ข้อตกลงร่วม เมื่อ'กปปส.' กลับเข้าพรรค

ข้อตกลงร่วม เมื่อ'กปปส.'  กลับเข้าพรรค

เห็นแกนนำ กปปส.อย่าง วิทยา แก้วภราดัย, ถาวร เสนเนียม, อิสสระ สมชัย, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์,

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, ชุมพล จุลใส และณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จูงมือกันเดินเข้าไปที่พรรคประชาธิปัตย์ วันก่อน แต่ละคนมีสีหน้ายิ้มแย้มกันแบบมิตรภาพคนประชาธิปัตย์จริงๆ 

ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวระหองระแหงอยู่พอควร ทำนองกลุ่มกปปส.อาจจะเข้ามา เทคโอเวอร์พรรค และ เปลี่ยนหัวหน้าพรรค อะไรทำนองนั้น 

แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นของแกนนำกปปส.กับซีก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็น่าจะพอคาดเดาได้ว่า จะไปในทิศทางไหนนับจากนี้ จะลงเอยจริงหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม สิ่งที่เห็นอาจเป็น หนังตัวอย่าง ก็เป็นได้

 ที่แน่ๆ การเดินเข้าพรรค หลังจากว่างเว้นกันมายาวนาน เพราะมี แกนนำกปปส.ท่านหนึ่ง ริเริ่มขึ้นมา ที่จะขอกลับเข้ามาในพรรค ภาพที่มองเห็นก็ดูชื่นมื่นดี ส่วนใครจะเชื่อใจแค่ไหนอย่างไร ก็ต้องว่ากันไป 

แต่ที่สำคัญแว่วๆ มาว่า ใครก็ตามที่เดินกลับเข้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องปฏิบัติตามกติกาของพรรคเท่านั้น หากยังนอกลู่นอกทางเสียงที่ได้ยินมาทำนอง ไม่งั้นก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ การเมืองต้องเดินแบบพรรคการเมือง จะเดินแบบภาคประชาชนไม่ได้ มีเสียงที่เล็ดลอดออกมาด้วย รับไม่ได้...เราไม่รับ” ถือว่า ชัดเจนกับแนวนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์

  ยิ่งเห็น อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ออกมาบอกทำนองกปปส.ที่กลับเข้าพรรคมองได้ 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นผลดีเพราะแต่ละคนเป็นอดีตส.ส.กลับพรรค แทนที่จะตั้งพรรคใหม่หรือแยกย้ายไปพรรคอื่น แต่ละคนมีศักยภาพสูง มีจุดยืนชัดเจน เน้นการปฏิรูปและไม่ยึดติดตัวบุคคล

อีกด้านหนึ่งมองว่า พรรคประชาธิปัตย์จะอยู่ในภาวะ “1 พรรค 2 แนวคิด” ในระยะแรกเพราะมีความต่างระดับของแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองโดยเฉพาะ 4 ประเด็นหลัก แนวทางการปฏิรูปพรรค, การปฏิรูปประเทศ, ผู้นำพรรค และประเด็นนายกรัฐมนตรีจะเป็นตัวแปรสำคัญท้าทายอนาคตพรรคประชาธิปัตย์อย่างมีนัยสำคัญ จะมีผลถึงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคปลายปีนี้...ตรงนี้เป็นเรื่องน่าคิด