เปลี่ยน ‘ดาต้า’ เป็นเครื่องมือ ขับเคลื่อนองค์กร

เปลี่ยน ‘ดาต้า’ เป็นเครื่องมือ ขับเคลื่อนองค์กร

ดาต้าถือเป็นปัจจัยการผลิตใหม่ที่องค์กรต่างๆ ควรแสวงหาวิธีเพื่อใช้ประโยชน์

ในยุคที่มีดาต้าใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทุกวินาที หรือยุคบิ๊กดาต้านี้ ดาต้าถือเป็นปัจจัยการผลิตใหม่ที่องค์กรต่างๆ ควรแสวงหาวิธีเพื่อใช้ประโยชน์ ไอดีซี ทำนายไว้ว่าภายในปี 2563 องค์กรที่สามารถนำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสร้างมูลค่าผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นอีกกว่า 65 ล้านดอลลาร์

ดาต้าจำนวนมหาศาลเหล่านี้กำลัง “disrupt” ไลฟ์สไตล์ของผู้คนในสังคม ไม่เร็วก็ช้า เราทุกคน ทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ หรือ เทค สตาร์ทอัพ จะต้องถูกกลืนเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศของ บิ๊กดาต้า อย่างแน่นอน

ประเทศไทยในยุค ไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มีการนำ บิ๊กดาต้า มาใช้งานกันบ้างแล้ว อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ผ่านทางคอมมูนิตี้ต่างๆ และการอบรมสัมมนามากมาย

ทว่าบ่อยครั้งที่มักพบว่า องค์กรคาดหวังจะได้โซลูชั่นหรือเครื่องมือที่ตอบโจทย์ทุกปัญหา ถึงแม้การใช้งานโซลูชั่นหรือเครื่องมือสำเร็จรูปเหล่านั้น จะดูง่ายในขั้นต้นก็ตาม แต่อาจกลายเป็นกับดักที่ขวางไม่ให้องค์กรประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเช่นกัน ดังนั้น แนวทางที่ไอดีซีแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการเตรียมตัวขับเคลื่อนองค์กร ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ให้ได้รับคุณค่าสูงสุดจากบิ๊กดาต้ามีดังต่อไปนี้

1.คัดเลือกดาต้าที่จะก่อให้เกิดคุณค่ากับองค์กร คือ สิ่งแรกที่องค์กรควรคำนึงถึง โดยอาจเริ่มจากดาต้าที่มีอยู่แล้วภายในองค์กร แต่ยังไม่เคยนำมารวบรวม เพื่อวิเคราะห์หรือใช้งานใดๆ เช่น ฟีดแบ็กจากลูกค้าที่เก็บบันทึกไว้ในระบบคอลล์เซ็นเตอร์ และขยายไปยังดาต้าจากภายนอก เช่น จากโซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นต้น

2.วิเคราะห์คุณค่าที่ดาต้าเหล่านั้นมีต่อธุรกิจ พิจารณาว่าดาต้าดังกล่าว จะทำให้องค์กรเข้าใจลูกค้า ทิศทางตลาด คู่แข่ง และเรื่องอื่นๆ เพื่อนำมาปรับปรุง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้อย่างไร อีกทั้งจะสามารถวัดผลได้โดยวิธีใด ซึ่งในขั้นตอนนี้ ทั้งทีมงานฝั่งธุรกิจและฝั่งเทคนิคควรทำการวิเคราะห์ร่วมกัน

3.เลือกเทคโนโลยีและเครื่องมือที่เหมาะสม เพื่อบริหารจัดการและวิเคราะห์ดาต้าต่างๆ ในเชิงลึก พิจารณาเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ ลักษณะการใช้งาน ปริมาณและชนิดของดาต้า โดยองค์กรควรนำข้อดีและข้อเสียของเทคโนโลยีประเภทต่างๆ มาเปรียบเทียบประกอบการตัดสินใจ ทั้งนี้ เทคโนโลยีแบบดั้งเดิม เช่น Relational Database หรือแม้แต่ ไมโครซอฟท์ เอ็กเซล ที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด(ณ เวลานั้น) ก็เป็นได้ นอกจากนี้ ยังมีตัวเลือกที่ให้บริการบนระบบคลาวด์ ซึ่งค่อนข้างยืดหยุ่นและเหมาะสำหรับเอสเอ็มอี หรือองค์กรเกิดใหม่

4.ตั้งทีมงาน ที่มีทักษะที่จำเป็นและเหมาะสมมาดำเนินงาน ได้แก่ ทีมงานฝ่ายไอที ฝ่ายธุรกิจ นักวิเคราะห์ธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ดาต้า รวมถึงทีมงาน และ/หรือที่ปรึกษาจากภายนอก ที่จะมาช่วยเติมเต็มในส่วนที่องค์กรยังขาดหรือยังไม่พร้อม

5.ปรับความเข้าใจและความคาดหวังให้ตรงกันทุกฝ่าย เนื่องจากโดยปกติแล้วแต่ละหน่วยงานจะมีวาระและตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน ดังนั้น หากสามารถทำความเข้าใจในวัตถุประสงค์และผลลัพธ์ที่คาดหวัง ว่าจะก่อให้เกิดผลดีกับองค์กรในภาพรวม และหน่วยงานต่างๆ อย่างไรแล้ว ก็จะสนับสนุนความให้โครงการเดินหน้าได้ตามเป้าหมายบนเงื่อนไขระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่ชัดเจน

6.ทำการทบทวนกลยุทธ์อยู่เป็นประจำ เพราะเทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และพฤติกรรมของตลาดก็เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สิ่งที่เหมาะสมแล้วในวันนี้ เมื่อเวลาผ่านไปอาจต้องปรับเปลี่ยนบ้าง เพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมือใหม่หรือผู้มีประสบการณ์แล้วก็ตาม แนวทางปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนองค์กรด้วยบิ๊กดาต้าดังกล่าวข้างต้น คือ พื้นฐานสำคัญที่องค์กรควรรำลึกไว้เสมอ