วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ 2560

วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ 2560

คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติและรัฐบาลในปี พ.ศ. 2552 จึงได้กำหนดให้มี “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ” ขึ้นมาในวันที่ 5 มิ.ย.

 ของทุกปีโดยเชื่อมโยงกับวันที่ 5 มิ.ย. 2498 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ (รัชกาลที่ 9) ได้เสด็จทรงทอดพระเนตรการทำนาที่อำเภอบางเขน รวมทั้งได้ทรงหว่านข้าวด้วยพระองค์เองในแปลงนา วันที่ 5 มิ.ย. จึงเป็นวันแห่งการสร้างความทรงจำความสำคัญ ของข้าวและชาวนาไทยให้สืบเนื่องกันต่อมาถึงปัจจุบัน

แม้ว่าความทรงจำร่วมของสังคมไทยนี้จะเน้นคุณค่าของข้าวต่อสังคมไทยและ “เชิดชูเกียรติและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวนา” แต่ในปีนี้น่าจะมีการทบทวนความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายเพื่อที่จะสร้าง”ความหมายใหม่” ให้แก่ ข้าว ชาวนา และสังคม

หากเราทบทวนความเปลี่ยนแปลงความหมายของ “ข้าว” เราก็อาจจะหาความหมายใหม่ที่เหมาะสมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในวันนี้ กล่าวคือ ในอดีต “ ข้าว” มีความหมายถึง “ตัวตน” คนไทยเลยทีเดียว (Rice as Self) พิธีกรรมเกี่ยวกับ “ข้าว” ยืนยันคุณค่านามธรรมและความผูกพันของคนไทยกับ “ข้าว” อย่างลึกซึ้ง หากเปรียบเทียบกับสังคมญี่ปุ่นจะพบว่ามีลักษณะการนับถือ “ข้าว” คล้ายคลึงกัน

แต่ภายหลังการการขยายตัวของการปลูกข้าวเพื่อส่งออกภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ได้ทำให้ความหมายของ “ข้าว” เปลี่ยนมาสู่การเป็น “สินค้าทางการเกษตร” ประเภทหนึ่ง พร้อมไปกับความสำเร็จของการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ไม่ไวแสงซึ่งสามารถเพาะปลูกได้หลายรอบต่อปี รวมไปถึงการลงทุนในระบบชลประทานของรัฐ ได้ทำให้ “ข้าว” ถูกเปลี่ยนความหมายไป

การปลูกข้าวที่เคยมีความหมายเท่ากับ “ ตัวตน” ของชาวนา เพราะชาวนาแต่ละแห่งต้องคิดวางแผนการเพาะปลูก และคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละช่วงเวลา ก็เลือนหายไปพร้อมกับการขยายตัวของการปลูกข้างเพื่อขาย พันธ์ข้าวที่มีมากมายกว่า 5,000-6,000 พันธุ์ เหลือเพียงไม่กี่พันธุ์ที่เป็นสินค้าการเกษตรที่ตลาดต่างประเทศต้องการเท่านั้น พิธีกรรมเกี่ยวกับ “ข้าว" ก็ล้วนเสื่อมสลายตามไปด้วย

หากเปรียบเทียบกับสังคมชาวนาญี่ปุ่นจะพบความแตกต่างที่สำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ ตลาดข้าวญี่ปุ่นเป็นตลาดภายใน จึงทำให้ชาวนาญี่ปุ่นสามารถที่จะสร้าง “ตลาดเฉพาะ” (Niche Market) ซึ่งวางอยู่บนการยอมรับคุณภาพของข้าวในบางพื้นที่ที่มีมาเนิ่นนาน รวมทั้งการแปรรูปข้าวในแต่ละพื้นที่แต่ละแหล่งน้ำก็ทำให้เกิดความแตกต่างได้อย่างมากทีเดียว ที่สาคัญ ได้แก่ การทำเหล้าสาเกและเหล้าขาว (โชวจู) จึงทำให้ “ข้าว” ญี่ปุ่นยังมีความหมายถึง​ “ตัวตน” ของชาวนาญี่ปุ่นอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย

พร้อมกันนั้น การขยายตัวของการปลูกข้าวไม่ไวแสงซึ่งเป็นข้าวคุณภาพไม่สูงเท่าข้าวหอมทั้งหลาย เป็นการปลูกเพื่อขายเป็นหลักจึงเน้นที่ความถี่ของรอบการปลูก เช่น ปีหนึ่งอาจจะปลูกได้สามรอบ การปลูกข้าวที่ถี่และใช้แรงงานเข้มข้นเช่นนี้ไม่สามารถทำได้ด้วยแรงงานครอบครัวแบบเดิม ประกอบกับสมาชิกรุ่นเยาว์ก็ต้องไปเรียนหนังสือ จึงทำให้เกิดการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมมากขึ้นจนเกือบจะเป็น 100% แล้ว ความเอาใจใส่ในการปลูกข้าวอย่างจริงจังเหมือนเดิมจึงเป็นไปไม่ได้

