เครื่องมือคาดการณ์อนาคต เทคโนโลยีกับโจทย์ประเทศไทย 4.0

เครื่องมือคาดการณ์อนาคต เทคโนโลยีกับโจทย์ประเทศไทย 4.0

แม้ทุกคนจะรู้ดีว่า อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่มนุษย์ก็ยังมีความต้องการที่จะหยั่งรู้อนาคตของตนเอง

โดยพยายามแสวงหาวิธีการและเครื่องมือต่างๆ มาช่วย โดยยอมทุ่มเททรัพยากรของตนเองตามความเชื่อและโอกาสที่จะเปิดให้

ความต้องการนี้ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงที่ระดับปัจเจกบุคคล แต่ยังขยายตัวไปถึงความต้องการที่จะพยากรณ์อนาคตในระดับ ธุรกิจ ระดับอุตสาหกรรม ระดับองค์กร ระดับประเทศ และระดับโลก อีกด้วย

จึงเป็นที่มาของการศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้น เครื่องมือพยากรณ์อนาคต ที่เป็นระบบและเชื่อถือได้ มาเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับใช้วางแผนพัฒนาธุรกิจและการพัฒนาทิศทางด้านเศรษฐกิจในระดับประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและการสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ผมได้มีโอกาสอ่าน รายงานโครงการศึกษาเทคโนโลยียุทธศาสตร์แห่งชาติด้วยเครื่องมือคาดการณ์อนาคต ที่ทำการศึกษาโดย ศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปคสานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติและสานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ เมื่อ กรกฎาคม 2559 (สืบค้นได้จาก http://www.apecforesight.org/index.php/research/49-key-tech-final-report.html)

ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยเพื่อค้นหา เทคโนโลยียุทธศาสตร์ของประเทศที่คาดว่าน่าจะมีบทบาทและความสาคัญต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทยใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสู่ ประเทศไทย 4.0 โดยการใช้เครื่องมือคาดการณ์อนาคต ที่เรียกว่า การประเมินหาเทคโนโลยียุทธศาสตร์ ที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Key Technology Foresight (TF)

เครื่องมือ TF ที่เลือกนำมาใช้ในการศึกษาวิจัยนี้ ใช้วิธีการสรรหาและคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญซึ่งสามารถประเมินผลกระทบและความพร้อมของเทคโนโลยีได้มาเป็นผู้ให้ความเห็นต่อความเหมาะสมของเทคโนโลยีในอนาคตเพื่อตอบโจทย์ประเทศไทย 4.0 โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 5 กลุ่ม (นิวเอสเคิร์ฟ) ได้แก่

กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ กลุ่มอุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และเครื่องจักรกลอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มดิจิทัล อุปกรณ์เชื่อมต่อโดยอินเทอร์เน็ต ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว และกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และการบริการมูลค่าสูง

การดำเนินการคาดการณ์อนาคตอย่างเป็นระบบ เริ่มจาก การจัดทาและรวบรวมรายชื่อเทคโนโลยีที่มีศักยภาพ จำนวนมากกว่า 400 รายชื่อเพื่อนำมาจัดทำแบบสำรวจให้ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 464 ท่าน เพื่อคัดกรองรายชื่อเทคโนโลยีให้เหลือประมาณ 20 รายชื่อที่ถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยียุทธศาสตร์ที่เหมาะสมต่อประเทศ

โดยคณะผู้วิจัยได้กำหนดแกณฑ์การให้คะแนนสำหรับแต่ละเทคโนโลยี โดยให้ความสาคัญทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ความเป็นไปได้ของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ แนวโน้มโลก (Megatrends) แนวโน้มเทคโนโลยีต่าง ๆ (Technology Trends) รวมถึงความท้าทายของประเทศในอีกสิบปีข้างหน้าและโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีในบริบทของประเทศไทย

เมื่อได้คัดกรองเทคโนโลยีจากการตอบแบบสำรวจแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการจัดให้มีกระบวนการพิจารณาร่วมกันกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐ การศึกษา และเอกชน โดยวิธีการจัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus groups) การจัดอภิปรายโดยผู้เชี่ยวชาญ(Expert panels) รวมถึงการประชุมหารือกับผู้ทรงคุณวุฒิในเทคโนโลยีแต่ละสาขา เพื่อเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปของเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศในระยะยาว

เครื่องมือคาดการณ์อนาคตสำหรับเทคโนโลยี หรือ FT ในรูปแบบนี้ นำไปสู่ข้อเสนอของเทคโนโลยีหลักที่น่าจะเป็นเทคโนโลยีในอนาคตของประเทศไทย 4.0 ได้ว่า ประกอบไปด้วย เทคโนโลยีหลักใน 4 สาขา ซึ่งได้แก่

เทคโนโลยีสาขาวัสดุศาสตร์ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสาขาชีวภาพ เทคโนโลยีสาขานาโนเทคโนโลยี และ เทคโนโลยีสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

นอกจากนี้ เครื่องมือ TF ยังนำไปสู่การคาดการณ์เทคโนโลยีในอนาคตที่จะมีความสำคัญ 5 อันดับแรกสำหรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ทั้ง 5 กลุ่ม ของนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 อีกด้วย

ซึ่งคงจะต้องนำเสนอรายละเอียดของแต่ละเทคโนโลยีในอนาคตในคอลัมน์นี้ต่อไป…..