจน และพลังงานนิวเคลียร์ทั้งแบบฟิซซั่นและแบบฟิวชั่น ที่จะมาแทนน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในอนาคต ด้วยเหตุผลสำคัญคือน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคาดกันว่าหากยังคงใช้น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ (รวมทั้งถ่านหินซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากกว่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเสียอีก) ในระดับปัจจุบัน จะส่งผลคุกคามความเป็นดีอยู่ดีของประชากรโลกในอนาคต นั่นคือเรากำลังพยายามที่จะหาพลังงานที่สะอาดกว่ามาทดแทนถ่านหิน น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ เพื่อโลกจะได้น่าอยู่ยิ่งขึ้นในอนาคต (ที่จริงแล้วก๊าซธรรมชาตินั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าน้ำมันดิบและถ่านหินมาก จึงอาจอยู่นานกว่าน้ำมันดิบและถ่านหิน)

คำถามที่เกิดขึ้นในใจของหลายคนคือ การทดแทนที่ว่านี้จะใช้เวลานานเท่าใด ซึ่งเป็นคำถามที่ตอบยากมาก เพราะตัวประกอบสำคัญคือ ราคาและความสะดวกในการใช้แหล่งพลังงานเหล่านี้แทนน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน แต่ถึงแม้จะไม่มีคำตอบเรื่องเวลาในการทดแทนที่แน่นอน เราก็คาดการณ์ได้ว่าการใช้น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในรูปพลังงานจะต้องลดลง ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และเมื่อลดลงถึงระดับหนึ่งประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติด้วยค่าใช้จ่ายต่อหน่วยที่สูงกว่าราคาของพลังงานที่มาทดแทนในเวลานั้น ก็ต้องหยุดผลิต เพราะไม่คุ้มค่าที่จะผลิต ทำให้มีทรัพยากรปิโตรเลียมที่ไม่สามารถผลิตขึ้นมาได้ค้างอยู่ใต้ดิน ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการผลิตปิโตรเลียมต่อหน่วยสูงกว่าประเทศส่งออกปิโตรเลียมชั้นนำ เหตุการณ์เช่นนี้เคยเกิดกับทรัพยากรดีบุกในประเทศไทยมาแล้ว คือต้นทุนในการผลิตสูงกว่าที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้

ดังนั้นหากเราเก็บทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศไว้ โดยไม่ยอมผลิตขึ้นมาใช้ตอนนี้ ก็มีความเสี่ยงที่จะเหลือปิโตรเลียมอยู่ใต้ดินไม่สามารถผลิตขึ้นมาได้ ส่วนจะเหลืออยู่เท่าไรก็ขึ้นอยู่กับว่า มีการใช้พลังงานรูปอื่นๆ แทนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเร็วเท่าใด ถ้าเร็วมากก็จะทำให้เราเหลือปิโตรเลียมอยู่ใต้ดินมาก

คำถามก็คือ เราควรจะเสี่ยงกับการเก็บไว้แล้วไม่รู้ว่าจะผลิตขึ้นมาได้มากน้อยเท่าใด (และที่เหลือไม่ได้ใช้ประโยชน์) หรือเราควรจะทำการผลิตขึ้นมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วนำผลประโยชน์ที่ได้จากการผลิตปิโตรเลียม มาสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะทำให้เราสามารถแข่งกับคนอื่นๆ ได้ หลายท่านน่าจะมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว

จึงเห็นได้ว่า การเก็บทรัพยากรใต้ดินอะไรไว้ลูกหลานอาจจะไม่ใช่วิธีการที่ดีที่สุด ดังนั้น ควรมีการศึกษาเพื่อตัดสินใจว่า ควรเก็บไว้ให้ลูกหลานหรือไม่ หากไม่ ควรจะผลิตขึ้นมาใช้ประโยชน์เท่าใดและอย่างไร นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่า ยิ่งเราสามารถสร้างศักยภาพให้ตัวเอง ในการแข่งขันโดยใช้ประโยชน์จากการผลิตทรัพยากรใต้ดินได้เร็วเท่าใด เราก็จะสามารถขยายตัวทางเศรษฐกิจได้เร็วเท่านั้น ซึ่งจะเป็นการเสริมความสามารถในการเข่งขันของเราและของลูกหลานให้ดีขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ยั่นยืนสำหรับลูกหลานของเราในอนาคต

......................................

ดร. โยธิน ทองเป็นใหญ่

นักวิชาการอิสระ

[email protected]