ผลิตภาพในอนาคต กับบริบทใหม่การแข่งขัน

ผลิตภาพในอนาคต กับบริบทใหม่การแข่งขัน

ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมนานาชาติ International Conference on Industry 4.0 and the Future of Productivity

ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค. 2017 ที่เมืองไทเป จัดโดย China Productivity Center (ศูนย์ผลิตภาพแห่งไต้หวัน) โดยการสนับสนุนของ Asian ProductivityOrganization (องค์การผลิตภาพแห่งเอเชีย สำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น) เนื่องด้วยเป็นหัวข้อสำคัญที่ประเทศอุตสาหกรรมในโลกนี้ต่างให้ความสนใจและเตรียมการกันอย่างเต็มที่

 

ตามที่ทราบกันว่า Industry 4.0 นั้น ก่อกำเนิดเกิดขึ้นมาจากประเทศเยอรมัน และแพร่หลายจนเป็นที่ยอมรับกันทั้งในยุโรป สหรัฐ และเอเชีย ประเทศที่ถือได้ว่ามีความก้าวหน้าอย่างมากในเอเชียคือ เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญที่มานำเสนอจึงไม่พ้นประเทศดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมันได้อธิบายให้เห็นถึงโครงสร้างและภาพรวมของการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยนิยามความหมายของ Industry 4.0 ว่า “the integration of the digital world of the internet with the conventional processes and services in the manufacturing economy with the potential to create intelligent value networks” นั่นคือกระบวนการผลิตและบริการในรูปแบบเดิมจะได้รับการยกระดับและเชื่อมโยงเข้าด้วยกันผ่านโลกอินเทอร์เน็ตที่เต็มไปด้วยเครื่องมือดิจิตัลมากมายที่บูรณาการเข้าด้วยกันเป็นโครงข่ายที่ทรงคุณค่าและมีความเป็นอัจฉริยะ 

 

การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นและเราได้รับรู้กันแล้วในปัจจุบัน อาทิ (1) การออกแบบสินค้าและบริการที่มุ่งตอบสนองลูกค้าเฉพาะกลุ่มเฉพาะรายมากขึ้น และด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิตัลที่ทันสมัยทำให้ลูกค้าสามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ (Customer co-creation) อย่างง่ายดาย (2) เครื่องจักรและระบบการผลิตที่ตายตัวและเน้นการผลิตจำนวนมาก ปรับไปสู่ระบบการผลิตที่มีความยืดหยุ่นสูง (Flexible production) ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติที่ทันสมัย ปรับเปลี่ยนและทำงานได้หลากหลาย มีขั้นตอนการทำงานที่ง่ายไม่ยุ่งยากมีไม่กี่ขั้นตอน โดยมีระยะเวลาโดยรวมสั้นมาก (ตั้งแต่ลูกค้าสั่งสินค้า ผลิต จัดส่ง จนลูกค้าได้รับสินค้า) หรือรวดเร็วอย่างมาก (3) ห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ ไปสู่การผลิตที่มีห่วงโซ่ที่สั้นและไม่แน่นอน (Supply unchained) โดยโรงงานทันสมัยขนาดเล็ก กระจายตัวอยู่ทั่วไป และเชื่อมต่อกันผ่านดิจิตัล

 

กำแพงขวางกั้นที่สำคัญสำหรับ SMEs ในการปรับเข้าสู่ Industry 4.0 มีความแตกต่างอย่างมากกับธุรกิจขนาดใหญ่ ประกอบด้วย ความไม่สมบูรณ์ของทรัพยากร การขาดความรู้ที่ทันสมัย โครงสร้างไอทีที่ไม่เพียงพอ โครงสร้างองค์กรและกระบวนการไม่พร้อม พนักงานขาดความสามารถ ระบบภายในไม่โปร่งใส ไม่มีโอกาสเลือกทางเลือกที่เหมาะสม เทคโนโลยีการผลิตที่ล้าหลัง ซึ่งเป็นงานหนักมากสำหรับรัฐบาลในการกำหนดนโยบายส่งเสริมสนับสนุน ซึ่งเยอรมันได้กำหนดแผนงานและเป้าหมายไว้จนถึงปี 2020

