รัฐเพิ่มความเข้มงวดกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรง (2)

รัฐเพิ่มความเข้มงวดกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรง (2)

จากที่ผู้เขียนได้นำเสนอเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ .....) พ.ศ. ....... ไปเมื่อคราวก่อน

 ปรากฏว่าในวันเดียวกันนั้นเองได้มีการประกาศ “พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) .. 2560” ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (กล่าวคือนับตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2560 ซึ่งจะพ้นกำหนด 120 วันในวันที่ 14 กันยายน 2560) ซึ่งเนื้อหาของกฎหมายใหม่ฉบับนี้ยังคงเป็นเช่นเดียวกับที่นำเสนอไปแล้วโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง สัปดาห์นี้เรามาศึกษากันต่อว่า กฎหมายใหม่ฉบับนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรงฉบับเดิมอย่างไรบ้าง และการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและภาคประชาชนอย่างไร

กฎหมายใหม่ได้เพิ่มมาตรการที่เข้มงวดกับผู้ประกอบธุรกิจและเพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้บริโภคโดยกำหนดให้ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือบุคคลใดที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจขายตรงหรือประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง จะต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียน (เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงประกาศกำหนด (ตามมาตรา 38) และยังได้วางหลักเกณฑ์เพิ่มเติมว่า ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงต้องไม่เคยถูกเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงในระยะเวลาห้าปีก่อนวันยื่นคำขอจดทะเบียนด้วย 

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ผู้เขียนมีความเห็นว่าในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีผู้ที่ดำเนินธุรกิจที่มีลักษณะเป็นการขายตรงหรือตลาดแบบตรงที่เข้าข่ายเป็นการหลอกลวงประชาชนจำนวนมาก บ่อยครั้งมีการเปลี่ยนชื่อและนามสกุลบุคคลที่เป็นตัวการ อีกทั้งมีการตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่เพื่อประกอบธุรกิจ ดังนั้น เพื่อให้กฎหมายบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงควรมีการตรวจสอบตัวบุคคลและผู้ที่อยู่เบื้องหลังการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทที่มายื่นคำขอจดทะเบียนด้วยว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่และบุคคลนั้นเคยถูกเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงในระยะเวลาห้าปีก่อนวันยื่นคำขอจดทะเบียนหรือไม่

ประเด็นนี้กฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรงได้บัญญัติไว้มาตั้งแต่เดิมแล้วว่า นายทะเบียนมีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้คำชี้แจง หรือให้ส่งเอกสารและหลักฐานที่จำเป็นมาเพื่อประกอบการพิจารณาหรือตรวจสอบได้ (มาตรา 40) ดังนั้น จึงอยู่ที่ว่านายทะเบียนและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (มาตรา 18) จะใช้อำนาจหน้าที่อย่างแข็งขันมากเพียงใด หากมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดให้เป็นไปตามตัวบทและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงก็จะตระหนักว่าจะต้องใช้ความระมัดระวังในการประกอบธุรกิจมากขึ้นเพราะการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงจะไม่ใช่เรื่องที่จะคิดจะทำกันอย่างง่าย ๆ โดยการอำพรางตนได้อีกต่อไป

อีกข้อหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงก็คือ คุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจ โดยกฎหมายได้เพิ่มข้อกำหนดว่า ผู้ที่ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรง จะต้องเป็นห้างหุ้นส่วนที่มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท หรือเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนและชำระแล้วไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท น่าสังเกตว่าข้อกำหนดเกี่ยวกับทุนจดทะเบียนขั้นต่ำนี้ใช้กับกรณีธุรกิจขายตรงเท่านั้น (มาตรา 38/1) ไม่มีการระบุให้ธุรกิจตลาดแบบตรงต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ

กฎหมายใหม่ยังกำหนดว่าผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงจะต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงอยู่แล้ว (กล่าวคือกฎหมายกำหนดให้แต่ละคนดำเนินธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงได้เพียงบริษัทเดียว) และจะต้องไม่เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เคยถูกเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงในระยะเวลาห้าปีก่อนวันยื่นคำขอจดทะเบียนด้วย 

นอกจากนี้ ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงจะต้องวางหลักประกันต่อนายทะเบียนเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ด้วย สัปดาห์นี้เราศึกษากันเพียงเท่านี้ก่อน พบกันใหม่คราวหน้าค่ะ