ดัชนี 1,600 แค่เอื้อม แต่ยังไปไม่ถึง

ดัชนี 1,600 แค่เอื้อม แต่ยังไปไม่ถึง

ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในเดือนพ.ค.2560 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 0.12%

 และถ้าหากพิจารณารอบ 5 เดือน ดัชนีล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1,568.17 จุด ปรับตัวขึ้นเพียง 1.64% ซึ่งจะเห็นว่า ดัชนีไม่ขยับไปไหนน่าจะเป็นเพราะขาดปัจจัยใหม่ๆเข้ามากระตุ้น

ขณะที่สัดส่วนการซื้อขายต่างชาติ ณ วันที่ 29 พ.ค. มียอดซื้อสุทธิเพียง 754 ล้านบาท เป็นยอดซื้อสุทธิต่ำสุด ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาโดยรวม 5 เดือนมียอดซื้อสุทธิอยู่ที่ 8.8 พันล้านบาท

แนวโน้มตลาดหุ้นไทยเดือนมิ.ย.2560 เท่าที่เห็นโบรกเกอร์ส่วนใหญ่ ยังคงคาดการณ์ว่า ดัชนีจะยังไม่ไปไหน และหากดูสถิติรอบ 10 ปีย้อนหลังไป ดัชนีหุ้นไทยในเดือนมิ.ย.ของทุกปี แม้จะปิดบวกได้แต่ก็ให้ผลตอบแทนระดับ 1-6% จากเดือนก่อน ดังนั้น โอกาสที่จะได้เห็นดัชนี 1600 จุด ยังคงไม่ใช่เรื่องง่ายเร็วๆ นี้

บล.เคทีซีมิโก้ ระบุว่า แนวโน้มดัชนีหุ้นไทย เดือน มิ.ย. ยังคง sideway down แนวรับ 1,550 และ 1,535 จุด คาดตลาดยังได้แรงกดดันจาก การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดมากขึ้นของเฟด (นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย.)

ความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองสหรัฐ (ประเด็นความเชื่อมโยงของทรัมป์กับรัสเซีย) และจับตาการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ (8 มิ.ย. แต่คาดไม่มีนัยต่อตลาดหุ้นไทยมากนัก) ขณะที่ MSCI จะประกาศผลการ พิจารณาหุ้น A-share ของจีนเข้าคำนวณดัชนีในวันที่ 20 มิ.ย. (คาดผลกระทบด้านลบจำกัดหากให้เข้าคำนวณ) และValuation ของตลาดหุ้นไทย ที่ถือว่ายังสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว (ปัจจุบัน 15.3 เท่า เทียบเฉลี่ยระยะยาว ราว 13.9 เท่า) และไม่ต่างกับค่าเฉลี่ยตลาดหุ้น EM

ด้านปัจจัยบวก ยังมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแรงหนุนให้การส่งออกไทยกลับมาขยายตัวดี และอาจมีแรงหนุนระยะสั้นจากการทำราคาปิดสิ้นไตรมาส (window dressing) ซึ่งจากสถิติย้อนหลัง 10 ปี มีโอกาส 80% ที่ดัชนีจะให้ผลตอบแทนบวกเฉลี่ย 1.4% ใน1 สัปดาห์สุดท้ายของไตรมาส 2

สถิติเดือน มิ.ย. ย้อนหลัง 10 ปี (ปี 2550 -2559) มีโอกาส 70% ที่ดัชนีฯ ปิดบวก ด้วยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.0% จากเดือนก่อน มากสุดเพิ่มขึ้น 6.6% (ปี 2552) ต่ำสุด 7.8% (ปี2551) ขณะที่เดือน. ก.ค. ปรับขึ้นต่อเนื่อง 2.2% เทียบจากเดือนก่อน แต่กลับมาปรับลงในเดือนส.ค. -0.4% จากเดือนก่อน ส่วนสถิติ 10 ปีย้อนหลังเดือน มิ.ย. ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี Dow Jones และ S&P500 ให้อัตราผลตอบแทนลดลง1.5% จากเดือนก่อน และอัตรผลตอบแทนใกล้เคียงกันกับดัชนีหุ้นไทย

นอกจากนี้กระแสเงินทุนไหลเข้าจากสถิติเดือน มิ.ย. ย้อนหลัง 10 ปี (ปี 2550 -2559) พบว่าต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิเฉลี่ย 6.9 พันล้านบาท ก่อนกลับมาซื้อสุทธิเดือน ก.ค. 8.1 พันล้านบาท และกลับมาขายสุทธิ อีกรอบในเดือน ส.ค. 1.2 หมื่นล้านบาท

ด้านบล.ทิสโก้  ประเมินว่าปัจจัยแวดล้อมตอนนี้ ยังไม่ดึงดูดกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลเข้า ดังนั้นแนวโน้มหุ้นไทยยังแกว่งซิกแซกลง ซึ่งยังไม่เห็นปัจจัยที่จะดึงดูดให้กระแสเงินทุนต่างประเทศ ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในระยะสั้น ประเมินช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า ดัชนีหุ้นไทยไม่เกินระดับ 1,600 จุด หรือ upside เพียง 3% หรือยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนไหวแย่กว่าตลาดหุ้นต่างประเทศ และตลาดหุ้นภูมิภาคต่อไป