จีนกับเศรษฐกิจการแชร์

จีนกับเศรษฐกิจการแชร์

เศรษฐกิจการแชร์ (sharing economy) เป็นศัพท์ที่กำลังฮอตฮิตในวงธุรกิจจีน แนวคิดนี้โด่งดังมาจากสหรัฐฯ เช่น Uber

 ที่ให้คนที่มีรถสามารถนำรถออกมาขับให้บริการได้ หรือ Airbnb ซึ่งคนที่มีห้องว่าง สามารถนำห้องออกมาปล่อยเช่ารายวันได้

แต่ที่เมืองจีนตอนนี้ เขาไม่ได้แชร์กันเฉพาะรถและห้องพักแล้วนะครับ ไอเดียธุรกิจการแชร์ล่าสุดในจีน ได้แก่ แชร์จักรยาน แชร์ลูกบาสเก็ตบอล ไปจนถึงแชร์ร่ม!!

บริษัทแชร์จักรยานของจีนอย่าง “Ofo” เพิ่งระดมทุนไปได้อีก 450 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และปัจจุบันมีมูลค่ากิจการทะลุ 1,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ไปเรียบร้อยแล้ว ขึ้นชั้นเป็น “ยูนิคอร์น” ตัวใหม่ของจีนและเอเชีย

จักรยานสำหรับแชร์เหล่านี้จะมีสีสันสดใสชัดเจน เมื่อใช้เสร็จแล้ว ผู้ใช้จะเอาไปจอดที่จุดจอดจักรยานสาธารณะที่ใดก็ได้ ผู้ใช้รายต่อไปก็มาใช้ต่อได้เลย โดยสามารถเปิด App ดูได้ว่าพื้นที่ใกล้เคียงมีจักรยานจอดอยู่ที่ไหนบ้าง พอเอามือถือสแกนบาร์โค้ดจ่ายเงิน ก็จะสามารถปลดล็อคจักรยานและใช้งานได้ทันที

ส่วนบริษัทใหม่ล่าสุดอย่าง “Zhulegeqiu” มาพร้อมกับไอเดียแชร์ลูกบาสเก็ตบอล รายนี้เพิ่งได้รับทุนสนับสนุนเริ่มต้น 1.4 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จากกองทุนในเซี่ยงไฮ้ โดยบริษัทจะติดตั้งตู้เช่าลูกบาสในสนามบาสเก็ตบอล 100,000 แห่งทั่วประเทศจีน ผู้ใช้บริการเดินทางมาสนามตัวเปล่าได้เลย เอามือถือสแกนบาร์โค้ดที่ตู้ ก็จะได้ลูกบาสมาเล่น ค่าเช่าคิดที่ 2 หยวน ต่อชั่วโมง

อีกบริษัท “Molisan” มาพร้อมกับไอเดียแชร์ร่ม เจ้าของบริษัทเล่าขำๆ ว่า วันไหนที่เขาไม่ถือร่มออกจากบ้าน วันนั้นฝนตกทุกที เขาเลยเกิดไอเดียธุรกิจแชร์ร่มขึ้นมา บริษัทจะตั้งจุดวางร่มไว้ตามสถานีรถไฟใต้ดินในเมืองกวางเจา เริ่มต้นด้วยร่ม 500,000 คัน ตั้งเป้าให้มีจุดวางร่มให้เช่าและคืนร่มทุก 100 เมตรทั่วเมือง โดยผู้ใช้ต้องเอามือถือมาสแกนบาร์โค้ดจ่ายเงินก่อน จึงจะปลดล็อคร่มได้ ส่วนค่าเช่าคิดที่ 1 หยวนต่อชั่วโมง

งานวิจัยของรัฐบาลจีนพบว่า ตลาดธุรกิจการแชร์สินค้าในจีนมีขนาดใหญ่ถึง 50,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 103% จากในปี ค.ศ. 2005 และคาดการณ์ว่าจะโตเพิ่มขึ้นอีก 40% ในปีนี้ พอถึงปี ค.ศ. 2020 เศรษฐกิจการแชร์จะคิดเป็นสัดส่วน 10% ของ GDP จีนเลยทีเดียวครับ

