สังคมฆ่าหั่นศพ

สังคมฆ่าหั่นศพ

คดีฆ่าหั่นศพสาวคาราโอเกะ มีประเด็นที่น่าคิดต่อ นอกเหนือจาก “เปรี้ยว”

 ลงมือฆ่าและชำแหละศพคนเดียวหรือไม่ หรือผู้ต้องหาในคดีนี้มีกลุ่มอิทธิพลค้ายาหนุนหลังจริงหรือเปล่า

จริงๆ 2 ประเด็นนี้ก็มีความสำคัญในทางคดี โดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างผู้ต้องหากับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด แต่ดูเหมือนตำรวจจะเร่งตัดตอน ปิดประตูความเป็นไปได้ในส่วนนี้ไปเสียแล้ว จากการแถลงข่าวของ ผบ.ตร.เมื่อวาน

ประเด็นที่น่าคิดต่อ ก็คือ ปัญหาสังคม ซึ่งเลวร้ายมากขึ้นทุกที ที่น่าตกใจก็คือผู้ต้องหากลุ่มนี้ทุกคน อายุ 20 ต้นๆ เท่านั้นเอง

การเลือกใช้ชีวิตโดยหันหลังให้ห้องเรียน แต่กลับสามารถหาเงินได้คราวละมากๆ ผ่านอาชีพ “สีเทา” ดูจะกลายเป็นค่านิยมใหม่ในสังคมไทย โดยมี โซเชียลมีเดีย” เป็นตัวเร่ง เพราะสามารถอวดร่ำอวดรวย อวดความสวยความหล่อจากการศัลยกรรม อวดการใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟู่ฟ่า และสร้างภาพอย่างไรก็ได้ในแบบที่ตนต้องการ

ขณะที่การใช้ความรุนแรงแบบไร้ขีดจำกัด แบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย น่าคิดว่าผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย หรือกฎหมายมันไม่น่ากลัวกันแน่

ประเด็นนี้เองทำให้มีกระแสพูดถึง “โทษประหารชีวิต ขึ้นมาอีก แต่ก็ถือว่าสวนกระแสโลกและกระแสสิทธิมนุษยชน เพราะปัจจุบันแม้แต่การขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน หลายประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ยังใช้เกณฑ์การมีหรือไม่มีโทษประหารชีวิตในการชี้ขาด

ฉะนั้นการมีหรือไม่มีโทษประหารชีวิต อาจจะต้องถกกันยาว แต่การจัดการปัญหาระยะสั้นสำหรับประเทศไทย เป็นเรื่อง กระบวนการลดโทษ มากกว่า โดยเฉพาะในส่วนของราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นการลดโทษหลังศาลมีคำพิพากษา ซึ่งถูกมองว่าเกณฑ์การลดโทษหละหลวมเกินไป ทำให้ผู้กระทำผิดคดีอุกฉกรรจ์จำนวนมากติดคุกไม่นานก็ได้ออก หนำซ้ำจำนวนไม่น้อยยังออกมากระทำความผิดซ้ำ ซึ่งตัวเลขของกรมราชทัณฑ์เองอยู่ที่ร้อยละ 23.74

ข้อเสนอจากบางฝ่ายที่ให้เข้มงวดเรื่องอัตราโทษตามคำพิพากษาจริง จึงน่าสนใจ เช่น ศาลสั่งติดคุก 50 ปี ก็ต้อง 50 ปีจริงๆ การจะลดโทษได้ต้องมีหลักเกณฑ์ที่รัดกุม และที่สำคัญ ต้องมีช่องทางให้องค์กรศาล ในฐานะผู้ที่ทำคำพิพากษา และรู้รายละเอียดของคดีทั้งหมด ได้ร่วมพิจารณาการลดโทษด้วย