จับกระแส แนวโน้มธุรกิจค้าปลีก

จับกระแส แนวโน้มธุรกิจค้าปลีก

ธุรกิจค้าปลีกเป็นหนึ่งในธุรกิจที่กำลังถูก Disrupted จากกระแสการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ

 หลายสำนักมักจะจัดให้ธุรกิจค้าปลีก อยู่ในสามอันดับแรกของธุรกิจ ที่จะต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ตัวอย่างที่รู้จักกันที่สุดคือการซื้อของออนไลน์ที่กำลังเฟื่องฟูไปทั่วโลก อย่างไรก็ดีนอกจากเรื่องของการซื้อของออนไลน์แล้ว ธุรกิจค้าปลีกยังต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงอีกหลายๆ ประการ

เริ่มจากพฤติกรรมและความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากในอดีต การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้เกิดจากเรื่องของคนรุ่นใหม่ (Gen Y, Z) ที่มีบทบาทมากขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากนิสัยและทัศนคติที่เปลี่ยนไปอันเนื่องจากมาความคุ้นชิน ตัวอย่างเช่น มีงานศึกษาของ IBM ที่ระบุว่าผู้บริโภคในปัจจุบันยินดีที่จะแชร์หรือแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลไม่ว่าจะเป็นอีเมล เบอร์โทรศัพท์ หรือ สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ กับธุรกิจค้าปลีกที่ตนเองไว้ใจมากขึ้น และผู้บริโภคก็พร้อมและต้องการที่จะรับข้อมูลต่างๆ ที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อตนเองเป็นการแลกเปลี่ยน อย่างไรก็ดีใช่ว่าผู้บริโภคนิยมที่จะรับข้อมูลแบบไม่มีทางเลือก แต่ผู้บริโภคต้องการที่จะเป็นผู้มีสิทธิ์ในการที่จะเลือกที่จะรับหรือไม่รับข้อมูลเหล่านี้

นอกจากนี้ผลการศึกษาของ IBM ยังระบุด้วยว่าผู้บริโภคคาดหวังว่าความสะดวกและบริการต่างๆ ที่ได้รับจากร้านค้าออนไลน์ จะปรากฎขึ้นในร้านค้าจริงๆ ด้วย เรียกได้ว่าผู้บริโภคคาดหวังในประสบการณ์ที่เหมือนกันทั้งจากโลกออนไลน์และโลกของร้านค้าจริงๆ เช่น ผู้บริโภคจะไม่มีความอดทนต่อการที่สินค้าขาด และยังมองว่าการที่ได้ทราบว่ามีสินค้าเหลืออยู่ก่อนการเดินทางไปร้านค้าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกต่าง 

ทั้งนี้เนื่องจากในการซื้อของออนไลน์นั้นโอกาสที่สินค้าหรือสต็อกจากขาดนั้นน้อยมาก ทำให้ความคาดหวังดังกล่าวถูกส่งต่อมายังการซื้อของจากร้านปกติด้วย

แนวโน้มพฤติกรรมอีกประการหนึ่งของผู้บริโภคก็คือ กระแสของความนิยมในการแสวงหา และซื้อประสบการณ์มากกว่าการสะสมของ (Materialism) นั้นคือแทนที่ผู้บริโภคจะใช้เงินในซื้อของต่างๆ ที่อาจจะไม่มีความจำเป็น ผู้บริโภคยินดีที่จะใช้เงินดังกล่าวซื้อประสบการณ์ดีๆ และแชร์ในโลกออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าการไปรับประทานอาหาร หรือ การท่องเที่ยว ประจวบกับคนรุ่นใหม่มีความแตกต่างจากในอดีตที่ไม่นิยมสะสมของต่างๆ (ทั้งจากกระแส minimalism และกระแส sharing economy) ทำให้ผู้บริโภคยินดีที่จะใช้เงินจำนวนเดียวกันไปหาอาหารอร่อยๆ รับประทานหรือท่องเที่ยวในสถานที่สวยงาม

ลองนึกดูก็ได้ว่าระหว่างการถ่ายรูปสินค้าที่ซื้อ กับ การถ่ายรูปอาหารหรือวิวจากการท่องเที่ยว รูปประเภทไหนจะได้รับการไลค์และการแชร์ในโลกออนไลน์มากกว่ากัน?

ความท้าทายของธุรกิจค้าปลีกยังไม่จบแค่นั้น ปัจจุบันได้เริ่มมีคู่แข่งใหม่ๆ (หรือบางครั้งคู่แข่งเดิม) ที่พยายามนำเสนอสินค้าเดิมๆ ด้วยรูปแบบธุรกิจ (Business model) ใหม่ๆ ที่ทำให้กฎหรือวิธีการในการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกเดิมๆ เริ่มเปลี่ยนไป เช่น ไม่นานมานี้มีข่าวว่าทาง WeChat ซึ่งเป็น messaging application ยอดนิยมอันดับหนึ่งของจีน ได้จับมือกับแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของโลกไม่ว่าจะเป็น Burberry, Longchamp, Dior, Cartier นำสินค้าบางชนิดของแบรนด์เหล่านี้มาขายผ่านทาง WeChat อย่างเป็นทางการ

หรือกรณีของ Casper ที่ขายที่นอนผ่านทางระบบออนไลน์และมีการจัดส่งที่นอนใส่กล่องไปให้ลูกค้า หรือ กรณีของ Amazon ที่เปิดร้านหนังสือขึ้นมาเป็นร้านที่ 7 ใจกลางกรุงนิวยอร์ค ซึ่งร้านหนังสือของ Amazon นั้นแตกต่างจากร้านหนังสือดั้งเดิมคือ เป็นการผสมผสานและนำเอาข้อมูลกว่า 20 ปีที่ Amazon เก็บและสะสมไว้เกี่ยวกับพฤติกรรมในการเลือกซื้อ และอ่านหนังสือของผู้บริโภคมาใช้ประโยชน์ในการจัดร้าน

การซื้อของออนไลน์ พฤติกรรมผู้บริโภค และรูปแบบ วิธีการแข่งขันใหม่ๆ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายที่ธุรกิจค้าปลีกจะต้องเผชิญ สำหรับในประเทศไทยนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะมาช้าหรือมาเร็วเท่านั้น