ทำไมเศรษฐกิจการแชร์จึงมาแรงนักในเมืองจีนผมคิดว่ามีเหตุผล 5 ข้อครับ

หนึ่ง คนหนุ่มสาวในจีนเริ่มให้ความสำคัญกับ “ประสบการณ์” มากกว่า “การสะสมสิ่งของ” เช่น คนรุ่นใหม่จะไม่ซื้อรถ แต่จะเอาเงินไปใช้จ่ายกับการท่องเที่ยวแทน หรือเอาเงินก้อนมาลงทุนสตาร์ทธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง ดังนั้น การแชร์รถ บ้าน และสิ่งของอื่นๆ อาจดีกว่าการเอาเงินไปทุ่มซื้อสิ่งของเหล่านั้น

สอง เศรษฐกิจการแชร์ เข้ากับเทรนด์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ในจีน เช่น การรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย (แชร์จักรยาน แชร์ลูกบาสเก็ตบอล) การรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การไม่สะสมทรัพย์สินและใช้ชีวิตสไตล์มินิมอล

สาม คนหนุ่มสาวของจีนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยเงินก้อนมากขึ้น เพราะค่าใช้จ่ายอื่นในจีนสูงขึ้นมาก เช่น ค่าบ้าน (ราคาอสังหาริมทรัพย์ในจีนพุ่งสูงไม่หยุด) ค่าใช้จ่ายที่ต้องเลี้ยงดูผู้สูงอายุ (จีนกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ แถมด้วยนโยบายลูกคนเดียวในอดีต ทำให้คนจีนไม่มีพี่น้องมาช่วยแชร์ค่าใช้จ่าย) ดังนั้น ถ้าไม่ต้องซื้อรถ บ้าน และสามารถแชร์สิ่งของต่างๆ ด้วยราคาถูก ก็น่าจะดี

สี่ คนจีนกังวลเรื่องความปลอดภัยของสินค้า และเริ่มต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นจึงมีความต้องการแชร์สินค้าที่มีคุณภาพในราคาถูก แทนที่จะต้องเสียเงินทั้งก้อนเพื่อซื้อสินค้าเหล่านั้น หรืออีกทางหนึ่ง คนจีนอาจเลือกประหยัดกับค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น การซื้อรถหรือบ้าน เพื่อจะได้เก็บเงินไว้ซื้อสินค้าอย่างอื่นในคุณภาพที่สูงขึ้น

ห้า ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่ผู้คนนิยมจ่ายเงินด้วยการสแกนบาร์โค้ดผ่านมือถือ ไม่มีใครใช้เงินสดกันแล้ว คนจีนโดยทั่วไปมีบัญชีธนาคารผูกกับ Alipay หรือ Wechat Pay เพียงแค่สแกนบาร์โค้ดก็สามารถชำระเงินค่าสินค้าได้เลย ไม่ว่าสินค้านั้นจะราคาเพียงไม่กี่หยวนก็ตาม

การจ่ายเงินด้วยมือถือ ทำให้ธุรกิจการแชร์สิ่งของต่างๆ เป็นไปได้ เช่น คนที่จะแชร์จักรยาน ก็แค่เอามือถือสแกนเพื่อปลดล็อคจักรยาน ขณะเดียวกันก็สามารถใช้มือถือดูได้ด้วยว่าในบริเวณใกล้เคียงมีจักรยานจอดอยู่ที่ไหนบ้าง ส่วนบริษัทเองก็สามารถตามตัวบุคคลได้เวลาจักรยานหาย เพราะรู้ว่าใครเป็นคนเช่า เนื่องจากทุกอย่างชำระเงินผ่านบัญชีออนไลน์ทั้งหมด

นักลงทุนจีนรายใหญ่บางรายถึงกับโปรโมทว่า เศรษฐกิจการแชร์ของจีน เป็นการฟื้นคืนค่านิยมคอมมิวนิสต์กลับมาอีกครั้ง (เอากับเขาสิ!) เพราะพื้นฐานคอมมิวนิสต์ก็คือการแชร์สิ่งของร่วมกันในคอมมูน (ชุมชน) นั่นเอง

