'การศึกษาไทย 4.0' ในมุมมองของ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

'การศึกษาไทย 4.0' ในมุมมองของ ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้นำคณะนักลงทุนโครงการ CSI วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

ไปดูงานที่ “โรงเรียนกำเนิดวิทย์” (สอนชั้น ม.4-ม.6) และ “สถาบันวิทยสิริเมธี” (สอนปริญญาโท-เอก) ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นสถาบันการศึกษาในเครือของ ปตท. โดยมีประธานสถาบันฯ คือ ท่าน ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีต CEO ของกลุ่ม ปตท. มาบรรยายและพาชมสถานที่ด้วยตนเอง การบรรยายครั้งนี้ทำให้ผมประทับใจเป็นอย่างมาก จึงอยากนำมาเล่าให้คุณผู้อ่านได้อ่านกันดังนี้ครับ

หนึ่ง การศึกษาไทย vs. การศึกษาแบบ “ฮัมโบลเตียน”

ในปัจจุบันการศึกษาไทยมุ่งเน้นแต่การศึกษาให้เป็นผู้เชี่ยวชาญ สังเกตได้จากสมัยประถมมัธยม เราเรียนกันแทบจะทุกวิชา พอมาถึงมัธยมปลายก็ต้องแยกเป็นสายวิทย์สายศิลป์ พอเข้ามหาวิทยาลัยยิ่งเรียนก็ยิ่งแคบ ดร.ไพรินทร์มองว่า การศึกษานั้นไม่ควรจะมีการจำกัดอยู่เฉพาะสายวิชานั้นๆ แต่ควรจะเปิดกว้างไปศึกษาในสาขาอื่นๆที่สัมพันธ์กันได้ด้วย โดยโมเดลที่ท่านได้ยกมาบรรยายมีชื่อว่า ฮัมโบลเตียน โมเดล (Humboldtian Model of Higher Education)

ฮัมโบลเตียนโมเดล มองว่า การศึกษาจะต้องมีการเชื่อมโยงกันระหว่างตัวผู้ศึกษาเอง กับประชากรของโลก เพื่อสร้างมนุษย์ที่คำนึงความเป็นมนุษย์และมีโอกาสที่จะได้เรียนรู้อย่างอิสระ โดยไม่มีขอบเขตของคำว่า วิชาเอก สาขา คณะ มาเป็นเส้นกั้นขอบเขตในการเรียนรู้ เช่น อยู่คณะวิศวฯ จะไปเรียนภาษาจีนไม่ได้ เป็นต้น การศึกษาแบบฮัมโบลเตียนจะเน้นการศึกษาวิจัยเป็นหลัก โดยการทำวิจัยนั้นจะต้องเป็นอิสระจากความลำเอียงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือปัจจัยอื่นๆ

ตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ผู้ปกครองส่วนใหญ่อยากจะให้ลูกอยู่คณะวิศวฯ มากกว่าคณะวิทยาศาสตร์ ทั้งๆที่ความเป็นจริงแล้วทั้งสองคณะในหลายๆวิชาก็ไม่สามารถแบ่งได้เลยว่าควรจะให้วิชานั้นๆอยู่ในคณะไหน ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดก็คือ ให้นักศึกษาได้เรียนทุกวิชาที่เขาอยากเรียน โดยไม่มีขอบเขตของอะไรมากำหนด

สอง การศึกษาไทย vs. การศึกษาของ OECD

ดูเหมือนว่า การศึกษาไทยจะเรียนกันแบบ “ค่านิยมลากไป” สมัยก่อนถ้าเรียนเก่งต้องเรียนคณะแพทยศาสตร์เท่านั้น แต่อาชีพนี้ช่วยให้ประเทศไทยแข่งขันกับประเทศอื่นได้ไม่มากนัก กลุ่มประเทศ OECD ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมเอาประเทศชั้นนำทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของโลกไว้ ได้เคยทำการสำรวจวิจัยเพื่อค้นหาสาขาวิชาที่จะสามารถนำพาประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันระดับสูง ซึ่งประกอบไปด้วย 4 หมวดวิชาด้วยกันคือ Digital, Biotechnologies, Advanced Material และ Energy+Environment ใน 4 หมวดวิชานี้ยังแยกย่อยออกไปอีกเป็น 40 สาขาวิชา โดยเกือบจะทุกวิชา...ผมว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้จัก

การศึกษาไทยในมุมมองของผมในปัจจุบันนี้ ผมเชื่อว่า คณะแพทยศาสตร์ไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยใดของไทยยังเชื่อได้ว่ามีมาตรฐานสูงอยู่ แต่หากเป็นสายวิศวกรรมศาสตร์ บัญชี และอีกหลายสายสาขาวิชา ผมว่าการศึกษาไทยในบางสถาบันยังอยู่ในขั้นหนักหนาสาหัส ตัวอย่างเช่น จบบัญชีมาแต่ปิดงบไม่เป็น พูดภาษาบัญชีแล้ว...ไม่เข้าใจ ก็ไม่ทราบว่า องค์กรที่เกี่ยวข้องให้บัณฑิตเหล่านี้จบมาได้อย่างไร?