นอกจากนั้นราคาข้าวที่ตกต่ำอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่เริ่มส่งออกและเก็บภาษีพรีเมี่ยมข้าว ได้กลายเป็นแรงผลักดันให้ชาวนาไทย ต้องทำงานนอกภาคเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงชีพให้อยู่รอดให้ได้ ยิ่งทำให้การปลูก “ข้าว”ที่ใช้ระยะสั้นและใช้แรงงานจ้างทุกขั้นตอนในการทำนา กลายเป็นเรื่องธรรมดาและเกิดขึ้นทั่วไปในสังคมชนบทไทย จนเป็นที่รับรู้ทั่วไปว่ารายได้หลักของครอบครัวเกษตรกรในชนบทนั้นมาจากการผลิตนอกภาคเกษตรกรรม

ข้าว” จึงไม่ใช่ “ตัวตน” ของชาวนา เพราะ “ชาวนา” ก็ไม่ใช่ “ชาวนา” (อย่างเดิม) อีกแล้ว

เราจะคิดอะไรได้บ้างเพื่อจะคืน “ข้าว” ให้กลับมาเป็น “ตัวตน” ของชาวนา

ความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น ได้แก่ การขยายตัวของการเพาะปลูกข้าวอินทรีย์จาก 7 หมื่นกว่าไร่ เป็น 2 แสนกว่าไร่ในปีที่ผ่านมา (ขอบคุณอาจารย์ประภาส ปิ่นตกแต่งที่ให้ข้อมูลเรื่องนี้ ) การขยายตัวของปลูกข้าวอินทรย์นี้เป็นตอบสนองตลาดภายในประเทศ และเป็นข้าวคุณภาพสูงในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ข้าวพิเศษ หรือ การปลูกแบบปลอดสารเคมี ซึ่งเป็นการขยับไปสู่การสร้าง “ตลาดเฉพาะ”  ขึ้นมาได้อย่างเข้มแข็ง

การปลูกข้าวกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นเพียงการปลูก “ข้าว” เพื่อขายแต่อย่างเดียว หากเป็นกระบวนการที่ทำให้ “ข้าว” เป็น “ตัวตน” ของผู้ปลูกและผู้บริโภคด้วย เพราะผู้ปลูกเองก็รู้สึกถึงการได้ “ฟูมฟัก” ข้าวพิเศษให้แก่ผู้บริโภค ผู้บริโภคเองก็รู้สึกถึงคุณค่าของข้าวมากกว่าซื้อข้าวทั่วไปจากตลาด

ประเด็นสำคัญ ได้แก่ เราจะขยายการปลูกข้าวพิเศษนี้ให้กว้างขวางมากขึ้นหรือไม่ และจะขยับจากตลาดในประเทศไปสู่ต่างประเทศได้หรือไม่ ดังที่จะเห็นได้ว่าการส่งออกข้าวหอมปทุมธานีเพิ่มขึ้นจาก ปี พ.ศ. 2556 มากกว่า 2 เท่า อันหมายความว่าเราสามารถที่จะทำให้ตลาดข้าวต่างประเทศของไทยมี “ส่วน” ของข้าวพันธ์พิเศษหรือการปลูกแบบพิเศษได้

ปัญหาว่า ผู้ส่งออกไทยจะแสวงหาแนวทางในการแบ่งส่วนตลาดต่างประเทศให้หลากหลายได้อย่างไร

ผมคิดว่าหากรัฐลงทุนสนับสนุน (subsidize) เป็นแรงจูงใจให้ผู้ส่งออกที่สามารถสร้างตลาดข้าวพิเศษได้กว้างขวางขึ้น ก็จะส่งผลชักนำให้ผู้ปลูกข้าวหันมาสู่การลงแรงกายแรงใจในการสร้าง “ตัวตน” ร่วมกับ “ ข้าว” ได้ชัดเจนขึ้น

การกระตุ้นให้เกิด “ตัวตน” ของ “ข้าว” และ “ชาวนา” จึงเป็นการคืนความหมายให้แก่ผู้คนร่วมสิบล้านคน ได้มีโอกาสกลับมาสร้างสรรค์สิ่งที่เขาได้ใช้ชีวิตทั้งชีวิตให้รุ่งเรืองขึ้น