แต่นักวิจารณ์กลับเห็นว่า เศรษฐกิจการแชร์ของจีนนี่ให้ประโยชน์แต่กับนายทุนชัดๆ ต่างจากเศรษฐกิจการแชร์ของฝรั่งเช่น Uber หรือ Airbnb ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าร่วมหาเงินด้วยได้ เช่น เอารถออกไปขับหาเงิน หรือเอาห้องพักที่มีอยู่ปล่อยเช่าได้ แต่เศรษฐกิจการแชร์ของจีนเหมือนการปล่อย “เช่า” มากกว่าการ “แชร์” เจ้าของธุรกิจเป็นนายทุนรายใหญ่ ส่วนคนจีนทั่วไปไม่มีโอกาสเข้าร่วมหาเงินจากธุรกิจเหล่านี้ได้เลย

นอกจากนั้น ยังมีเสียงวิจารณ์ว่าโมเดลธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ไม่ชัดเจน หลายรายไม่มีโอกาสทำกำไรได้จริง ส่วนใหญ่เป็นการเร่งระดมทุนและขยายกิจการ เพื่อยึดส่วนแบ่งในตลาดให้มากที่สุด โดยยังไม่สนใจว่าในระยะยาวจะทำกำไรได้จริงอย่างไร (ค่าเช่าจักรยานชั่วโมงละไม่กี่หยวน กี่ชาติจะคืนทุน?) แถมตอนนี้การระดมทุนในจีนก็ง่ายเหลือเกิน แค่มีไอเดียแปลกใหม่ ก็มักมีนักลงทุนให้ความสนใจมากมาย ไอเดียบางอันดูเหมือนมีดีมานด์จริงและอาจไปได้สวย แต่ไอเดียบางอันก็เหมือนเล่นตลก

แต่ก็มีวงในบางคน แอบเฉลยว่า สิ่งที่นักลงทุนสนใจในระยะยาวอาจเป็น Big Data มากกว่า ซึ่งจะมีมูลค่ามหาศาล เช่น บริษัทเหล่านี้จะเก็บข้อมูลได้ว่าผู้ใช้บริการคนใดคืนของตรงเวลา หรือใครขโมยหรือทำของชำรุด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเครดิตผู้บริโภคที่ดีมาก บริษัทอาจขายข้อมูลเหล่านี้ให้กับสถาบันการเงิน หรือบริษัทที่ต้องการข้อมูลเครดิตเหล่านี้ได้ นี่ยังไม่นับข้อมูลการตลาดอื่นๆ เช่น ผู้บริโภคเมืองไหนชอบใช้สินค้าแบบใด ชนิดใด มากน้อยเพียงใด ซึ่งจะเป็นเป็นประโยชน์กับบริษัทที่ผลิตและขายสินค้าต่างๆ ด้วย

ถ้าเราเชื่อเรื่องการแข่งขันและลองผิดลองถูกของสตาร์ทอัพ สุดท้ายในบรรดาไอเดียแปลกใหม่เหล่านี้ ก็อาจค่อยๆ พัฒนาและปรับปรุงจนเกิดโมเดลธุรกิจใหม่ที่ทำกำไรได้จริงขึ้นมา ตอนนี้ในจีนเริ่มมีการพูดถึงธุรกิจแชร์เครื่อง 3 D Printing โดยให้โรงงานหลายๆ โรงใช้ร่วมกัน ส่วนบริษัทแชร์รถจักรยานของจีน ก็ได้ขยายตลาดไปที่ลอนดอนและสิงคโปร์แล้ว รวมทั้งเริ่มมีคนพูดถึงไอเดียการแชร์ร่มในสหรัฐฯ

บางที ไอเดียธุรกิจการแชร์รายใหม่ที่จะครองโลก อาจจะมาจากจีน ซึ่งตลาดสตาร์ทอัพกำลังคึกคักและ

แข่งขันกันดุเดือด จนเป็นแหล่งทดลองและกำเนิดไอเดียธุรกิจใหม่ที่ไม่มีใครเคย (บ้า) คิดมาก่อนก็ได้