สาม ฤา ไทยต้องเปลี่ยน...ปรัชญาการศึกษา

ดร.ไพรินทร์ได้พูดถึง ประเทศเกาหลีใต้ ที่ให้ความสำคัญในการศึกษาเพื่อสร้างชาติให้เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี่ เรากำลังพูดถึงมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพสูง เช่น จำนวนอาจารย์ในระดับปริญญาเอกต่อนักศึกษาอยู่ที่ 1:6 เป็นต้น อีกตัวอย่างหนึ่งที่อาจารย์พูดถึงก็คือ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าของพื้นที่จำนวนมากในซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) และได้สร้างธุรกิจและทำให้เงินไหลเข้าประเทศจำนวนมหาศาล สแตนฟอร์ดนั้นมีอัตราส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาในปี 2493 อยู่ที่ 1:21ทุกวันนี้อัตราส่วนดังกล่าวมาอยู่ที่ 1:4 เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะทำให้นักศึกษาที่จบออกมาไม่เก่งได้อย่างไรกันล่ะ

ทางฝั่งพี่ไทยเรา การศึกษาจะมุ่งเน้นผลิตบุคลากรให้ตรงกับตลาดแรงงาน โดยส่วนใหญ่ไม่คำนึงถึงความสามารถที่แท้จริง ขอให้ได้รับปริญญาที่ตรงกับตลาดเป็นพอ จำนวนนักศึกษาก็ต้องมากเข้าไว้ก่อน...เพื่อจะได้มีกำไรมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า นักศึกษาปริญญาโทเอ็มบีเอในเมืองไทยจึงเกลื่อนเมือง และมีไม่น้อยที่อ่านงบการเงิน...ยังไม่เป็นเลย ถึงเวลาหรือยัง?...ที่เราจะต้องเปลี่ยนปรัชญาการศึกษาเสียที

สี่ วิสัยทัศน์ 20:50

อันที่จริงแล้ว เรื่องราวของสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์มีอีกมากมาย แต่สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดก็คือ วิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถาบันฯ ดร.ไพรินทร์ได้เล่าให้ฟังว่า ทางสถาบันวิทยสิริเมธีได้ตั้งวิชั่นสำหรับสถาบันไว้ว่า 20:50 นั่นหมายถึง ภายในระยะเวลาจากนี้อีก 20 ปีหมายถึงปี 2578 ทางสถาบันฯจะต้องติดหนึ่งใน 50 ของมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำระดับโลกให้ได้

และถ้าเหตุการณ์ข้างต้นเป็นจริง บรรดาผู้บริหารมหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทยคงยอมไม่ได้ที่ สถาบันวิทยสิริเมธีซึ่งในปีนั้นจะมีอายุเพียง 20 ปีเท่านั้นจะมามีอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกดีกว่าตนไปได้อย่างไร จึงต้องรีบผลักดันให้มหาวิทยาลัยของตัวเองพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อให้ได้อันดับที่ดีกว่าให้จงได้ ซึ่งนั่นก็จะนำพาให้ประเทศไทยให้พลอยมีการพัฒนาทรัพยากรบุคคลโดยรวมดียิ่งขึ้นไปอีกด้วย

ดังนั้น การมีวิสัยทัศน์จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ทำให้นึกถึงคำพูดของ Joel A.Baker ที่พูดไว้ว่า “Vision without action is merely a dream. Action without vision just passes the time. Vision with action can change the world.” แปลตามความได้ว่า “วิสัยทัศน์ที่ปราศจากการกระทำ...มันก็เป็นแค่ความฝัน การกระทำที่ปราศจากวิสัยทัศน์...มันก็แค่ทำให้ผ่านๆไป แต่วิสัยทัศน์ที่มาพร้อมกับการกระทำ...มันจะเปลี่ยนโลกได้”