คอร์รัปชัน : บทเรียนจากกรุงโซล สู่ กรุงเทพฯ

คอร์รัปชัน : บทเรียนจากกรุงโซล สู่ กรุงเทพฯ

พื้นฐานทางสังคมเอเซีย ระบบอุปถัมภ์ยังเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้

 คอร์รัปชันจึงเข้ามาฝังตัวจนกลายเป็นเนื้อร้ายในสังคม การแก้ไขคอร์รัปชันระดับประเทศต้องอาศัยความร่วมมือ งบประมาณ การขับเคลื่อนของหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากทำให้สำเร็จผลได้ยาก

ผู้เขียนจึงหันมาให้ความสนใจกับการแก้ปัญหา ทุจริตคอร์รัปชันระดับท้องถิ่น ที่จุดประกายให้เกิดการขับเคลื่อนในระดับประเทศ ทั้งนี้ผู้นำระดับประเทศที่โด่งดังหลายคนล้วนผ่านการเป็นผู้นำในระดับท้องถิ่นทั้งสิ้น อาทิ ประธานาธิบดี โจโก วิโดโดของอินโดนีเซีย ที่เคยเป็นนายกเทศมนตรีกรุงจาการ์ตา หรือ ประธานาธิบดี ดูแตร์เต ของฟิลิปปินส์ ที่เคยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา

หากศึกษาตัวอย่างแนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศในเอเซียแล้ว เกาหลีใต้นับเป็นประเทศแถวหน้าที่ขึ้นชื่อเรื่องการคอร์รัปชันและการปราบปรามอย่างจริงจัง และหากพิจารณาการเมืองระดับท้องถิ่นแล้ว กรุงโซล เป็นหนึ่งในเมืองตัวอย่างระดับนานาชาติที่ประสบความสำเร็จต่อการปราบปรามคอร์รัปชัน ทำให้โซลได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมื่องที่มีการบริหารจัดการที่ดีอันดับที่ 11 จาก 125 ประเทศ ในปี 2559 จาก Global Cities Index

โซลเริ่มปราบปรามคอร์รัปชันอย่างจริงจังในปี 2541 หลังจากที่เกาหลีใต้เปลี่ยนระบอบการปกครอง จากเผด็จการไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2537 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบอบการปกครองระดับท้องถิ่น จากการแต่งตั้งจากฝ่ายการเมืองไปสู่การเลือกตั้งโดยประชาชนในปี 2538

โดยมีแรงจูงใจในการลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาเรื้อรัง จากโศกนาฏกรรมที่เป็นผลจากการทุจริตครั้งใหญ่สองครั้ง คือ สะพาน Seongsu ขาดจากการก่อสร้างที่ไม่มีมาตรฐาน มีผู้เสียชีวิตกว่า 30 คน และ ห้าง Sampoong ถล่มจากการต่อเติมโครงสร้างที่ผิดจากแบบ มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน และมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการออกใบอนุมัติต่อเติมที่ไม่รัดกุมกว่า 10 ราย

มาตรการที่โดดเด่นของโซลในการดำเนินการต่อต้านการคอร์รัปชัน คือ (1) การนำระบบสื่อสารออนไลน์มาใช้สำหรับติดต่อราชการเพื่อลดโอกาสการติดสินบนและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ป้องกันไม่ให้เกิดคอร์รัปชัน และ (2) การพัฒนาระบบประเมินคุณภาพของบริการสาธารณะและการสำรวจความพึงพอใจของผู้รับบริการอย่างเป็นระบบ

ในปี 2541 โซลได้พัฒนาระบบ OPEN ประชาชนสามารถยื่นคำร้องและขอใบอนุญาตแบบออนไลน์ ผู้รับบริการสามารถติดตามความคืบหน้าการดำเนินการได้ตลอดเวลา ความสำเร็จของระบบทำให้โซลในฐานะเจ้าของและผู้พัฒนาได้รับรางวัลความโปร่งใสดีเด่นจากธนาคารโลกและพันธมิตรในปี 2542 นอกจากนี้โซลยังใช้ประโยชน์จากระบบออนไลน์ในการเผยแพร่รายละเอียดผ่านทาง www.seoul.go.kr เช่น จำนวนประชากร โรงเรียน โรงพยาบาล ตลอดจนงานบริการสาธารณะอื่นๆ เช่น ตารางรถโดยสารธารณะ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมถึงผลการดำเนินงานประจำปี

ในเวลาใกล้เคียงกันโซลได้พัฒนาการสำรวจความพึงพอใจ ของผู้รับบริการสาธารณะและประเมินคุณภาพของบริการอย่างเป็นระบบ โดยใช้ดัชนีการให้บริการของกรุงโซล (Seoul Service Index) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ดัชนี คือ ดัชนีคุณภาพการให้บริการที่ประเมินโดยประชาชน และดัชนีศักยภาพการให้บริการ ซึ่งเป็นการประเมินหน่วยงานที่ให้บริการโดยผู้เชี่ยวชาญภายนอก ผลประเมินจะนำมาพัฒนาการบริการให้ตรงต่อความต้องการ นอกจากนี้โซลยังมอบเงินรางวัลแก่เขตที่ได้รับคะแนนสูงสุด เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาการให้บริการของเขต

ในกรณีของประเทศไทย คงต้องเปรียบเทียบโซลกับเมืองระดับเดียวกันอย่าง กทม. ซึ่งการจัดอันดับจาก Global Cities Index ในด้านเมืองที่มีการบริหารจัดการที่ดี กทม.ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 41 ที่ผ่านมา กทม. มีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับคอร์รัปชันอยู่หลายเรื่อง อาทิ การจัดซื้อที่ดินตาบอด การจัดซื้อรถดับเพลิง อุโมงไฟแอลซีดี เป็นต้น แต่คอร์รัปชันกลับมิใช่ปัญหาที่ผู้เข้ามาบริหาร กทม.ให้ความสำคัญเทียบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและจราจรที่มักถูกยกเป็นประเด็นหลักในการหาเสียง ทั้งนี้อาจเนื่องจากคอร์รัปชันของ กทม. ที่ผ่านมาเป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งอาจมองเป็นเรื่องไกลตัวไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน

อย่างไรก็ดี กทม. มีความพยายามพัฒนาเครื่องมือต่างๆเพื่อลดการคอร์รัปชัน อาทิ การวัดความพึงพอใจจากผลการให้บริการสาธารณะ การนำระบบออนไลน์เข้ามาใช้ในการขอใบอนุญาตก่อสร้างหรือ “ระบบใบอนุญาตยิ้ม” แต่ในทัศนะของผู้เขียน กทม. ยังใช้ศักยภาพของเครื่องมือที่มีอยู่มาใช้ในการสร้างกลไกการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไม่เต็มที่นัก กล่าวคือ แม้จะการวัดความพึงพอใจจากการให้บริการสาธารณะ แต่ กทม.กลับแต่งตั้งคณะกรรมการให้เป็นผู้ประเมินการทำงานและการให้บริการประชาชน ขณะที่ประชาชนผู้ใช้งานจริงกลับไม่ได้เป็นผู้ทำการประเมินโดยตรง ขณะที่ใบอนุญาตยิ้มกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์ของออนไลน์อย่างเต็มที่ เนื่องจากผู้ขอรับบริการยังต้องเดินทางไปยังเขต อีกทั้งระบบยังเป็นที่รู้จักในวงจำกัด

จากบทเรียนความสำเร็จของโซล สิ่งสำคัญประการแรก กทม. ควรนำระบบออนไลน์มาใช้ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน โดยการออกใบอนุญาต เผยแพร่ข้อมูลสถิติ และผลการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนสามารถรับรู้และตรวจสอบได้สะดวก

ประการที่สอง พัฒนาการประเมินคุณภาพการให้บริการสาธารณะที่น่าเชื่อถือ เช่น คุณภาพการบริการโรงพยาบาลในสังกัด คุณภาพการศึกษาโรงเรียน กทม. การร้องเรียนคุณภาพบริการ เช่น ถนน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการจัดทำ มีเพียงคุณภาพอากาศแต่กทม.ไม่ได้เป็นผู้จัดเก็บเอง ทั้งนี้ข้อมูลคุณภาพการให้บริการจะสะท้อนถึงคุณภาพการทำงาน อันจะนำมาซึ่งจุดเริ่มต้นของการสร้างความโปร่งใส และธรรมาภิบาลของหน่วยงานอย่างแท้จริง

....................

ขนิษฐา ฮงประยูร