 

รูปแบบการบริหารโครงการเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ SMEs ไปสู่ Industry 4.0 ของเยอรมันที่น่าสนใจก็คือ การรวมกลุ่มของหน่วยงานที่มีความสามารถในด้านต่างๆ (Consortium) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยบูรณาการกันตั้งแต่ภาคการศึกษา (University) หน่วยงานเชื่อมโยงงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม (Applied research) และภาคธุรกิจ (Enterprise) แบ่งโครงการวิจัยเป็น 2 ส่วนคือ (1) ด้านระบบและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม อาทิ การผลิต การจัดส่ง หุ่นยนต์ และการบริการ (2) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ กฎหมายและระเบียบปฏิบัติ ความมั่นคงปลอดภัยในเทคโนโลยีสารสนเทศ อนาคตของคนและทักษะการทำงานที่จำเป็น และมาตรฐาน

 

กรณีศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญไต้หวัน ได้ฉายภาพให้เห็นถึงขั้นตอนกระบวนการในการเข้าไปช่วยภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่าน โดยเริ่มตั้งแต่การประเมินสถานะขององค์กรเบื้องต้น ผ่านเกณฑ์การประเมินที่แบ่งเป็น 4 กลุ่ม 48 คำถาม รวม 480 คะแนน มีฐานข้อมูลเปรียบเทียบ (Benchmark) ผลการวิเคราะห์จะนำไปสู่การฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การบริหารโครงการเพื่อยกระดับต่อไป โดยมีการประเมินผลโดยผู้เชี่ยวชาญภายนอกในขั้นตอนสุดท้าย

 

ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นจากบริษัทผู้ให้บริการซอฟท์แวร์ชื่อดัง SAP ได้นำเสนอกรณีศึกษาที่น่าสนใจและมีการดำเนินการจริงไปแล้ว ผ่านการลงทุนด้านซอฟท์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต แนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจของผู้เชี่ยวชาญคนดังกล่าวคือไม่เพียงแต่การทำให้สิ่งต่างๆมีความสามารถในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet of Thing – IoT) เพื่อส่งผ่านข้อมูลเชื่อมโยงกับภายนอกได้เท่านั้น หากแต่ต้องคำนึงถึงกระบวนการทางธุรกิจที่จะต้องยกระดับและปรับปรุงใหม่ที่เรียกว่า (Internet of Process – IoP) ซึ่ง IoP นี่เองที่ทำนำไปสู่บริบทใหม่ในการแข่งขันทางธุรกิจ (New competition) ซึ่งมีตัวอย่างหลากหลาย เช่น เครื่องปรับอากาศ ที่การแข่งขันในบริบทเดิมจะมุ่งไปที่คุณภาพสินค้าที่ดี มีความคงทน ประหยัดไฟ และมีช่างบำรุงรักษาตามระยะ แต่บริบทการแข่งขันใหม่ เน้นการสั่งซื้อง่าย สเปคให้เลือกตามลักษณะการใช้งาน เชื่อมข้อมูลการใช้งานผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้คาดการณ์การบำรุงรักษาได้ และมีโมเดลการชำระเงินที่หลากหลาย จะเห็นได้ว่าไม่ได้ให้ความสำคัญแค่ตัวสินค้าเท่านั้น หากแต่คำนึงถึงกระบวนการทางธุรกิจที่สามารถเชื่อมผ่านอินเทอร์เน็ตได้

 

จะเห็นได้ว่าประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำได้เริ่มขยับปรับตัวกันอย่างเต็มที่ โดยมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทั้งรัฐบาล ภาคการศึกษา หน่วยงานเชื่อมโยง และภาคธุรกิจที่มีความพร้อม ซึ่งมีโอกาสจะนำมาขยายความและอธิบายตัวอย่างต่างๆต่อไป