ผลการเลือกตั้งในโลกเป็นผลพวงของความเหลื่อมล้ำ

ผลการเลือกตั้งในโลกเป็นผลพวงของความเหลื่อมล้ำ

ผลการเลือกตั้งในโลก เป็นผลพวงของความเหลื่อมล้ำ

สัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันได้มีโอกาสไปฟังศาสตราจารย์โจเซฟ สติกลิทซ์ (Joseph Stiglitz) วัย 74 ปี เจ้าของรางวัลโนเบิล สาขาเศรษฐศาสตร์ ในปี 2001 ผู้เคยดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโส และหัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ (Chief Economist) ของธนาคารโลก บรรยายให้กับศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในภูมิภาคเอเชียฟังแบบสดๆ ความจริงท่านจะมาบรรยายด้วยตัวเอง แต่เกิดติดธุระกะทันหัน จึงบรรยายแบบผ่านวิดีโอ ซึ่งแม้จะตื่นเต้นน้อยกว่าบรรยายแบบเห็นตัวจริง แต่ก็ยังได้เนื้อหาสาระเหมือนกันค่ะ

ดิฉันขอนำบางส่วนของการบรรยายของท่าน มาฝากให้ท่านผู้อ่านคิด โดยขอยกตัวอย่างประกอบเพื่อความเข้าใจ ซึ่งบางตัวอย่างท่านก็ไม่ได้บรรยายโดยตรง แต่ดิฉันขยายความและเพิ่มความเห็นส่วนตัวเข้าไปด้วยค่ะ

ท่านอาจารย์เล่าถึงเรื่องเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจสหรัฐ และภาพรวมทางเศรษฐกิจอื่นๆทั่วไปซึ่งดิฉันจะไม่ขอกล่าวในที่นี้ เพราะท่านมองคล้ายๆกับนักเศรษฐศาสตร์ท่านอื่นๆ และท่านได้แฝงความกังวลในการที่ตลาดหุ้นของสหรัฐและทั่วโลก ได้ประเมินความเสี่ยงที่จะมีจากผลของความไม่แน่นอน ซึ่งเกิดจากการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่สามารถทำตามนโยบายที่ให้ไว้ในตอนหาเสียงได้ ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

แปลเป็นภาษาง่ายๆก็คือ ตลาดหุ้นของสหรัฐในตอนนี้ไม่ได้สนใจว่าการเมืองอาจส่งผลลบต่อเศรษฐกิจได้ในอนาคต

สิ่งที่ดิฉันสนใจมากที่สุดในการบรรยายคือการที่ท่านกล่าวว่า ใน 30 ปีที่ผ่านมา ความมั่งคั่งได้กระจุกอยู่ในคนกลุ่มน้อย และคนก็กล่าวหาว่า “โลกาภิวัฒน์” คือสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ที่คน 90% ล่างของความมั่งคั่ง แทบจะไม่มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเท่าไรเลยใน 30 ปี และกลุ่มคนที่เรียนต่ำกว่าระดับปริญญาเป็นกลุ่มคนที่ถูกกระทบมากที่สุด (เพราะความมั่งคั่งลดลง ดิฉันมีข้อมูลว่ารายได้ที่แท้จริงเมื่อหักอัตราเงินเฟ้อของคนกลุ่มนี้ลดลงมาตลอด นั่นคือสาเหตุให้คนกลุ่มนี้เลือกประธานาธิบดีทรัมป์)

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในยุโรปเช่นกัน แต่บางประเทศเกิดขึ้นน้อยกว่าบางประเทศ และท่านเปรียบเทียบให้ดูว่า ประเทศรัสเซีย เป็นประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก ตามมาด้วยอินเดีย และไทย โดยใช้ข้อมูลว่าคนรวยที่สุด 1%บนสุด มีส่วนแบ่งความมั่งคั่งเท่าใดของความมั่งคั่งรวม โดยสำหรับรัสเซีย มีส่วนแบ่ง 74.5% อินเดีย 58.4% และไทย 58%

ท่านกล่าวว่า ระบบการเมืองในโลกในปัจจุบัน ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้ก่อให้เกิดผลของการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (ทั้งในสหรัฐ และในฝรั่งเศส ได้เลือกคนที่ทำให้คนกลุ่มมั่งคั่งน้อยมีความหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ว่าจะสามารถกระจายความมั่งคั่งให้ได้กว่างขึ้น)

โจทย์ใหญ่ของโลกคือ “ความเหลื่อมล้ำ” ที่เพิ่มขึ้นเพราะระบบทุนนิยม ดิฉันเคยเขียนบทความเรื่อง “ช่องว่างที่กว้างขึ้น” เมื่อสิบกว่าปีก่อน เพราะเห็นตัวเลขแล้วมีความเป็นห่วง และได้พยายามเขียนถึง บรรยายถึงปัญหา และพยายามให้มีกิจกรรมและสนับสนุนนโยบายในการกระจายรายได้ และลดความเหลื่อมล้ำ เช่น การจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม การชักชวนให้องค์กรธุรกิจใส่ใจที่จะรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้น

ศาสตราจารย์สติกลิทซ์ ได้กล่าวถึงเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำว่า ในปัจจุบันทำกันสองวิธีหลักๆ คือ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และการให้บริษัทต่างๆนำหลักธรรมาภิบาลที่ดีมาใช้ เช่น การจัดสรรรายได้ใหม่ โดยแทนที่จะจ่ายค่าจ้างให้กับกลุ่มผู้บริหารระดับสูงจำนวนมาก ก็ให้นำส่วนนั้นมาแบ่งจ่ายให้กับพนักงานระดับอื่นๆ หรือการไม่ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานแบบพาร์ทไทม์ (ทำงานไม่เต็มเวลา) เนื่องจากพนักงานพาร์ทไทม์ไม่ได้รับสวัสดิการและผลประโยชน์เท่ากับพนักงานประจำ และหลายบริษัทใช้วิธีลดค่าใช้จ่าย โดยจ้างเฉพาะพนักงานพาร์ทไทม์ เพื่อสร้างให้ผลกำไรของบริษัทสูง

การปฏิรูปการเมืองหรือปฏิรูปเศรษฐกิจของหลายประเทศที่ไม่ประสบความสำเร็จนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะไม่ได้นำเอานโยบายการเติบโตแบบก้าวไปด้วยกัน (Inclusive Growth) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปค่ะ

ดิฉันเคยเขียนถึงเรื่อง “โลกของการก้าวไปด้วยกัน” ไปแล้วในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5, 12 และ 17 พฤษภาคม 2557 ท่านลองไปค้นหาอ่านดูนะคะ

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