“ReTuna” ห้างสรรพสินค้า “รีไซเคิล” แห่งแรกของโลก

“ReTuna” ห้างสรรพสินค้า “รีไซเคิล” แห่งแรกของโลก

ปฏิเสธไม่ได้ค่ะว่า ปัจจุบันเรากำลังมุ่งเน้นไลฟ์สไตล์แบบ “รักษ์โลก” มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการลดโลกร้อน

การลดการใช้พลังงาน การใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการรีไซเคิลเองก็เป็นส่วนหนึ่งของวิถีดังกล่าว

เช่นเดียวกับ ห้างสรรพสินค้า “ReTuna>terbruksgalleria” ที่ตั้งอยู่ในเมืองเอสกิลสตูนา (Eskilstuna)เมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งในประเทศสวีเดน ถือเป็นห้างแรกและห้างเดียวของโลกก็ว่าได้ที่จำหน่ายสินค้า “รีไซเคิล” ทั้งหมด

ห้างสรรพสินค้ารีไซเคิลแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นมาเกือบสองปีแล้ว โดยในภายในห้างล้วนเต็มไปด้วยร้านค้าต่างๆ ที่ขายของรีไซเคิล (เอากลับมาใช้ซ้ำ) อัพไซเคิล (เอากลับมาทำใหม่) และสินค้าเพื่อความยั่งยืนต่างๆ โดยชื่อของห้าง ReTuna>terbruksgalleria มาจากชื่อ Tuna หมายถึงชื่อเล่นของเมืองÅterbruk หมายถึงใช้ซ้ำ และ Galleria หมายถึงห้าง

ไม่มีใครเป็นเจ้าของห้างนี้หรือเป็นเจ้าของไอเดียโดยตรง แต่กลุ่มคนเบื้องหลังห้าง ReTuna คือทีมนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในเมืองเอสกิลสตูนา ที่ต้องการให้เมืองดังกล่าวเป็นเมืองที่จัดการขยะได้ดีที่สุด

“เราเชื่อว่าการตัดสินใจในครั้งนี้มาจากส่วนประกอบระหว่างภาครัฐและหน่วยงานท้องถิ่นที่กล้าตัดสินใจและต้องการให้เมืองของเราเป็นเมืองที่ดีที่สุดในการจัดการขยะ หรือพลิกวงการรีไซเคิลไปเลยก็ว่าได้ แอนนา เบิร์กสตอร์ม หนึ่งในผู้ก่อตั้งโปรเจคดังกล่าวในนามบริษัทEskilstuna Energi och miljöให้สัมภาษณ์แก่Progressซึ่งเป็นเวบไซต์ด้านความยั่งยืน เมื่อพวกเธอมีพร้อมด้วยแผนธุรกิจและความกระตือรือร้นที่จะทำโปรเจคดังกล่าว จึงเปิดหาร้านค้าเช่าพื้นที่และเปิดห้างอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมปี 2015 “สิ่งสำคัญสำหรับพวกเราคือผู้เช่าร้านเหล่านี้ล่วนต้องการทำธุรกิจ ต้องการทำเงิน แต่ก็ต้องการรักษาโลกใบนี้ด้วยเช่นกัน” เธอกล่าว

พวกเธอก็พยายามเปลี่ยนทัศนคติในการอุปโภคบริโภค ด้วยการรับของทั้งหมดจากบ้านเรือนโดยไม่ปฏิเสธอะไรเลย เมื่อได้รับของที่ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไรหรือใช้อะไร ก็จะรวบรวมของทั้งหมดแล้วส่งไปให้สถาบันหรือหน่วยงานอื่นที่สามารถนำไปใช้งานได้ เช่น โรงเรียนต่างๆ หรือไม่ก็ส่งไปยังสถานที่รีไซเคิลที่อยู่ออกนอกตัวเมืองไปเพียง 300 เมตร โดยเธอบอกว่าแม้แต่ “ทราย” ก็ยังเอามาขายได้ด้วยซ้ำ โดยภายในห้างจะมีโกดังซึ่งเป็นสถานที่ในการรับสิ่งของและแยกประเภท โดยทีมงานจำนวน 12 คนจะเป็นผู้ดูแลและคัดกรองสิ่งของที่ได้รับ รวมถึงประเมิน และส่งต่อไปให้แก่ผู้เช่าร้าน

ปัจจุบันกลุ่มคนที่ดำเนินการห้าง ReTuna มีพนักงานประมาณ 50 คน และมีร้านค้าภายในห้างจำนวน 9 ร้าน ซึ่งขายของใช้แล้วตั้งแต่เสื้อผ้ามือสอง จักรยาน อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ก่อสร้าง ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ และยังมีร้านอาหาร 1 ร้าน ศูนย์การศึกษา 1 แห่ง ห้องประชุม 1 ห้อง รวมถึงยังมีป๊อบอัพสโตร์อีก 3 แห่ง และมีหน้าร้านที่ลูกค้าที่เดินผ่านไปมาสามารถมองเห็นสินค้าลดราคาได้

เบิร์กสตอร์ม กล่าวว่า รายได้ที่ได้รับนั้นจะรองรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของห้างฯ รวมถึงเป็นค่าจ้างพนักงาน โดยถึงแม้ว่าจะมีช่วงเวลาที่ร้านค้าแทบไม่ได้กำไรเลย แต่ในที่สุดผลก็ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย โดยปัจจุบันมีลูกค้าแวะเวียนเข้ามาในห้างดังกล่าววันละประมาณ 600-700 คน โดยห้างเปิดทุกวันไม่มีวันหยุด

“สิ่งที่ทำให้โปรเจคนี้ได้ผล คือการที่ชาวเมืองในเอสกิลสตูนานั้นเปิดใจและยอมรับการซื้อของมือสอง โดยผู้คนในเมืองนี้และเมืองอื่นๆ ในสวีเดนมีการบริโภคอย่างไตร่ตรองและรอบคอบมากขึ้น แต่เราก็ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องเพื่อดึงดูดคนให้เข้าร่วมสร้างความยั่งยืนแบบนี้มากขึ้น” เธอกล่าว โดยโปรเจคที่คล้ายๆ กันนี้อาจไม่สำเร็จในเมืองอื่นที่ผู้คนไม่ยอมรับการซื้อของมือสองหรือการนำสินค้ามาทำใหม่ แต่เบิร์กสตอร์มและทีมก็จะพยายามนำคอนเซ็ปต์ห้างนี้ไปเผยแพร่ในเมืองอื่นๆ ในอนาคตด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันประเทศสวีเดนได้ชื่อว่าเป็นผู้นำด้านการรีไซเคิล โดยมีระบบการรีไซเคิลที่มี  ขยะเป็นศูนย์” (Zero waste)โดยปัจจุบันบ้านเรือนในสวีเดนมีการรีไซเคิลสิ่งของถึง 99%เมื่อเทียบกับ 38%ในปี 1975 จึงไม่น่าแปลกใจที่ห้าง ReTuna จะเป็นธุรกิจรักษ์โลกอีกรายที่ประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับดีทีเดียวค่ะ